Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียนประจำวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567

กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเหนือ เร่งเสริมความสูงแนวคันกั้นน้ำ

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบจากปริมาณน้ำเหนือที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ ว่า ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุช่วงปลายเดือน ส.ค. ถึงต้นเดือน ก.ย. นี้ คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักหลายพื้นที่นั้น กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำและประชุมติดตามสถานการณ์ร่วมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคาดการณ์ระดับน้ำคาดหมายที่จะขึ้นจริงล่วงหน้า 1-2 วันจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง จัดเตรียมกระสอบทรายพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงให้เกิดความปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำและบริเวณที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร หรือแนวฟันหลอ รวมถึงพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวริมแม่น้ำ อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งตามบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ทุกจุดให้พร้อมใช้งานได้ทันที พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการให้สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาปฏิบัติการลดระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำและเร่งสูบระบายหากเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ ตรวจสอบความพร้อมประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความพร้อมใช้งานทุกจุด นอกจากนั้น ได้แจ้งสำนักงานเขตที่มีชุมชนอาศัยอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมให้เตรียมความพร้อมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ทำสะพานทางเดินเข้าออกชั่วคราวภายในชุมชน การแจกจ่ายยาเวชภัณฑ์และการช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางคอเเหลม เขตยานนาวา เขตบางกอกน้อย และเขตคลองสาน

สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมจากจุดที่มีปัญหารั่วซึม จำนวน 120 แห่ง ได้ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมโดยแก้ไขถาวรได้ทันในฤดูน้ำหลากในปีนี้ ปัจจุบันแล้วเสร็จ 60 แห่ง ส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จจะใช้การเรียงกระสอบทรายทั้งบริเวณแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองมหาสวัสดิ์ และริมคลองบางกอกน้อย จำนวน 115 จุด แบ่งเป็น ฝั่งพระนคร ความยาว 2,300 เมตร ฝั่งธนบุรี ความยาว 2,400 เมตร รวมความยาว 4,700 เมตร ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคาดว่า จะใช้กระสอบทราย 275,000 ใบ และจะแล้วเสร็จประมาณภายในเดือน ก.ย. นี้
ส่วนการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รายงานข้อมูลสถานการณ์ของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยใช้ AI พยากรณ์คาดการณ์ฝนล่วงหน้า 3 ชั่วโมง ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างรวดเร็วและทันท่วงที รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ทางเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

กทม. เร่งแก้ปัญหาผู้ค้า-คนไร้บ้านหน้าสวนเบญจกิติ ติด CCTV เพิ่ม-ให้ รปภ. ตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ปัญหาผู้ค้าและคนไร้บ้านหน้าสวนเบญจกิติว่า สำนักงานเขตคลองเตยได้นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ร่วมลงพื้นที่จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ตั้งวางบริเวณข้างพุ่มไม้ ซึ่งขณะตรวจสอบไม่พบคนไร้บ้าน แต่พบวัสดุอุปกรณ์ของผู้ค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ผู้ดูแลสวนเบญจกิติ ให้พิจารณาจัดหาร้านค้าภายในสวนเบญจกิติ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ ซึ่งมีจำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ของผู้ค้า หรือเป็นที่พักอาศัยของคนไร้บ้าน

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล. ได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตคลองเตยและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบผู้ที่ไม่มีที่พักพิงเป็นหลักแหล่งที่มาอาศัยหลับนอนบริเวณหน้าสวนเบญจกิติ นอกจากนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสวนเบญจกิติตรวจตรารอบสวนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) รอบสวน เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในสวนเบญจกิติแล้ว ไม่มีผู้เข้ามาพักพิงเกินเวลาที่สวนสาธารณะเปิดให้บริการ

ส่วนกรณีข้อเสนอแนะให้พิจารณาจัดหาร้านค้าภายในสวนเบญจกิติ เพื่อแก้ไขปัญหาร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มบริเวณหน้าสวนเบญจกิติ นั้น เนื่องจากพื้นที่สวนเบญจกิติ ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ การจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์ จึงอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่กรมธนารักษ์กำหนดขึ้น โดยการจัดสรรพื้นที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบของกรมธนารักษ์ อย่างไรก็ตาม สสล. ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจตราบริเวณรั้วรอบสวนเบญจกิติ เพื่อดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง

 

 

กทม. ประสาน กฟน. รื้อยางมะตอย-เทคอนกรีตปรับระดับทางเท้าถนนรามคำแหง 85/1

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การปรับปรุงทางเท้าบริเวณถนนรามคำแหง 85/1 นำยางมะตอยมาเทไม่เสมอกับทางเท้าว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นการดำเนินการโครงการก่อสร้างฐานอุปกรณ์และวางท่อร้อยสายใต้ดินในแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ถนนรามคำแหง) ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และได้มีการขุดสำรวจบนทางเท้า เพื่อวางท่อใต้ดินของผู้รับจ้างและคืนสภาพชั่วคราวโดยใช้ยางมะตอยปิดแนวร่องไม่ได้ระดับเสมอผิวทางเท้า สนย. จึงประสานแจ้ง กฟน. แก้ไขโดยรื้อยางมะตอยออกและเทคอนกรีตปรับระดับให้เรียบเสมอทางเท้าโดยด่วนแล้ว ทั้งนี้ การคืนสภาพถาวรจะต้องปูด้วยแผ่นกระเบื้องตามรูปแบบของทางเท้าเดิมให้ได้มาตรฐานและเรียบร้อยสวยงาม

นอกจากนั้น สนย. ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ กำชับแนวทางการทำงานบนผิวจราจรและทางเท้าให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องคืนสภาพทางเท้าและถนนให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เรียบร้อยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้สัญจร

 

 

กทม. แจงยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินตลาดนัดสวนจตุจักร จาก รฟท.

นายศรชัย โตวานิชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กล่าวกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือและทวงถามกรณีการค้างชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณตลาดนัดสวนจตุจักรว่า กรุงเทพมหานคร และ รฟท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการให้ กทม. รับมอบการบริหารตลาดนัดจตุจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 61 โดย กทม. ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ รฟท. ปีละประมาณ 169 ล้านบาท และให้จัดทำสัญญาเช่าที่ดินที่ผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุด ซึ่งตั้งแต่การรับมอบพื้นที่ กทม. และ รฟท.ได้ประชุมร่างสัญญาเช่าที่ดินกันหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือแจ้งเงื่อนไขการเช่าเพิ่มเติมให้ รฟท. พิจารณาการงดจ่ายค่าเช่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีการปิดตลาด หรือการงดคิดดอกเบี้ยจ่ายค่าเช่าล่าช้า ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีการลงนามสัญญากัน กทม. จึงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าให้ รฟท. ได้ และปัจจุบัน รฟท. ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาตามข้อเสนอให้ กทม. ทราบแต่อย่างใด

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200