ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (22 ส.ค.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้เป็นการรายงานผลการพิจารณางบประมาณของประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระดับเขต 3 คณะ ประกอบด้วย
- คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตบึงกุ่ม บางกะปิ คันนายาว สะพานสูง และสวนหลวง
- คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตปทุมวัน คลองเตย พญาไท และสาทร
- คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม
ทั้งนี้ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้นำผู้บริหารเขตเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมการใช้งบประมาณ ประกอบด้วย นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักงานเขตบึงกุ่ม บางกะปิ คันนายาว สะพานสูง และสวนหลวง เข้าชี้แจง นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ ส.ก.เขตคลองเตย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักงานเขตปทุมวัน คลองเตย พญาไท และสาทร เข้าชี้แจง และนายนริสสร แสงแก้ว ส.ก.เขตบางเขน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักงานเขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม เข้าชี้แจง
คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณเรื่องการขุดลอกคูคลองของสำนักงานเขตคุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่ และดำเนินอย่างไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสำนักงานเขต เพื่อป้องกันเรื่องน้ำท่วมให้กับประชาชน
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า การขุดลอกคูคลองของกรุงเทพมหานครทั้งที่อยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขต มีการบันทึกข้อมูลและสำรวจอยู่ตลอดเวลา มีค่าระดับที่เป็นมาตรฐานตามที่สำนักการระบายน้ำกำหนด ทั้งคลองสายหลักและคลองสาขา โดยคลองสาขาส่วนใหญ่สำนักงานเขตจะเป็นผู้รับผิดชอบ มีการกำหนดค่ามาตรฐานอยู่ในระดับหนึ่ง เพื่อให้การระบายน้ำส่งผ่านไหลลื่น มีประสิทธิภาพ ส่วนขั้นการดำเนินการขุดลองคลอง ขณะนี้ฝ่ายบริหารมีนโยบายในการขุดและขนย้ายทันที ไม่ให้นำมาไว้บนฝั่งข้างริมคลองตามข้อเสนอแนะของสมาชิกสภากทม. เพื่อป้องกันดินโคลนไหลลงคลองจนทำให้คลองตื้นเขิน และสำนักการระบายน้ำกำหนดราคามาตรฐานของดินโคลนที่ขุดขึ้นไว้ชัดเจน ส่วนเรื่องการควบคุมมาตรฐานการขุดลองคลอง ทั้งระดับความลึก ความกว้าง รายละเอียดต่างๆ หน่วยงานต้องกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน มีข้อมูลความกว้าง ความยาว สภาพปัจจุบันและสภาพเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว เพื่อให้ผู้รับจ้างดำเนินการตามที่หน่วยงานกำหนด รวมถึงการควบคุมผู้รับจ้างต้องมีการแต่งตั้งผู้ควบคุมงานเพื่อกำกับผู้รับจ้างให้ดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้
คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตบึงกุ่ม บางกะปิ คันนายาว สะพานสูงและสวนหลวง ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1.เห็นควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามการทำงานของผู้รับจ้างตั้งแต่เริ่มทำงาน ระหว่างทำงาน และสิ้นสุดจนส่งมอบงาน โดยให้ติดตามงานอย่างต่อเนื่อง
2.ให้สำนักงานเขตกำชับผู้รับจ้างจัดทำป้ายในพื้นที่บริเวณเขตก่อสร้างให้เห็นอย่างชัดเจน ในเวลากลางคืนให้มีสัญญาณไฟตลอดเวลา และมีมาตรการในการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง และประสานงานร่วมกับการประปานครหลวงเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด
3.การขุดลอก คู/คลอง/ลำราง กรณีที่ไม่ใช่ดาดท้องคลอง ใช้งบประมาณในการดำเนินงานค่อนข้างสูง เห็นควรให้ทำ คู/คลอง/ลำราง เป็นดาดท้องคลองเพื่อสะดวกในการขุดลอก ประหยัดงบประมาณและเพื่อการระบายน้ำที่ดีกว่า
4.ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เห็นควรเร่งรัดการใช้งบประมาณ โดยให้ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
5.การขุดลอก คู/คลอง/ลำราง ควรอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ เนื่องจากบางพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำอาจจะไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลาถึง 3 ปี
6.สำนักการระบายน้ำ ควรมีการสำรวจสภาพพื้นที่จริง และกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดขนาดระดับก้นท่อให้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากสภาพพื้นที่บางแห่งไม่แตกต่างกันแต่พิจารณาขนาดระดับก้นท่อต่างกัน
คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักเขตปทุมวัน คลองเตย พญาไท และสาทร ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
- ค่าครุภัณฑ์ตามมาตรฐานราคากลาง สำหรับรายการที่สืบราคาตามท้องตลาดควรมีการตรวจสอบเอกสารประกอบพิจารณาให้ครบถ้วน
- การเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ควรมีการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักการศึกษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกันทุกสำนักงานเขต เพื่อมิให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน
- การปรับปรุงโรงเรียนควรเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน
- การปรับปรุงซอยต่างๆ หากมีการเทคอนกรีตต้องมีระดับที่เท่ากัน และวางรางวีต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่สำนักการโยธากำหนด
- การปรับปรุงซอยที่มีการทำแนวทางเท้าระดับเดียวกับพื้นถนน ควรมีการตีเส้นเพื่อให้สามารถเห็นได้ชัดเจน
- การตั้งประมาณการรายรับของภาษีโรงเรือนและที่ดิน (เก่า) ไม่ควรตั้งเกินกว่าหนี้ที่จัดเก็บคงค้างและหนี้ที่มีใบแจ้งหนี้ ภายในระยะเวลา 5 ปี
- ในการของบประมาณปรับปรุงโรงเรียน ควรที่จะเสนอขอปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้องกันมาในคราวเดียวกัน เช่น ขอปรับปรุงต่อเติมหลังคา ควรมีการขอปรับปรุงพื้นด้วย
คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
- การปรับปรุงถนนหรือซอยที่ต้องยกพื้นถนนสูงและทำท่อระบายน้ำใหม่ ควรเชื่อมท่อระบายน้ำจากบ้านเรือนหรืออาคารเข้ากับระบบท่อระบายน้ำสาธารณะเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในบ้านเรือน และควรออกแบบขนาดและความลาดเอียงของท่อระบายน้ำให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- การกำหนดปริมาณงานและรูปแบบงานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ควรลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สัมพันธ์หรือสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ให้ดำเนินการโดยละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้การเสนอของบประมาณเป็นไปอย่างถูกต้อง
- การก่อสร้าง/ปรับปรุงถนน ควรมีการวางแผนจัดจราจรในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง เช่น การติดตั้งเครื่องหมายการจราจรชั่วคราว สัญญาณไฟต่าง ๆ รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยอำนวยความสะดวก
- คู คลอง ลำราง ควรดำเนินการก่อสร้างเขื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และป้องกันการรุกล้ำ ส่วนคู คลอง ลำราง ที่มีระยะสั้นควรทำดาดท้องคลอง เพื่อสะดวกต่อการขุดลอก
- การปรับปรุงหลังคา ฝ้าเพดาน อาคารเรียน ควรตรวจสอบสายไฟที่อยู่ภายในฝ้าเพดาน เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟฟ้ารั่ว
- การเลือกสีทาพื้นลานอเนกประสงค์ควรเลือกสีที่มีคุณสมบัติยึดเกาะกับคอนกรีตได้ดี ไม่ซีดจางง่าย และไม่หลุดร่อนง่าย เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายไป
- ครุภัณฑ์ที่ไม่มีราคามาตรฐานกำหนด ในการขอตั้งงบประมาณหน่วยรับงบประมาณควรสืบค้นราคาจากท้องตลาด หรือจากหน่วยงานอื่นที่เคยจัดซื้อเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม
- โครงการฝึกอบรมนายหมู่ลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่ และหัวหน้าหน่วยยุวกาชาด ควรจัดฝึกอบรม ณ ค่ายลูกเสือกรุงเทพมหานคร (พิศลยบุตร) ค่ายลูกเสือกรุงธน หรือค่ายลูกเสือกรุงเทพมหานคร (จอม – ประจญ นพเกตุ) เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ และใช้สถานที่ของกรุงเทพมหานครให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การนำเด็กไปทัศนศึกษาควรพาไปสถานที่หลากหลาย เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์แก่เด็กนักเรียนให้มีโอกาสเรียนรู้อย่างกว้างขวาง เช่น พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 1 (จตุจักร) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น