(16 ส.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดการประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี พ.ศ. 2569” ตามโครงการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2569โดยมี พญ. วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าหน่วยงาน หัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสัมมนา ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี หรือการเขียนโครงการต่างๆ ของแต่ละสำนักและหน่วยงานภายในกรุงเทพมหานคร ขอให้ยึดหลักว่า “ประชาชนได้อะไร” “มีประโยชน์อะไรกับประชาชน” ซึ่งอันที่จริงแล้วคิดภาพง่ายๆ ว่า เมื่อเราใช้ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร หรือความต้องการสวัสดิการต่างๆ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้การใช้ชีวิตในเมืองง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเขียนเป็นโครงการ/กิจกรรมสนับสนุนเป้าหมาย เพื่อนำไปจัดทำรายละเอียดประกอบการของบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานครภายใต้วิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างให้กรุงเทพมหานคร เป็น “เมืองน่าอยู่ (Livable City)” สำหรับทุกคน โดยมียุทธศาสตร์ 9 ด้าน 9 ดี ที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านเดินทางดี ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านปลอดภัยดี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านโปร่งใสดี ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านสิ่งแวดล้อมดี ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านสุขภาพดี ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านเรียนดี ยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านเศรษฐกิจดี ยุทธศาสตร์ที่ 8 ด้านสังคมดี ยุทธศาสตร์ที่ 9 ด้านบริหารจัดการดี ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนากรุงเทพมหานครให้ชัดเจน ภายใต้บริบทของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี พ.ศ. 2569” จัดขึ้น เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้เรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกรอบให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล กรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ จำเป็นต้องสนับสนุนปัจจัยสำคัญในกระบวนการแปลงยุทธศาสตร์และเป้าหมายไปสู่การปฏิบัติ โดยการจัดทำโครงการ/กิจกรรมสนับสนุนเป้าหมาย เพื่อนำไปจัดทำรายละเอียดประกอบการของบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงาน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานส่วนราชการ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ในการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น “เมืองน่าอยู่ (Livable City)” สำหรับทุกคน
——-
——-