Search
Close this search box.
เคี่ยวทุกบาท เอกสารต้องครบ ‘กนกนุช กลิ่นสังข์ ‘ ประธานงบฯกทม.68

ศศวัชร์ คมนียวนิช, อธิษฐาน จันทร์กลม – เรื่อง

ชลาธิป รุ่งบัว – ภาพ

‘เราอยู่ตรงไหน ประชาชนต้องได้ประโยชน์’

ผ่านดราม่าฝุ่นตลบ รับปีงบประมาณหน้าเมื่อ สภากรุงเทพมหานคร เปิดโหวตลับ คัดตัว คณะกรรมการวิสามัญฯ ที่จะเข้ามานั่งสแกนงบประมาณ ก้อนเบิ้มปี 2568 จากภาษีประชาชนกว่า 90,000 ล้าน

หลังฝั่งพรรคก้าวไกล เสนอคนนอก 2 ชื่อเข้ามาช่วยกันจับผิด สุดท้ายผลโหวตพลิกผันถูกตัดออกเกลี้ยง เพราะต่างคนต่างเหตุผล ฟากหนึ่งย้ำ ว่า ส.ก.ทำหน้าที่กลั่นกรองแทนประชาชนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งคนนอก

อีกฟากโต้กลับ เพราะมีการ ‘งาบงบแปรญัตติ’ ของ ส.ก.เอง จึงต้องให้คนนอกเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตา

ทำเอา กนกนุช กลิ่นสังข์ หรือ ส.ก.หนุ่ย ตัวแทนพี่น้องเขตดอนเมือง จากพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมาชี้แจงข้อจริงเท็จผ่านหน้าสื่อ ด้วยเป็นผู้ถูกเลือกให้ขึ้นแท่นนั่ง ‘ประธานคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาร่างข้อบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568’

ตอบข้อสงสัยฉะฉาน จนอีกฝ่ายต้องออกมาโพสต์ขอโทษในความเข้าใจผิด

อดใจไม่ไหวนัดหมาย อาคารไอราวัตพัฒนา สถานที่นัดประชุมสภา เพื่อถามตรงๆ เคลียร์ชัดๆ อีกรอบ น้ำเสียงที่ตอบยิ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจที่ว่า งบปี 2568 ของชาวเมืองเทพสร้าง จะผ่านสายตาทุกดีเทล ถูกกางให้เห็นทุกส่วนสัด จัดสรรให้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าแน่ๆ

เพราะก่อนเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง เคยนั่งเลขา เซฟเงินให้องค์กรมาแล้ว ไม่ว่าจะเอกชนหรือราชการ บวกลบคูณหารดอกเบี้ยจนเก่งกาจ ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแม่ด้านงานเอกสาร

เลือกเรียนรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ ม.ราม เพราะคิดว่าทำงานได้หลายสาขา จบใหม่หมาดๆ ช่วงปี 2523 ก็ชั่งใจ ระหว่างรับราชการทหาร กับเป็นอาจารย์ ม.มหาสารคาม

“เรามองว่าเป็นอาจารย์ก็เท่ดี (หัวเราะ) สุดท้ายได้มีโอกาสไปทำงานกับเพื่อนคุณพ่อที่ต่างจังหวัด เป็นเลขานุการบริษัทเอกชน ดูแลโครงการก่อสร้างถนนสายตากฟ้า-อินทร์บุรี (ถนน

สาย 11) ทำได้หนึ่งปี ย้ายกลับเข้าเมืองกรุง เป็นเลขานุการแผนก ที่บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ”

เป็น 10 ปี ที่บ่มเพาะให้ชำนาญด้านการคิดดอกเบี้ย ก่อนถึงจุดพลิกผันลาออกจากเอกชน สู่การเป็นข้าราชการท้องถิ่น ในตำแหน่ง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล

แม้บทบาทเปลี่ยนไป แต่ตลอดชีวิตผ่านพ้นยังวนเวียนอยู่กับเรื่องตัวเลขและการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน

ตลอดการเป็น ส.ก.เขตดอนเมือง 3 สมัย สารพัดปัญหาในเขตที่หยิบมากระทุ้ง เล่าสู่ผู้ว่าฯ และเพื่อนสมาชิกสภา ทั้งน้ำท่วม ถนนหนทาง ทว่า ข้อเสนอที่เจ้าตัวออกปากว่าเป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุด คือการ ‘สร้างโรงพยาบาล’ ให้เกิดขึ้นในเขตชานเมือง ฟาดฟันมากว่า 10 ปี กระทั่งวันนี้ นั่งประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ

กนกนุช เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือถึงเคสสะเทือนใจ ครั้งหนึ่งเคยไปร่วมงานศพทหารอากาศหนุ่ม เส้นเลือดในสมองแตก สิ้นลมหายใจ เพราะไป รพ.ไม่ทัน

“กว่าจะไปถึง รพ.ภูมิพล มันไปอีกฝั่งนึงเลย กว่าจะออกจากดอนเมืองได้ ต้องผ่านถนนเชิดวุฒากาศ ผ่านถนนกำแพงเพชร ถนนวิภาวดีรังสิต และก็ต้องอ้อมไปนู้น ถนนพหลโยธิน มันเป็นเคสที่ทำให้เรารู้สึกสงสารมาก เขายังหนุ่มแล้วลูกก็ยังเล็กๆ ด้วย”

ถึงขนาดเคยอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ‘เจ้าประคุณณ… ขอให้สร้าง รพ.ได้ทีเถอะ ถือว่าสร้างบุญ’ เวลาทำบุญจะอธิษฐานทุกครั้งเลยนะ ขอให้สร้างได้ ถ้ามีปัญหาก็ขอให้มีคนช่วยให้ปัญหาหมดไป เพราะอยากทำจริงๆ

ส.ก.ผู้นี้ ไม่ใช่คนดอนเมืองแต่กำเนิด เกิดที่โรงพยาบาลราชวิถี เติบโตในเขตพญาไท อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯกับ ‘ยายเล็ก’ (น้องของคุณยาย) กระทั่งครอบครัวยายเล็กไปอยู่ต่างประเทศ เธอจึงต้องย้ายไปเรียนมัธยมที่ จ.นครสวรรค์ ตามบิดาที่ไปรับราชการอยู่ที่นั่น ก่อนผกผันวกกลับมากรุงเทพฯอีกครั้งในฐานะนักศึกษา ม.รามคำแหง

อันเป็นหนึ่งในจุด ที่เชื่อมจุด ส่งเธอสู่เส้นทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร จนถึงทุกวันนี้

ทำไมถึงตัดสินใจลาออกจากเอกชน ไปรับราชการ?

เราลาออกจากบริษัท ทุกคนก็บอกเราว่า เงินเดือนเยอะขนาดนี้ แล้วจะออกไปรับเงินเดือน 6,300 เธอสติดีหรือเปล่า ในใจเราที่เลือกเพราะเราคิดว่าคนเราไม่ว่าคุณจะมีเงินทรัพย์สินมากมายแค่ไหน คุณก็ไม่สามารถเดินไปเป็นปลัด อบต.ได้ ยกเว้นคุณสอบได้ มันน่าภูมิใจ แล้วก็พ่อเราก็ภูมิใจเพราะพ่อเป็นข้าราชการ พอเราใส่เครื่องแบบ เขายังชม ‘โอ้โหเป็นปลัดผู้หญิงเท่มาก’ ทำได้สักพักประมาณ 3 ปี ตอนนั้นมีการเปลี่ยนผ่านเลือกตั้งนายก อบต. พอเลือกตั้งเสร็จเราก็ลาออก

เกิดอะไรขึ้นถึงตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง?

ตอนนั้นคุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่ก็ป่วยหนักมาก เราขับรถจากบึงกุ่มไประยอง ทุกวัน ออก 6 โมงเช้าไปถึง 8 โมง ความบ้าของเราเยอะมาก จนกระทั่งนายอำเภอเรียกมา ‘คุณเลือกเอาสักอย่าง ผมยังไม่อยากไปงานศพ คุณขับรถเร็วมาก แล้วคุณก็ขับกลางคืน’ มีอยู่วันหนึ่ง เราออกแต่เช้าช่วงนั้นหมอกลงเราก็ขับฝ่าหมอก พอพ้นหมอกเจอท้ายรถบรรทุก มีความรู้สึก ‘ตายแล้ว ฉันต้องคิดใหม่’ แต่ว่าเราเป็นคนชอบใส่เครื่องแบบข้าราชการมาก จนคนบอก โห ใส่ทุกวัน เลยบอก ‘ใช่ เผื่อฉันเป็นไรไปใครจะได้รู้ว่าฉันเป็นข้าราชการ’ (หัวเราะ)

พอออกมาปุ๊บ พอดีหม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ ดิศกุล ท่านเป็นน้องเขยของเจ้านายเก่า ลงสมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง ท่านเห็นรู้เรื่องเกี่ยวกับด้านนี้น่าจะช่วยท่านได้ ก็เลยเลือกไปเป็นเลขา และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส.สังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อปี’44 สมัยท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เราก็ใช้ความรู้ความสามารถตอนที่เราเป็นปลัด ตอนที่เราทำงานกับนักการเมือง ก็ทำงานกับชาวบ้านด้วย

ทำไมถึงย้ายออกจากพรรคไทยรักไทย?

ตอนปี 2550 พรรคถูกยุบ คุณชายท่านถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพราะว่าเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย ตอนนั้นไม่ได้มีการพูดคุยอะไรกัน ก็เข้าใจว่าพรรคยุบแล้วไปไหนก็ได้ ไม่ได้คุยกันละเอียด คุณชายบอกผมก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว 5 ปี แต่คุณยังเป็น ส.ก.อยู่ ‘ก็ดูว่าเราอยู่ตรงไหนแล้วประชาชนได้ประโยชน์ คุณก็ยืนตรงนั้นแล้วกัน’ คุณชายพูดประโยคนี้ จึงได้มาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ไม่นานในปีนั้นมีการเซ็น MOU ระหว่าง กทม.กับหน่วยทหารพัฒนา ทำถนนเทิดราชัน ตั้งแต่ ถนนนาวงประชาพัฒนา เมื่อสมัยก่อนถนนเล็กมาก ข้างๆ ก็เป็นคูน้ำ เวลามีปัญหาก็เอาลูกรัง เอากากยางมาลง พอน้ำในคูลดลงถนนก็สไลด์ ถึงจะเอาไม้มาปักให้เป็นเขื่อนแล้วก็ตาม ประมาณปี 2551 ก็เกิดชมรมคนรักถนน ซึ่งมีพี่น้องประชาชนที่อยู่แถบนั้น 10 กว่าชุมชน มาร่วมกันพูดคุยว่าอยากจะทำถนนเส้นนี้ ได้พูดคุยกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ท่านก็เห็นดี ซึ่งต้องขอบคุณกองทัพอากาศด้วย เพราะด้านหนึ่งเป็นบ้านประชาชน อีกด้านหนึ่งเป็นรั้วของกองทัพอากาศ ก็ให้ที่ดินมาขยายถนน จากถนนเล็กนิดเดียว กลายเป็นถนน 4 เลน มีท่อระบายน้ำใหญ่มาก ไม่มีปัญหาน้ำท่วมแล้ว

ปัญหาในเขตดอนเมือง ที่อยากให้แก้ไขสุดสุด?

ส่วนตัวอยากทำ ‘โรงพยาบาลดอนเมือง’ ให้สำเร็จ มันเป็นเรื่องที่เราอยากทำให้คนในพื้นที่ที่สุด เพราะเราเข้าใจ อยากให้ปัญหาของพี่น้องหมดไป ทั้งถนนหนทาง คูคลอง การระบายน้ำต่างๆ เมื่อปัญหามันแก้ได้ เขาก็มีความสุข ฝนตกก็ไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะท่วมเข้าบ้าน ขณะเดียวกันภาพใหญ่ในเรื่อง รพ. เขตดอนเมืองมีประชากรเยอะมากนะ ตามทะเบียนบ้าน มีกว่า 170,000 คน แต่ในความเป็นจริงมันเยอะกว่านั้น ทั้งประชากรแฝง แรงงานข้ามชาติที่มาเช่าบ้านอยู่ มาค้าขายเยอะมาก แล้วการดูแลของ กทม.มีหลายมิติมากนะ

รพ.เป็นส่วนหนึ่ง เพราะความเจ็บป่วยของประชาชน บางทีถ้าเขาเข้าถึงได้ง่าย เขาอาจจะไม่เจ็บป่วยหนักก็ได้ อย่างบางคนที่ค้าขาย ปวดท้องก็ไม่เป็นไรซื้อยาเอา มันไกล ถ้าจะไปเอกซเรย์ โอ้โห! กว่าจะไป-กลับ เป็นวัน เขาก็ยังไม่ไปต้องค้าขาย จนกระทั่งมันไม่ไหวจริงๆ นาทีสุดท้ายปรากฏว่า รักษาไม่ได้แล้ว เราเห็นมาเยอะ ต้องใช้งบรักษามากกว่าตอนที่เริ่มตรวจอีก ถึงแม้เราจะมีศูนย์บริการสาธารณสุข แต่มันดูได้ไม่หมดหรอก รพ.ก็เป็นสิ่งที่พี่น้องชาวดอนเมืองอยากได้ และไฟต์กันมา 10 กว่าปีแล้ว ขอให้มีเถอะ เพราะจะได้ไม่ต้องเดินทางไปไกล

น้ำท่วมในเขตดอนเมืองดีขึ้นยัง เดี๋ยวนี้เขตแก้ปัญหาไวขึ้นไหม?

เดี๋ยวนี้แก้เร็วมากๆ ทราฟฟี่ฟองดูว์ ก็เป็นอีกช่องทางให้พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งเข้ามาได้เลย ผู้ว่าฯก็จะจี้ไปที่เขต ที่เจ้าหน้าที่ มันทำให้สะดวกขึ้น

งานในพื้นที่ของเราส่วนมากจะแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม และถนนหนทางที่ไม่ได้รับการดูแลมานานมากเป็น 10 ปี เอาง่ายๆ ตั้งแต่มีการปฏิวัติเมื่อปี 2557 ต้องยอมรับว่าไม่ได้รับการพัฒนาจริงๆ แล้วก็มีการเสนอทำ ถนนวัดเวฬุวนารามทั้งเส้นเลย แล้วก็ถนนช่างอากาศอุทิศ ซึ่งบางช่วงมีเจ้าของ ทั้งๆ ที่เป็นถนน เลยไม่สามารถทำให้ กทม.พัฒนาได้เต็มที่ สมัยก่อนเขาแบ่งแปลงที่ดิน 2 ฝั่ง แล้วก็เข้าแบงก์ แต่ไม่ได้แบ่งแปลง ซึ่งสมัยนี้เวลาที่จะใช้งบ ของหลวงเขาต้องเช็กว่าเป็นที่สาธารณะหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นจะเจอฟ้องร้อง

ได้งบทำถนนช่างอากาศอุทิศใหม่แล้ว แต่ทำไมยังไม่ได้ก่อสร้าง?

เนื่องจากมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในเรื่องงานเอกสาร ถนนช่างอากาศอุทิศ เสนอโครงการก่อสร้าง 3 ช่วง ช่วงแรกจากถนนกำแพงเพชรไปจนถึงแยกศิริสุข ซึ่งความผิดพลาดทางเอกสารนิดนึง แต่กำลังมีการแก้ไข อาจจะต้องเสนอขอใช้งบใหม่ ช่วงที่ 2 จากแยกศิริสุข ถึงซอยช่างอากาศอุทิศ 13 ช่วงนี้ก็ได้ผู้รับเหมาแล้วกำลังจะเริ่มก่อสร้าง ช่วงสุดท้ายจากซอย 13 ถึงหน้าหมู่บ้านศิริสุข ช่วงนี้อยู่ในขั้นตอน เนื่องจากตรวจพบว่ายังไม่ได้เป็นที่สาธารณะ ประชาชนก็ร่วมกันซื้อที่ดินจากเจ้าของ ตอนนี้สำนักงานที่ดินเข้ามาสำรวจรังวัด ทำไปได้เยอะแล้ว แต่มันเยอะมี 300 แปลง แล้วแต่ละแปลงก็ต้องนัดแต่ละคน เขาบอกว่าปลาย ส.ค. ต้น ก.ย.นี้ น่าจะเรียบร้อย แล้วทางเขตก็จะเข้าไปสำรวจ ออกแบบ คำนวณราคา แล้วก็เสนอขอใช้งบ อาจจะไปแปะเป็นงบเพิ่มเติมปี’68 ก็ได้ หรือไม่ก็เป็นงบปี’69

ล่าสุด รับบทประธานพิจารณางบประมาณ ต้องทำอะไรบ้าง?

ส.ก.มี 50 คน แต่ละคนก็เป็น ส.ก.เขต อย่างเราก็จะรู้จักพื้นที่ของเราอย่างดีว่ามีปัญหาตรงไหนบ้าง ประชาชนอยากได้อะไร และเขตก็คือตัวแทนของผู้ว่าฯกทม.ที่ดูแลพื้นที่ แล้วก็เป็นคนเขียนโครงการ ทำโครงการ ผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้เสนองบเข้าสภา กทม. เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานของท่าน สภา กทม.ทำหน้าที่ 2 อย่างก็คือ นำเสนอเรื่องความเดือดร้อนให้ผู้ว่าฯรับปัญหา แล้วจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา อาจจะใช้งบหรือไม่ใช้ ขณะเดียวกัน ส.ก.ก็ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ในการให้ความเห็นชอบในการใช้งบของผู้ว่าฯ ว่าเป็นไปตามนโยบายไหม แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไหม อย่างสภาพิจารณางบโดยหลักเราก็จะรู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร เราก็คิดว่าประชาชนก็จะช่วยด้วย ซึ่งเรียกว่า ‘การมีส่วนร่วม’ ตั้งแต่ตอนที่ช่วยคิดปัญหา ในแต่ละเขต แล้วคณะกรรมการชุมชนก็มาจากคนที่ในพื้นที่ อย่างในเขตดอนเมือง 90 กว่าชุมชน แล้วในประธานของคณะกรรมการชุมชน ก็จะมาเล่าให้เขตฟัง

แล้วคณะกรรมการวิสามัญฯชุดนี้เราได้มอบให้คณะอนุกรรมการฯที่เป็น ส.ก.และบุคคลภายนอก ให้เข้าไปดูทุกหมวดรายจ่าย แล้วจะต้องกลับมารายงาน คกก.วิสามัญฯอีกทีในวันที่ 20 ส.ค.นี้ เท่ากับว่าเป็นการตรวจสอบ 2 ครั้ง

งบปี’67 มีการเบิกจ่ายล่าช้า คิดเห็นอย่างไร?

การเบิกจ่ายล่าช้า มันส่งผลในเรื่องของความไม่คุ้มค่าในการใช้งบ เพราะงบของ กทม.เป็นแบบสมดุล แบบสมดุลก็คือมีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น ดังนั้นถ้าหน่วยงานขอไปแล้วไม่ใช้ มันก็ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง เพราะหน่วยงานอื่นก็อยากได้ เช่น อยากจะขุดลอกคลอง แต่เงินไม่พอ อย่างเขตดอนเมืองเองก็มีโครงการสร้างถนน ได้งบมาแล้ว แต่ทำงานไม่ทันน้ำก็ท่วม ประชาชนก็เสียประโยชน์ ล่าช้าเพราะทำเอกสารช้า ยังไม่ได้ตัวผู้รับเหมาล่าช้า ก็ต้องไปดูว่ามีเหตุผลความจำเป็นยังไง

ปกติแล้วตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสของงบกันอย่างไร?

เนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 ของกรมบัญชีกลาง มีข้อกำหนดเยอะมาก สรุปคร่าวๆ ครุภัณฑ์บางอย่าง มันไม่มีราคากลาง หน่วยงานก็ต้องไปหาราคากลางเอง อันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คกก.วิสามัญฯ ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องของการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม.เป็นไปอย่างที่พูดไหม เช่น ท่านมีสวน 15 นาที มีการขอใช้งบไหม ท่านอยากให้โรงเรียน ให้เด็กของเรามีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ทันสมัย มีความรู้มากขึ้น ก็ไปดูในส่วนของสำนักการศึกษา ว่ามีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม

มีข้อครหาจากพรรคตรงข้ามว่า ส.ก.จ้องงาบงบแปรญัตติ?

คือถ้าคนที่เข้าใจเขาจะทราบว่า เราพิจารณาในส่วนที่ทางผู้ว่าฯเสนอมา เรามีขอบเขตอำนาจหน้าที่ แล้วในปีนี้จากเหตุการณ์ที่มีการพูดกันในหลายประเด็น ทางท่านผู้ว่าฯก็จะนำงบแปร ที่ท่านจะเสนอ เข้าสู่คณะกรรมการวิสามัญด้วย ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดจะได้เห็น ได้เข้าใจ แล้วประชาชนก็สามารถดูได้หลังจากพิจารณาเรียบร้อยแล้ว เพราะมันจะต้องไปอยู่ในข้อบัญญัติงบปี 2568

ปีที่แล้วมีดราม่าตัดงบ ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ รอบนี้เป็นยังไง?

คราวที่แล้วมันไม่ใช่เรื่องของโครงการ แต่เป็นเรื่องของการเอกสารที่ส่งมา ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น การติดแอร์ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เขียนมาว่าห้องประมาณ 48 ตร.ม. แต่ใช้แอร์ 2 ตัว ตัวละ 30,000 บีทียู แบบนี้หนาวแย่ คือ นโยบายท่านดีมาก แต่ว่าทางเจ้าหน้าที่ที่เขียนเอกสารและนำเสนอ ไม่ละเอียดพอ ไม่รอบคอบ คณะกรรมการวิสามัญก็เลยคิดว่า ทำโครงการมาเสนอแบบนี้มันไม่ได้

มันเป็นคนละเรื่อง แต่พอฟังแล้วคนไปตีความว่า ไม่อยากให้มีนู่นนี่นั่น มันเป็นเรื่องงานเอกสาร เป็นเรื่องของการตรวจสอบ ว่าที่คุณเสนอมามันได้ไหม? เอกสารไม่พร้อม มันก็ไม่ผ่านอยู่แล้ว

แล้วรอบนี้หน่วยงานเตรียมเอกสารของบเรียบร้อยไหม?

อันนี้ก็มีการพูดคุยกันนะ ว่างบที่นำเสนอรอบนี้ ขอให้ตรวจสอบเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย จะขออะไรมามันไม่ไม่ใช่ประเด็น แต่คือมันต้องครบ เหมือนเวลาคุณจะไปพรีเซ็นต์งานกับอาจารย์ ก็ต้องเตรียมพร้อม ไม่ใช่ อ้าว ลืมนั่นลืมนี่ คือเนื้องานเหมือนๆ กันทุกหน่วยงานแหละ แต่ว่าทำยังไงให้ พอเห็นแล้วให้ผ่านได้โดยไม่มีข้อท้วงติง มันเป็นเรื่องของเอกสาร ไม่ใช่ไม่อยากให้มี เราก็อยาก เพราะประชาชนได้ประโยชน์ เราก็ได้คะแนนนะ ถูกไหม (ยิ้ม)

ปัญหากับพรรคฝ่ายตรงข้าม มีดราม่าอะไรกันเยอะไหม?

(หัวเราะ) คือจริงๆ เราต้องเข้าใจว่า แต่ละคนแต่ละสังกัดเขาก็คงต้องมีอาเจนด้าของเขา ถ้าไม่กระเทือนกันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอก การอภิปรายก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ว่าฯต้องรับ เพราะ ส.ก.มีหน้าที่นำเสนอปัญหา และเราไม่ได้เหมือนกับสภาใหญ่ เพราะว่าซีกผู้ว่าฯ ท่านก็มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องดูแล แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว แต่ละท่านแต่ละเขตก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน การที่เขาจะลุกขึ้นอภิปราย ก็เพื่อให้ท่านผู้ว่าฯได้แก้ไขปัญหา

ฉะนั้น ในสภา กทม. ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนกันมากกว่า หลายคนก็ช่วยกัน สมมุติว่าอาจจะอยู่อีกสังกัดนึง แต่ว่ามีเพื่อนอยู่ที่ดอนเมือง ก็อาจจะบอกว่า ‘ช่วยดูหน่อยนะ เขามีปัญหาเรื่องนี้’ บางทีเจอปัญหาเดียวกัน ก็คุยกันเหมือนเพื่อน ยกเว้นว่ามันเป็นอาเจนด้าจริงๆ ก็ว่ากันไม่ได้ ต่างคนต่างสังกัด เขาก็ต้องทำตามสังกัดของเขา

ถึงจะผ่านดราม่ามาพอสมควร แต่สุดท้ายแล้วก็ยังทำงานร่วมกันได้อยู่?

ยังทำงานร่วมกันได้เหมือนเดิม ความจริงแล้วคนที่เลือกเราก็คือคนในพื้นที่ ตราบใดที่ประชาชนยังมองเห็นว่าเราดูแล ใส่ใจ ทำประโยชน์ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน ที่จะพิสูจน์ความไว้วางใจในตัวเราผ่านการเลือกตั้ง ก็เหมือนกับพนักงานที่หวังได้โบนัสสิ้นปี เราทำงานมา 4 ปี ก็หวังว่าโบนัสของเราคือ การได้รับเลือกให้กลับเข้ามาใหม่

คิดว่าจุดแข็งอะไรที่ทำให้เรายังได้รับความไว้วางใจจากชาวดอนเมืองถึง 3 สมัย?

อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเห็นความตั้งใจ เราอยู่ดอนเมืองมาตั้งแต่ปี 2543 ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยคุณชาย แล้วก็ทำงานด้านนี้มาตลอด ช่วงน้ำท่วมดอนเมือง ปี 2554 ตอนนั้นไม่ได้เป็น ส.ก.เพราะสอบไม่ได้ แต่เราก็ยังอยู่ในพื้นที่ ช่วยดูแลพี่น้องประชาชนมาตลอดทั้ง 50 วัน จนเลือกตั้งซ่อม มีโอกาสชนะ พอมาช่วงโควิดก็ไม่เคยทิ้งพื้นที่ จนเขาคงมีความรู้สึกว่า เอ้อ! ยืนอยู่ตรงไหนก็เห็นเรา หันไปเมื่อไหร่ก็เจอ อันไหนช่วยได้ก็ช่วย อันไหนที่เราไม่สามารถ ก็ช่วยให้คำปรึกษา ช่วยถาม ประสานงานให้ เราเป็นเลขา มาตลอด การรับโทรศัพท์เป็นเรื่องปกติ เขาจะรู้ว่าเรารับสายตลอด ถ้าไม่ได้รับก็จะโทรกลับแน่นอน

เวลาชาวบ้านร้อนใจ ส่วนมากจะโทรมาด้วยเรื่องอะไร?

บางทีก็เชิญไปงานบวช งานศพ งานแต่ง (ยิ้ม) บางทีก็โทรมา ‘เนี่ย ฝนตกน้ำขัง ส.ก.เข้ามาดูหน่อย’ ‘ยุงเยอะมากทำยังไงดี’ ‘ซอยบ้านผมเมื่อไหร่จะมาทำให้สักที’ บางคนก็โทรมาบ่น โทรมาบอกคิดถึง มีหลายอย่าง บางทีก็ชวนกินส้มตำเราก็ไปนะ บางคนก็โทรมา ‘เนี่ย ฝุ่นเยอะไปหมดเลย รถบรรทุกกำลังวิ่ง’ เราก็รีบไปดูจะได้เห็นสภาพ พอรับเรื่องปุ๊บก็จะส่งภาพไปให้ทาง ผอ.เขต ท่านจะได้เห็น แล้วส่งเจ้าหน้าที่ลงมาดูแล แก้ไข

แล้วเลือกกนกนุช จะไม่ผิดหวังยังไงบ้าง?

เลือกกนกนุชไม่ผิดหวัง เพราะหนึ่ง เราเข้าใจคนในพื้นที่ เรารู้ว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร รู้ว่าทำยังไงปัญหานั้นถึงจะหมดไป แล้วเราก็เข้าใจพี่น้องประชาชนทุกคน ว่าในความต้องการของแต่ละชุมชน พื้นที่ แตกต่างกัน แล้วเราก็เข้าใจอีกเหมือนกันว่า บางครั้งเขาอาจจะชอบที่เราเป็นเรา ชอบเพราะเราอยู่ในสังกัดไหน เราเข้าใจทุกบริบท แต่ที่แน่ๆ

ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในพื้นที่เขตดอนเมือง ให้กนกนุชดูแล ไม่ผิดหวังแน่นอน

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 11 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200