กทม.จับมือภาคีเครือข่ายปรับปรุงกายภาพทางถนน เพื่อ ชาวกรุงเดินทางอย่างปลอดภัย
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องการปรับปรุงกายภาพ ทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะเจ้าหน้าที่สอบสวน สำนักสอบสวน 4 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักเทศกิจ เข้าร่วม ณ ห้อง ประชุมชั้น 13 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. ดินแดง
นายณรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง การใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้ที่สัญจรทางเท้า และได้กำหนดให้เป็นนโยบายตั้งแต่แรกเริ่ม เป็น 1 ในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี นั่นคือด้านเดินทางดี ซึ่งครอบคลุมหลายมิติของการเดินทาง
สำหรับการประชุมวันนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการจราจร และขนส่ง สำนักการโยธา และสำนักเทศกิจ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญของการประชุม คือการปรับปรุงกายภาพทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในส่วนของทางข้าม ปัจจุบันมีจำนวน 2,794 แห่ง (เป็นทางข้าม บริเวณทางแยก 540 ทางแยก) ซึ่งในปี 2565 ทาสีโคลด์พลาสติก (สีแดง) ทำแล้ว 885 แห่ง ทาสีทางม้าลายที่ซีดจาง (สีขาว) ทำแล้ว 1,000 แห่ง ล้างทำความสะอาดทางข้าม ทำแล้ว 421 แห่ง โดยการทาสีทางม้าลายที่ซีดจาง และการล้างทำความสะอาดทางข้าม มีเป้าหมายในการทำเพิ่มระหว่างปี 2566-2569 รวมอย่างละ 2,000 แห่ง ส่วนการทาสีโคลด์พลาสติก ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่สำคัญ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชน แยกสำคัญขนาดใหญ่ มีเป้าหมายทาสีครบ 1,450 แห่งในปี 2568
ในส่วนของทางข้ามที่มีสัญญาญไฟ ปี 2565 ทางข้ามที่มีสัญญาณไฟจราจรทางแยก ทำแล้ว 540 ทางแยก ทางข้าม ที่มีสัญญาณไฟจราจรทางข้ามถนนชนิดกดปุ่ม ทำแล้ว 271 แห่ง ทางข้ามที่มีสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม ทำแล้ว 974 แห่ง โดยมีเป้าหมายในการทำเพิ่มระหว่างปี 2566-2568 ให้ได้จำนวนรวมทุกจุด จาก 1,785 เป็น 2,525 แห่ง
พร้อมกันนี้ ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีทางข้าม อาทิ ระบบแจ้งเตือนกำหนดการตรวจสอบทางข้าม เพื่อตรวจเช็ค ทางข้ามเมื่อครบกำหนดเวลา 2 ปี โดยใช้เครื่องตรวจวัดการสะท้อนแสง หากตรวจพบมีการชำรุดจะดำเนินการซ่อมแซม เป็นต้น ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการหารือเพิ่มเติม ในส่วนการดำเนินการที่ต้องปรับปรุงหรือติดขัด หากนอกเหนือ ขอบข่ายของหน่วยงานกทม. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกันต่อไป เพื่อความปลอดภัยของชาวกรุงเทพมหานคร
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 2566