Search
Close this search box.
‘สนข.’ชง’พรบ.ตั๋วร่วม’เข้าครม. ลุ้นเคาะรถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย

ดึงบีทีเอสร่วมเจรจา ปรับลดค่าโดยสารด้วย

กรุงเทพธุรกิจ สนข.เผยความคืบหน้า เสนอ ครม.พิจารณา พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ลุ้นไฟเขียวดันนโยบายรถไฟฟ้า20 บาทตลอดสายในทุกสี ทุกสาย มีผลบังคับใช้ ก.ย.2568 เล็งเจรจา BTS ปรับลดค่าโดยสาร ด้าน “คมนาคม” เดินหน้าหารือ สภา กทม.หนุนทุกโครงข่ายรถไฟฟ้าร่วมวง

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศึกษา จัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบ ตั๋วร่วม โดยระบุว่า ขณะนี้ สนข.ได้จัดทำ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว โดยสถานะปัจจุบันคาดว่าอยู่ในขั้นตอนสำนักเลขานายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ก่อนนำเสนอเข้า ครม.เห็นชอบ ซึ่งหาก พ.ร.บ. ตั๋วร่วมผ่านการเห็นชอบแล้ว จะเดินหน้าสู่ขั้นตอนเสนอร่างต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ เบื้องต้นคาดว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะมี ผลบังคับใช้กฎหมายในเดือน ก.ย.2568

ทั้งนี้ จะสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการผลักดันให้ระบบขนส่งรถไฟฟ้าทุกสายเข้าร่วมนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทสูงสุดตลอดสาย โดยระยะแรกของ การบังคับใช้กฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมนั้น จะส่งผลให้ภาครัฐสามารถดำเนินการให้ ผู้บริการรถไฟฟ้าทุกโครงข่าย ต้องรองรับการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยสารใบเดียว เป็นเสมือนตั๋วร่วมในการเดินทางระบบรถไฟฟ้า และจะเป็นผลให้สามารถปรับลดค่าแรกเข้า กรณีเดินทางเชื่อมต่อโครงข่าย เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนได้

“ตั๋วร่วม”ใช้กับรถไฟฟ้าทุกสาย
“หาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้ทุกโครงการรถไฟฟ้าต้องติดตั้งเทคโนโลยีที่สามารถอ่านบัตรโดยสาร ร่วมกันได้ เพื่อให้ผู้โดยสารถือบัตรโดยสารใบเดียวก็สามารถเดินทางได้ทุกระบบ เป็นเคลียริ่งเฮาส์ (Clearinghouse) ส่วนกลางที่บริหารการจัดเก็บค่าโดยสารทั้งหมด และเมื่อรถไฟฟ้าทุกสายเข้าร่วมระบบนี้ ก็จะสามารถปรับค่าโดยสารเป็น 20 บาทตลอดสายได้”

นายปัญญา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ที่ภาครัฐยังไม่มีการผลักดัน พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ก็ไม่สามารถดึงให้ผู้บริการรถไฟฟ้า เข้าร่วมใช้ระบบเคลียริ่งเฮาส์ เพื่อเกิดตั๋วร่วมสำหรับรถไฟฟ้าได้ แต่เมื่อในขณะนี้กำลังจะมี พ.ร.บ.ตั๋วร่วมเกิดขึ้น แน่นอนว่าผู้ประกอบการทุกรายต้องเข้าร่วมใช้ระบบตั๋วร่วมนี้ตามกฎหมายบังคับ โดยรถไฟฟ้าทุกระบบจะต้องติดตั้งระบบรองรับการจ่ายผ่านระบบตั๋วร่วม ควบคู่ไปกับการใช้ระบบอ่านบัตรโดยสารที่เคยมีอยู่

อย่างไรก็ดี สนข.จะหารือร่วมกับ ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกราย รวมไปถึง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส ซึ่งมีระบบอ่านบัตรโดยสาร ของตนเองอยู่แล้ว จะต้องเตรียมเข้าร่วม ติดตั้งระบบตั๋วร่วม และจะเจรจาให้บีทีเอส ปรับอัตราค่าโดยสารตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสายภายใน ก.ย.2568

ศึกษาออกกฎหมายลูก17ฉบับ

ขณะเดียวกันในปีงบประมาณ 2568 สนข.ได้รับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 35 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 24 เดือน หรือ 2 ปี เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาการจัดทำกฎหมายลูก จำนวน 17 ฉบับ ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย. 2568 ในการรองรับร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยมีสาระสำคัญ เป็นประโยชน์ต่อการขยายบริการตั๋วร่วมไปยังระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ อาทิ โดยสารทางเรือ และรถโดยสารสาธารณะนอกจากนี้ยังศึกษาอัตราค่าโดยสารร่วม เทคโนโลยีการอ่านบัตรโดยสาร และการจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วม เพื่อชดเชยรายได้ให้แก่เอกชน

ด้านนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาตนได้เข้าร่วมประชุมกับสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) เพื่อหารือถึงนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในการอำนวยความสะดวก การเดินทาง และลดภาระค่าครองชีพให้กับ พี่น้องประชาชน โดยสภา กทม.พร้อมจะผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม

ดันนโยบายหนุนใช้โดยสารสาธารณะ

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า ภาพรวมการเดินทางของผู้โดยสารรวมทั้ง 2 สาย คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2567) พบว่า มีผู้ใช้บริการ เพิ่มขึ้นรวมกว่า 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลา เดียวกันของปี 2566 ซึ่งถือว่านโยบายดังกล่าว ช่วยให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ขณะที่รายได้ของรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงถึงแม้ว่าขณะนี้จะลดลงจากเดิม แต่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 8 เดือน จะกลับสู่ภาวะปกติก่อนที่จะเริ่ม นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และจากจำนวนผู้ใช้บริการที่ยังคง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้รายได้มีโอกาสจะกลับสู่ภาวะปกติเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมนโยบาย ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. . เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. คาดว่าจะ เสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย. 2568 สอดรับกับเป้าหมายการประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกสายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้กระทรวงฯ ยืนยันว่านโยบายดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่มีอยู่กับผู้ประกอบการเอกชน เนื่องจากภาครัฐจะจัดหางบประมาณที่จะนำไปชดเชยให้กับผู้ประกอบการเอกชน ในส่วนต่างค่าโดยสารที่สูงเกินกว่า 20 บาท ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม นำรายได้จากการบริหารรถไฟฟ้าที่มีผลกำไรมาจัดสรรเข้า กองทุน รวมไปถึงแนวทางจัดหารายได้ในส่วนอื่นๆ

โดยเบื้องต้นกระทรวงฯ ประเมินวงเงินที่ใช้หมุนเวียนในกองทุนส่งเสริม ระบบตั๋วร่วม เพื่อชดเชยส่วนต่าง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 7 – 8 พันล้านบาท ต่อปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเสนอรายละเอียดต่างๆ ซึ่งคาดว่า จะเริ่ม ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อจัดตั้ง กองทุนฯ ได้ในช่วงเดือน ต.ค. 2568 – มี.ค.2569

 



ที่มา:  นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200