กทม.ทำ MOU สสส. เดินหน้าพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นองค์กรแห่งความสุข ปรับระบบเปลี่ยนบุคลากรให้ “ทำน้อยแต่ได้งานมาก”
วันที่ 6 ส.ค. 2567 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน ประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิดชูองค์กรสุขภาวะ และร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กรเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีให้แก่บุคลากรของ กทม. ระหว่างกรุงเทพมหานคร และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมร่วมเสวนาพิเศษหัวข้อ “การสร้างเสริมองค์กรสุขภาวะเพื่อการพัฒนาเมือง” โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นางสาวอรัญญา พรไชยะ หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (ผอ. สำนัก 8) บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)
รศ.ทวิดากล่าวว่า งานนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. และ สสส. เพื่อออกแบบและสร้างองค์กรแห่งความสุข หรือ Happy Workplace วันนี้ถือเป็นการลงนามความร่วมมือ อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจปัญหาที่ทำให้บุคลากรเกิดความเครียด ไม่มีความสุข ว่าอยู่ในรูปแบบใดบ้าง หากพูดถึงเรื่องเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดฝอยแรกที่เราให้ความสำคัญคือประชาชน รองลงมาคือบุคลากร เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเองที่เราต้องดูแลด้วย ทั้งนี้ ด้วยจำนวนบุคลากรกว่า 83,000 คน เราอาจไม่มีเวลาไปทำความเข้าใจเงื่อนไขการใช้ชีวิตของทุกคนได้ ดังนั้น สสส. จึงเข้ามาช่วยในการออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความสุข ในขณะเดียวกันก็ต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องระบบขั้นตอนการทำงาน กฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานน้อยลงแต่ได้งานที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนธันวาคม 2566 กรุงเทพมหานครโดยสำนักงาน ก.ก. ได้ร่วมมือ สสส. และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะองค์กรของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร โดยรวบรวมข้อมูลจากข้าราชการ ลูกจ้าง สังกัดสำนัก และสำนักงานเขต พบว่ามีประเด็นท้าทาย เช่น ประเด็นด้านสุขภาพของบุคลากรมีน้ำหนักเกิน เนื่องจากไม่ออกกำลังกาย และ มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพ ประเด็นชีวิตการทำงาน พบว่าบุคลากรรู้สึกว่างานที่ทำมีความเครียดจากภาระงานมาก และงานเร่งด่วน ทำงานเกินเวลาเกินหน้าที่ กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับ สสส. จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 ในสำนักงานเขตนำร่อง 6 เขต ได้แก่ คลองเตย ตลิ่งชัน บางเขน มีนบุรี พระโขนง และภาษีเจริญ ซึ่งกิจกรรมตามแนวคิด “องค์กร สุขภาวะ” มีเป้าหมายในการสร้างความสุขให้แก่คนในองค์กร นอกจากการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพใจแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ส่งเสริมให้คนทำงานได้รับความสุขจากบรรยากาศการทำงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในองค์กร เป็น “องค์กรแห่งความสุข” ส่งผลให้เกิดความผูกพันต่อองค์กร ลดปัญหา Burn Out หรืออาการหมดไฟของคนทำงาน ซึ่งอาจช่วยลดอัตราการ สูญเสียข้าราชการกรุงเทพมหานครจากการลาออกและการโอนย้ายไปสังกัดอื่น โดยแนวทางการจัดกิจกรรม มุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในองค์กรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยสสส. และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯเป็นผู้อบรมพัฒนาความรู้ทักษะด้านการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะให้แก่ “นักสร้างสุของค์กร” เพื่อเป็นแกนนำสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ ผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงาน และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาวะของหน่วยงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดวัฒนธรรมองค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน
สำหรับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิดชูองค์กรสุขภาวะในวันนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กรเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีให้แก่บุคลากรกรุงเทพมหานครระหว่างกรุงเทพมหานครและสสส. ซึ่งจะร่วมเป็นภาคีที่จะช่วยกันพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นองค์กร สุขภาวะ ขยายผลจาก 6 เขตต้นแบบไปยังทุกหน่วยงาน และมีการเสวนาพิเศษ “การสร้างเสริมองค์กร สุขภาวะเพื่อการพัฒนาเมือง” ที่พูดถึงเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการในมิติต่างๆ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากร
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 ส.ค. 2567