น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. เปิดงานประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิดชูองค์กรสุขภาวะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อออกแบบและสร้างองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace)ว่า เป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการในการร่วมกันทำความเข้าใจปัญหาที่ทำให้บุคลากรเครียด ไม่มีความสุข ว่าอยู่ในรูปแบบใดบ้าง เพราะหากพูดถึงเส้นเลือดฝอยแรกที่ให้ความสำคัญก็คือประชาชน รองลงมาคือบุคลากร เจ้าหน้าที่กทม.ที่ต้องได้รับการดูแลด้วย
“ด้วยจำนวนบุคลากรกว่า 83,000 คน อาจไม่มีเวลาไปทำความเข้าใจเงื่อนไขการใช้ชีวิตของทุกคนได้ สสส. จึงเข้ามาช่วยออกแบบกิจกรรมสร้างสุข ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาระบบขั้นตอนการทำงาน กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานน้อยลงแต่ได้งานที่มากขึ้น”
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค. 66 ได้ร่วมมือกับ สสส. และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจสถานการณ์สุขภาวะองค์กรของหน่วยงานกทม. โดยเก็บข้อมูลจากข้าราชการ ลูกจ้าง พบมีประเด็นท้าทายหลายประการ เช่น ด้านสุขภาพของบุคลากรมีน้ำหนักเกิน เพราะไม่ออกกำลัง กาย และมีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องชีวิตการทำงาน พบว่าบุคลากรรู้สึกว่างานที่ทำมีความเครียดจากภาระงานมาก และเร่งด่วน ทำงานเกินเวลา เกินหน้าที่ ดังนั้น ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ที่ผ่านมา จึงร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างเสริม สุขภาวะในสำนักงานเขตนำร่อง 6 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย เขตตลิ่งชัน เขตบางเขน เขตมีนบุรี เขตพระโขนง และเขตภาษีเจริญ
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวนอกจากเป้าหมายสร้างสุขในองค์กร เสริม สุขภาพกาย-ใจแล้ว ปัจจัยสำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ส่งเสริมให้คนทำงานได้รับความสุขจากบรรยากาศการทำงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในองค์กร ส่งผลให้เกิดความผูกพัน ลดอาการหมดไฟของคนทำงาน หรือปัญหา Burn Out ซึ่งอาจช่วยลดอัตราสูญเสียข้าราชการ กทม. จากการลาออกและการโอนย้ายไปสังกัดอื่นได้.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 ส.ค. 2567 (กรอบบ่าย)