Search
Close this search box.
คอลัมน์ Life and City: ‘บรรทัดทอง’สวยไร้สาย หนุนสามย่าน Smart City

ถ้าพูดถึงย่านอาหารอร่อยใจกลางกรุงและได้รับความนิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  หลายคนยกให้ ‘ย่านบรรทัดทอง-สามย่าน’ เป็นสวรรค์ของนักชิม มาพื้นที่นี้ได้ลิ้มรสความอร่อยที่หลากหลาย พร้อมสัมผัสบรรยากาศย่านอาหารริมทาง หรือ Thai Street Food มีทั้งร้านดังในตำนาน ร้านระดับมิชลิน แม้จะเป็นร้านอาหารริมทาง แต่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจัดโซนนิงร้านอาหาร และมีเอกลักษณ์ชัดเจน ต้องตาต้องใจ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สายสื่อสารรกรุงรังระโยงระยางพาดบนเสาไฟฟ้าในพื้นที่ ทำลายทัศนียภาพของย่านนี้ และสายสื่อสารหลุดห้อย ทำให้ชุมชน ผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาใช้บริการในย่านนี้ไม่ปลอดภัย นำมาสู่ความพยายามจัดระเบียบสายสื่อสารนำลงใต้ดิน ล่าสุด มีความคืบหน้าโครงการ “จัดระเบียบสายสื่อสาร พื้นที่สามย่าน-บรรทัดทอง-สวนหลวง” ภายใต้แนวคิด “CU POWER OF TOGETHERNESS” เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการสื่อสาร ความปลอดภัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยทัศนียภาพสวยงามให้แก่ชุมชน เป้าหมายสู่ย่านบรรทัดทองสวยไร้สาย ขับเคลื่อนการพัฒนาโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานเขตปทุมวัน และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังในพื้นที่สามย่าน-บรรทัดทอง-สวนหลวง ส่งผลกระทบทั้งด้านความสวยงามและความปลอดภัย สายสื่อสารที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่เพียงแต่ทำให้ทัศนียภาพของพื้นที่ดูไม่น่ามองแล้ว แต่ยังสร้างความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ และส่งผลต่อเสถียรภาพของการใช้บริการอินเทอร์เน็ตภายในพื้นที่อีกด้วย โครงการนี้เรายึดถือการพัฒนามหาวิทยาลัยและพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ PMCU โดยสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาย่านนี้ให้เป็น Thailand’s Street Food Representative แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่ทุกคนต้องไม่พลาด

“การจัดระเบียบสายสื่อสารในสามพื้นที่เป็นการสร้างความสุขให้ชาวกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่ทำให้พื้นที่สวยงามมากขึ้น เป็น Smart Happyness of Bangkok ยังเป็นพลังสร้าง Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ศ.ดร.วิเลิศระบุ

สำหรับขอบเขตการจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดบนเสาไฟฟ้าบริเวณย่านเศรษฐกิจและแหล่งรวมสตรีทฟู้ดนี้ ครอบคลุมพื้นที่สามย่าน-บรรทัดทอง-สวนหลวง กว่า 600 ไร่ รองรับการใช้งานพื้นที่สามย่านสมาร์ทซิตี้ โดยจะดำเนินการตัดและรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานออกทั้งหมด โดย PMCU ได้เตรียมการมากว่า 1 ปี ในการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงใหม่ (Fiber Optic Cable) โดยได้บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างดำเนินการ เพื่อใช้ทดแทนสายสื่อสารเดิม และรื้อถอนสายสัญญาณสื่อสารเดิมที่พาดบนเสาไฟฟ้าทั้งหมด สร้างเสถียรภาพของระบบสื่อสารภายในพื้นที่ ปรับปรุงทัศนียภาพ ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุแก่ผู้สัญจรบนทางเท้า และลดความเสี่ยงจากไฟไหม้ สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปัจจุบันการติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการแล้ว ซึ่ง PMCU ได้ให้สิทธิบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการการใช้โครงข่ายเป็นเวลา 10 ปี

ศ.ดร.วิเลิศกล่าวด้วยว่า นอกจากนำสายไฟลงใต้ดิน PMCU ได้เตรียมการที่จะร่วมกับกรุงเทพมหานครในการปรับปรุงงานกายภาพ สาธารณูปโภคอื่นๆ ในพื้นที่สามย่าน-บรรทัดทองสวนหลวง อย่างต่อเนื่อง อาทิ ทางเดินเท้า ไฟส่องสว่าง การจัดการขยะเศษอาหาร จุดรับ-ส่งอาหาร การบำบัดน้ำทิ้งน้ำเสียในคลองสวนหลวง เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่บรรทัดทองมีทัศนียภาพ ที่ดี สวยงามสะอาดตา และเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องปักหมุดเช็กอินอีกที่หนึ่งในฐานะแลนด์มาร์กแห่งการท่องเที่ยวสำคัญกลางกรุงเทพฯ ที่ต้องมาเยือน

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่ตรวจดูสภาพสายสื่อสารที่รกรุงรัง บางจุดอยู่เหนือศีรษะของประชาชนคนเดินเท้าจนสามารถเอื้อมมือไปสัมผัสได้ กล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารดังกล่าว ขอบคุณ PMCU ที่ให้ความสำคัญกับงานกายภาพและระบบสาธารณูปโภคที่มีการปรับปรุงและร่วมพัฒนาย่านเศรษฐกิจที่สำคัญโดยคำนึงถึงผู้มาใช้บริการ รวมถึงผู้อยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและมีความยั่งยืน โครงการจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นหนึ่งในนโยบายของ กทม. ที่ให้ความสำคัญและเร่งผลักดัน ปี 2567 นี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และหน่วยงานภาคี มีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จำนวน 27 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 54.6 กิโลเมตร และยังจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 122 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 269.6 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายจะนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 300 กิโลเมตรต่อปี ทั้งนี้ สายสื่อสารที่พาดผ่านแนวสายไฟฟ้าต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสายตายที่ไม่ได้ใช้งานเฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์

“ถนนบรรทัดทองเป็นถนนสายสำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่มีนักท่องเที่ยวและมีผู้ใช้บริการมาเยี่ยมเยือนจำนวนมากในแต่ละวัน กทม. ยินดีสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมย่านนี้ให้ดียิ่งขึ้น ให้เป็นย่านที่เดินได้ เดินดี มีความปลอดภัย แสงสว่างเพียงพอ และมีทัศนียภาพที่สวยงาม โดยถนนบรรทัดทอง กทม.มีนโยบายปรับปรุงทางเท้าอยู่แล้ว จึงถือโอกาสบูรณาการร่วมกันในการจัดระเบียบสายสื่อสารด้วย” รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว

ทั้งนี้ สายสื่อสารไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะย่านสามย่าน บรรทัดทอง สวนหลวง แต่เป็นปัญหาที่ใหญ่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เพื่อการจัดการเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ในฝั่งการไฟฟ้านครหลวงมีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 230 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งกรุงเทพฯ มากกว่า 2,000 กิโลเมตร ส่วนสายสื่อสารจะถูกจัดระเบียบตามลงไปด้วย อีกส่วนเป็นการตัดสายสื่อสารให้เป็นระเบียบ ซึ่งจะทยอยดำเนินการ

ส่วนแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสาย ของ กสทช.ปี 2567 ประกอบด้วย การจัดระเบียบสายสื่อสาร 151 เส้นทาง ระยะทาง 440.21 กม. และการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน จำนวน 32 เส้นทาง ระยะทาง 67.02 กม.

หากแต่ละย่านของกรุงเทพฯ นำร่องนำสายสื่อสารลงดิน จะเป็นการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอัจฉริยะและมหานครไร้สาย แต่ในความจริงไม่ใช่ทุกพื้นที่จะทำได้ทันที รวมถึงราคาที่แพงกว่าการพาดสายบนเสาไฟฟ้า คงต้องติดตามการจัดระเบียบสายสื่อสารกันต่อไป.

 



ที่มา:  นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 4 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200