Search
Close this search box.
‘สมศักดิ์’ชงครม.เพิ่มหมอ-พยาบาล 26ส.ค.ดีเดย์กทม.30บาทรักษาทุกที่

‘เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง’คิกออฟ’30 บาท รักษาทุกที่ ในกรุงเทพฯ’ 26 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยถึงความ คืบหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ว่า ในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 จะมีการคิกออฟ (Kick Off) โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในชื่อ “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” โดยจะเป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ หลังได้รับความ ร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความพร้อมที่จะให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯได้ ซึ่งจะมีการคิกออฟโครงการที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้จะมีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ (Logo) 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อใช้ในการรับรองคุณภาพและการเข้าร่วมโครงการ ของหน่วยบริการ ทั่วประเทศ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ในการเข้ารับบริการของประชาชนด้วย

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า การคิกออฟจะเป็นการตอกย้ำการเดินหน้านโยบายนี้ของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี นอกจากจะมอบป้ายและโล่ตราสัญลักษณ์ 30 บาทให้ผู้แทน 7 หน่วยนวัตกรรมบริการแล้ว ยังจะปาฐกถาพิเศษ “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” ขณะที่ น.ส.แพทองธารจะกล่าวปาฐกถา “จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อให้เห็นการผลักดันโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนี้ เป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาล ในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย พร้อมเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ในการเข้าถึงสิทธิและบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์เปิดเผยอีกว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 สิงหาคมนี้ ตนจะเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ ระยะ 10 ปี ให้ ครม.รับทราบ ตามที่มติ ครม.วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบการแก้ไขปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุข พร้อมให้ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มีจำนวนเพียงพอ จึงจะเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนฯ ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุข อย่างสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยจะช่วยแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข และรองรับนโยบายสำคัญ อย่างยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และนโยบายศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) ด้วย

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนฯ จะมีแผนเร่งผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ แผนนี้จะให้ความสำคัญในทุกวิชาชีพเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในทุกมิติ โดยแพทย์ ปัจจุบันมีจำนวน 71,616 คน มีเป้าหมายเพิ่มภายใน 10 ปี เป็น 102,690 คน ซึ่งต้องมีการผลิตเพิ่ม 31,074 คน ทำให้ต้องมีการผลิตเพิ่มต่อปีเป็น 4,000 คน จะทำให้อัตราส่วนแพทย์ ต่อประชากรลดลงด้วย จากปัจุบัน 1 ต่อ 922 จะเป็น 1 ต่อ 650 ส่วนพยาบาล ปัจจุบันมี 209,187 คน คิดเป็นสัดส่วนพยาบาลต่อประชากร 1 ต่อ 316 โดยในเป้าหมายยุทธศาสตร์กำลังคน 10 ปี จะมีพยาบาลต่อประชากร 1 ต่อ 200 หรือมีพยาบาลอย่างน้อย 333,745 คน เท่ากับยังขาดพยาบาลอีก 124,558 คน จึงมีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 3 แนวทาง

“1.เพิ่มการผลิตพยาบาล จากเดิมผลิตได้ปีละ 12,000 คน เป็น 15,000 คน ทำให้ในระยะ 10 ปี จะมีพยาบาลเพิ่ม 30,000 คน 2.เพิ่มการผลิตผู้ช่วยพยาบาลหลักสูตร 1 ปี จำนวน 10,000 คนต่อปี ในระยะ 3 ปีแรก รวม 30,000 คน 3.เพิ่มการจ้างผู้เกษียณเข้าทำงานในระบบ รวมถึงจ้างพยาบาลเกษียณ เป็นอาจารย์ในภาคการศึกษา หรือภาควิชาการของโรงพยาบาล จำนวน 375 คน นอกจากนี้ ยังมีแผนการรักษาบุคลากรให้คงอยู่ในระบบด้วย โดยเพิ่มกรอบตำแหน่งบรรจุพยาบาล 8,000 ตำแหน่ง เพิ่มเงินพิเศษค่าประกอบวิชาชีพในสาขาขาดแคลน เดือนละ 5,000 บาท จำนวน 170,000 คน สนับสนุนทุนการพัฒนาศักยภาพการพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อจูงใจให้อยู่ในระบบมากขึ้น จำนวน 27,786 ทุน จำนวนทุนละ 60,000 บาท สนับสนุนทุนการศึกษาพยาบาลและตำแหน่งบรรจุข้าราชการ จำนวน 57,000 ทุน จำนวนทุนละ 160,000 บาท พร้อมเพิ่มความก้าวหน้า ให้พยาบาลวิชาชีพ สามารถเลื่อนไหลในระดับชำนาญการพิเศษได้ทุกตำแหน่ง รวมถึงเพิ่มกรอบผู้ช่วยพยาบาล ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กด้วย” นายสมศักดิ์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนฯ ไม่ได้เพิ่มแค่แพทย์และพยาบาลเท่านั้น โดยเป็นการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระบบ เช่น เภสัชกร ที่ปัจจุบันมี 24,149 คน มีเป้าหมายเพิ่มใน 10 ปี เป็น 33,949 คน หรือต้องผลิตเพิ่ม 9,800 คน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนการผลิตต่อปี 1,900 คน ทันตแพทย์ ปัจจุบันมี 18,094 คน มีเป้าหมายเพิ่มใน 10 ปี เป็น 22,200 คน หรือต้องผลิตเพิ่ม 4,106 คน โดยปัจจุบันมีจำนวนการผลิตต่อปี 850 คน แพทย์แผนไทย ปัจจุบันมี 5,825 คน มีเป้าหมายเพิ่มใน 10 ปี เป็น 23,994 คน หรือต้องผลิตเพิ่ม 18,169 คน และ นักสาธารณสุข ปัจจุบันมี 29,756 คน มีเป้าหมาย เพิ่มใน 10 ปี เป็น 66,749 คน หรือต้องผลิตเพิ่ม 36,993 คน

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วน สปสช. ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายฯในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการภายใต้บทบาทและหน้าที่ของ สปสช. ทั้งการเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรม ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ การจัดหาหน่วยบริการทุติยภูมิ เพิ่มเติม เพื่อลดความแออัดหน่วยบริการ ตติยภูมิ ยกระดับ Contact Center 1330 เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนและหน่วยบริการ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก รวมถึงการจัดระบบสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

“ส่วนการเข้ารับบริการของประชาชน นอกจากการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตามสิทธิของท่านแล้ว ยังสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรม 7 แห่ง ประมาณ 1,500 แห่ง โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ที่จะมีการเปิดตัว ได้แก่ ร้านยาคุณภาพ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวก และลดความแออัดได้อีก ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ เช่น บริการการแพทย์ทางไกล เจาะเลือดที่บ้าน รถรับส่งผู้ป่วย รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และตู้เทเลเมดดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐสังกัดต่างๆ นั้น จะเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วย” นพ.จเด็จกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า สำหรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น ล่าสุดมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” โดยจะมีการเปิดตัวโลโก้ใหม่ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200