บีทีเอสโชว์หนี้ กทม.ค้างค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง “รถไฟฟาสีเขียว” รวม 4 หมื่นล้านบาท “คีรี” แบไต๋เปิดทางเจรจายันศาลชี้สัญญาจ้างเดินรถ เป็นสัญญาทางปกครอง ไม่โมฆะ เปิดข้อได้เปรียบกินยาวผูกเส้นทางหลัก หลังหมดสัมปทานปี 72 ยันต้องจ้างรวมตลอดสายไปถึงปี 85 ขณะที่ “ชัชชาติ” เร่งระดมสมองศึกษาละเอียดต่อสัมปทานรถไฟฟาบีทีเอส ที่จะหมดปี 2572 ยอมจ่ายหนี้ที่ต้องจ่ายอีก 4 หมื่นลบ.จับตาหาทางออกจะดิ้นต่ออย่างไร
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่- บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง (หนี้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (หนี้ช่วง เดือนเมษายน 2560 ถึงพฤษภาคม 2564) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท นั้น นับเป็นเรื่องที่บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี
“คีรี” ยันสัญญาถูกต้องก่อนลงนาม
สำหรับข้อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ ทำงานอยู่บน พื้นฐานของความถูกต้อง ซึ่งได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงใน เรื่องเหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน รับทราบ มาโดยตลอด
ทั้งนี้นายคีรี กล่าวยืนยันคำพูดที่ว่า บีทีเอสทำงานบน พื้นฐานความถูกต้องและได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอนเพราะบีทีเอสเป็นบริษัทมหาชน
เปิดยอดหนี้แบกดอกเบี้ยวันละ 7 ล้านบาท/ วัน
ดังนั้นบริษัทต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้โดยสาร ที่ยืนยันเสมอมาว่าจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน ที่สำคัญคำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป เพราะสัญญาไม่มีอะไรผิด การจัดซื้อจัดจ้างไม่ผิด
“ผมได้รับทราบ เบื้องต้นทาง กทม. พร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท แต่อยากให้ กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วย เพราะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งนับถึงปัจจุบัน ยอดหนี้รวมทั้งหมดเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หาก กทม.และ KT ยังไม่รีบดำเนินการ ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ทุกวัน ที่ผ่านมาเราต้องกู้เงินมาจ่ายค่าพนักงาน ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เราเป็นเอกชน คงไม่มีเอกชนไหนที่จะเป็นไฟแนนซ์ให้รัฐบาลได้เหมือนเราอีกแล้ว ภาระดอกเบี้ยปีละ 2,600 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 7 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่ง รายได้ ซึ่งเทียบกับMLR + 1 หรือคิดเป็นประมาณ 8% ขณะที่โครงการนี้ มี IRR ประมาณ 9-12% เราได้ 8% ไม่ใช่ เรื่องนี้ จริงๆ เพราะเราต้องการเงินไปลงทุนมากกว่ารอดอกเบี้ยหนี้ค้างชำระแบบนี้
แบไต๋พร้อมเจรจากับ กทม.และ KT
อย่างไรก็ตาม บีทีเอส ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับ กทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เหล่านั้นมีความ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่าง ต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ตามคำสั่งศาลภายใน 180 วันทั้งนี้ หนี้ที่ได้รับมาบริษัทจะนำไปลงทุนพัฒนาในธุรกิจของบริษัทต่อไป
หลังปี 72 ต้องจ้างบีทีเอสเดินรถเส้นทางหลักรวมต่อขยายถึงปี 85
นายคีรีกล่าวว่า คำพิพากษาของศาลชี้ชัดว่า สัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่สิ้นสุดปี 2585 นั้นถูกต้อง ซึ่งสัญญานี้จะครอบคลุมไปถึงส่วนของการเดินรถเส้นทางหลัก ที่สัมปทานจะหมดในปี 2572 ว่า กทม.และ KT จะต้องจ้างบริษัทเดินรถและซ่อมบำรุงในส่วนเส้นทางหลักนี้ ไปจนถึงปี 2585 รวมไปด้วยเป็นตลอดสาย เส้นทางหลัก ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60 กม. เพราะ กทม.ต้องการให้สายสีเขียวทั้งเส้นทางเป็นระบบเดียวกัน
ทั้งนี้ กรณีที่ กทม. จะศึกษา PPP หาเอกชนร่วมลงทุนในส่วนของเส้นทางหลักหลังสัมปทานสิ้นสุดปี 2572 นั้นย่อมทำได้ แต่ตามเงื่อนไขนี้ ไม่ว่าใครจะเข้ามารับสัมปทานส่วนหลัก จะต้องจ้างบีทีเอสเดินรถและซ่อมบำรุงต่อไปอีก 13 ปี หรือจนถึงปี 2585 ซึ่งต้องรอดู ว่า กทม.จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งวันนี้ ทาง กทม.ได้เริ่มจ้างที่ปรึกษามาคิดแล้วว่า หลังสัมปทานหมดปี 2572 จะทำอย่างไรต่อไป
เปิดจุดได้เปรียบก่อนหมดสัญญา 3-5 ปีบีทีเอสได้สิทธิต่อสัมปทานได้
ขณะที่สัมปทานเส้นทางหลัก ระบุไว้ว่า ก่อนสัญญาหมด 3-5 ปี บริษัทสามารถยื่นร้องขอกทม.ในการต่อสัมปทาน ได้ ส่วนจะยื่นหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนภายใต้ความเป็นจริง ภาวะเศรษฐกิจ และภาวะการเดินทางของผู้คนที่ไม่เหมือนเดิม ไม่อยากออกจากบ้านเหมือนเดิม แต่ก็ยัง เชื่อมั่นว่าระบบรางยังเป็นการเดินทางที่แก้ปัญหาจราจรดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ตนมองว่าไปได้ทั้ง 2 ทาง คือรับจ้างเดินรถทั้งสาย ไปถึงปี 2585 หรือ ยื่นสัมปทาน หลังปี 2572
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กล่าวว่าสัญญาจ้างเดินรถ มี 2 ฉบับ คือ สัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และ สัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งบีทีเอสไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562 จนกระทั่งผ่านไป 2 ปี จึงยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ยอดหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็น ยื่นฟ้อง (ค่า O&M 1) ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนกว่า 39,402 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้
การฟ้องครั้งที่ 1 ค่าจ้างช่วงเดือน พ.ค. 2562-เดือน พ.ค. 2564 คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้ กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับ บีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท
2. ฟ้องครั้งที่ 2 ค่าจ้างช่วงเดือนมิถุนายน 2564-เดือนตุลาคม 2565 ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้ กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
3. หนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 ที่ค้างชำระตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงมิถุนายน 2567 เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท เป็นส่วนที่ยังไม่ได้ฟ้อง
4. ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคตตั้งแต่ปัจจุบัน (เดือน มิ.ย. 2567 จนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ.2585 ที่หาก กทม.และ KT ยังไม่จ่ายก็จะเป็นหนี้ในอนาคตต่อไป
ยันศาลชี้ชัด สัญญาจ้างเดินรถเป็นสัญญาทางปกครอง ไม่โมฆะ
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บีทีเอส กล่าวว่าคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ ที่ประกอบด้วยตุลาการศาลปกครอง 50 คน ผลของการพิจารณาศาลสรุปได้ 9 ประเด็น เช่นเรื่องสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วสัญญาไม่ได้เข้าร่วมตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ บีทีเอสได้รับสัมปทานเส้นทางหลักจึงเป็นผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับการให้บริการเดินรถ และเพื่อให้การเดินรถส่วนหลักและส่วนต่อขยายเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเพื่อ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงเข้าลักษณะการ จัดจ้างวิธีพิเศษตามข้อบังคับ กทม.ดังนั้นสัญญาจ้างเดินรถ ทั้ง 2 ฉบับ ไม่เป็นโมฆะ และถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ทั้งนี้ กทม.และ KT ต้องจ่ายเงินให้บีทีเอสเท่าไหร่ สรุปว่า ต้องจ่ายเงินให้จำนวน 11,755 ล้านบาท ดอกเบี้ย MLR +1 นับตั้งแต่วันฟ้องคดีจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนกรณี ปปช. กล่าวหาบีทีเอสทำผิดเรื่องสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายศาลพิจารณาแล้วไม่มีผลต่อสัญญา เพราะยังไม่มีการชี้มูล ความผิด เป็นต้น
“ชัชชาติ” ระดมสมองยอมรับคำสั่งศาลจ่ายหนี้ 4 หมื่นลบ.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการชำระหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ยอมรับคำสั่งศาล โดยจะเร่งการประชุมใหญ่เพื่อ หาข้อสรุประหว่าง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ซึ่งมีการวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลโดยละเอียด และ มีบางจุดที่เป็นประเด็นจากศาล ต้องศึกษารายละเอียดให้ รอบคอบ ตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาและหาแนวทางในการปฏิบัติ
นายชัชชาติกล่าวว่า ในส่วนความผิดคือการหยุดชำระ หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ใน ช่วงประมาณปี 2562 เพราะมีคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติต่อสัญญาสัมปทานไปจนถึงปี 2603 โดยรวม ค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆไว้ในสัญญาสัมปทาน แต่ ครม.ยังไม่มีการออกมติมา ทำให้ทางบีทีเอสฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้ กทม.ชำระเงิน ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2
ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ระบุว่า กทม. ไม่ต้องรอมติ ครม. โดยให้จ่ายเงินตามภาระที่เกิดขึ้น รวมถึงระบุดอกเบี้ยมาด้วย ซึ่งก็ทำให้ กทม.มีภาระและความกดดันเพิ่มมากขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 2,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาทแต่ค่าโดยสารที่เก็บได้ เป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณมาจ่ายส่วนต่างในการเดินรถ จำนวน 6,000 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณที่ กทม.ได้รับปีละ 90,000 ล้านบาท เมื่อต้องหักไปจ่ายหนี้ 6,000 ล้านบาท รวมทั้งมูลหนี้ที่เหลือ รวมแล้วเกือบ 40,000 ล้านบาท ก็จะเป็นภาระของคนกรุงเทพฯ ทุกคน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 140 วัน และจะพยายามให้การดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ตามคำสั่งศาล แต่ต้องไปดูคำสั่งศาลให้ถี่ถ้วน เพราะข้อมูลบางตัวอาจจะไม่เป็นปัจจุบัน
“กทม.ต้องหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่า จะมีวิธีใดที่จะช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้ และการต่อสัญญาสัมปทานที่จะหมดในปี 2572 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ละเอียดต่อไปอีกที” นายชัชชาติกล่าว
จับตาทางดิน กทม.จะเลือกทางออกอย่างไร
สำหรับการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว หาก กทม. สามารถชำระหนี้ได้หมด BTS ก็จะเป็นผู้รับจ้างเดินรถ ไปจนถึงปี 2585 กทม. จะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร ได้เอง รายได้ทั้งหมดจะเป็นของ กทม. โดย กทม. จะต้องแบกรับความเสี่ยงเองทั้งหมด
หาก กทม. ไม่สามารถชำระหนี้ได้หมด กทม. อาจจะต้องขยายสัมปทานให้ BTS โดย BTS จะต้องรับภาระหนี้แทน กทม. และจะต้องแบกรับความเสี่ยงเองทั้งหมด
อีกไม่นานก็คงรู้ว่า BTS จะมีบทบาทในรถไฟฟา สายสีเขียวในฐานะผู้รับจ้างเดินรถหรือผู้รับสัมปทานแบบเดิมต่อไป .
ที่มา: นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2567