Search
Close this search box.
‘ชัชชาติ’กำชับหน่วยงานเตรียมข้อมูล พร้อมชี้แจงงบประมาณปี’68ต่อคณะกก.

“ชัชชาติ” ย้ำหน่วยงานเตรียมข้อมูล ชี้แจงงบปี’68 วงเงิน 90,828 ล้าน – งบแปร / สภากทม. ตั้งคกก.วิสามัญฯ 37 คน “สก.กนกนุช” ประธาน พิจารณา ภายใน 45 วัน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้เน้นย้ำเรื่อง ข้อบัญญัติฯงบประมาณ ซึ่งได้ผ่านวาระ 1 สภากรุงเทพมหานคร สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจากนี้จะเป็นช่วง 2 สัปดาห์ที่ต้องให้ข้อมูลต่อ คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 รวมถึงเรื่องงบแปร ซึ่งไม่ใช่เรื่อง ผิดปกติ เพราะงบประมาณที่เสนอ ไปนั้นทางคณะกรรมการฯ จะมีการตัดออกเนื่องจากอาจมีความ ไม่สมบูรณ์หรือไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม และเพื่อให้ งบประมาณไม่ขาดหายไปเราก็สามารถ แปรญัตติเพิ่มเข้าไปในโครงการที่จำเป็นซึ่งเป็นเรื่องปกติ จึงต้องเตรียม ทั้ง 2 ส่วน ทั้งส่วนที่ต้องอธิบาย ตัวงบประมาณในเล่ม และที่จะใส่เพิ่ม เข้าไปหากมีการตัดงบประมาณออก ทั้งนี้เพื่อให้งบประมาณยังคงอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 5 ประจำปี 2567 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้เสนอ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 90,828,531,580 บาท จำแนกเป็น งบประมาณรายจ่าย ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 90,000,000,000 บาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 90,000,000,0000 บาท โดยจ่ายจากรายได้ประจำของกรุงเทพมหานคร จำนวน 90,000,000,000 บาท และ งบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 828,531,580 บาท แบ่งเป็น รายจ่าย ประจำ จำนวน 825,231,580 บาท โดยจ่ายจากรายได้ประจำของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,000,853,392 บาท รายจ่ายพิเศษ จำนวน 3,300,000 บาท โดยจ่ายจากกำไรสะสมของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,300,000 บาท

โดยนายชัชชาติ ได้แถลงต่อสภากทม. ถึงเหตุผลความจำเป็นว่า เป็นการกำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร โดย กทม. มีเงินฝากธนาคาร 94,021.74 ล้านบาท รายรับหักรายจ่ายสุทธิ 19,469.51 ล้านบาท รายรับพิเศษหักรายจ่ายพิเศษสุทธิ 176.11 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณ ที่มีภาระผูกพัน 2,997.24 ล้านบาท เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ยังไม่เบิก 7,125.84 ล้านบาท เงินสะสมกรุงเทพมหานครคงเหลือ 55,379.79 ล้านบาท ทุนสำรองเงินคงคลังกรุงเทพมหานคร 8,873.25 ล้านบาท นอกจากนี้ กทม.มีภาระหนี้ ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 จำนวน 178 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 80,524.67 ล้านบาท โครงการที่มี วงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาท 61,659.69 ล้านบาท โครงการที่มี วงเงิน 500-1,000 ล้านบาท 11,516.85 ล้านบาท และโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท 7,348.13 ล้านบาท

ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณที่จะต้องเกิดความคุ้มค่า ประหยัด โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ

โดยนำงบประมาณมาดำเนินการตามนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน วงเงิน 24,431 ล้านบาท แบ่งเป็น เดินทางดี 10,959 ล้านบาท สิ่งแวดล้อมดี 6,643 ล้านบาท ปลอดภัยดี 2,801 ล้านบาท สุขภาพดี 2,298 ล้านบาท สังคมดี 676 ล้านบาท เรียนดี 491 ล้านบาท บริหารจัดการดี 376 ล้านบาท โปร่งใสดี 99 ล้านบาท และ เศรษฐกิจดี 88 ล้านบาท และเพื่อเส้นเลือดฝอย 13,340.97 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ทั้งการปรับปรุงถนน ตรอก ซอย ทางเดินเท้า ลานกีฬา สวนสาธารณะ ไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบระบายน้ำขุด ลอกคูคลอง ปรับปรุงโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

จำแนกด้านตามลักษณะงาน 1.ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการ 17,427.32 ล้านบาท 2.ด้าน ความปลอดภัยและความเป็นระเบียบ เรียบร้อย 313.60 ล้านบาท 3.ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 233.29 ล้านบาท 4.ด้านเมืองและการ พัฒนาเมือง 14,031.64 ล้านบาท 5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม 11,436.91 ล้านบาท 6.ด้านสาธารณสุข 3,823.15 ล้านบาท 7.ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 1,777.24 ล้านบาท 8.ด้านการศึกษา 1,049.97 ล้านบาท 9.การจัดบริการ ของเขต 20,173.23 ล้านบาท 10.รายจ่าย งบกลาง 16,796.53 ล้านบาท และ 11.รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงาน ในกำกับ 2,937.12 ล้านบาท

ซึ่งที่ประชุมสภากทม. สมาชิก สภากรุงเทพมหานคร (สก.) ได้ร่วมกัน อภิปรายร่างข้อบัญญัติดังกล่าวอย่าง กว้างขวาง ใช้เวลา 2 วัน (30-31 ก.ค.) และได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 37 คน เป็น สก. 27 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 14 คน ก้าวไกล 6 คน พรรคประชาธิปัตย์และ ไทยสร้างไทย 6 คน อิสระ 2 คน และ ผู้บริหาร 9 คน โดยที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ มีมติให้นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง เป็นประธานกรรมการ นายสารัช ม่วงศิริ สก.เขตบางขุนเทียน เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง นายพีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สาม นางสาววิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษา ของผู้ว่าฯกทม. เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สี่ นางสาวปิยะวรรณ จระกา สก.เขตสวนหลวง เป็นเลขานุการคณะฯ ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ จะประชุมฯ ให้หน่วยงาน เข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการใช้งบประมาณแต่ละรายการ เพื่อพิจารณา เริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้ไป โดยใช้เวลา 45 วัน และ กำหนดเวลาในการแปรญัตติ 15 วัน

 

บรรยายใต้ภาพ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200