Search
Close this search box.
ชี้ปมใช้หนี้หมื่นล้านรถไฟฟ้าสีเขียว

กทม.เป๋าฉีก-ยืดรับโอนส่วนต่อขยายที่2จาก’รฟม.’

ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ตนได้เรียกสำนักการคลัง สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักกฎหมาย สำนักงบประมาณ ประชุมเพื่อวางกรอบแนวทางการดำเนินงานตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เรื่องการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 จำนวน 12,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี)

นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นได้วางกรอบการดำเนินงาน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การศึกษารายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 2.การดำเนินการในอนาคตเรื่องหนังสือสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ควรทำให้ถูกต้อง เนื่องจากยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภากทม. 3.เรื่องที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้ชี้มูลความผิดคดีจ้างบีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายและเส้นทางหลักรวม 3 เส้นทางไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันใน 2585 เมื่อเดือน ก.ย.2566 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งต้องศึกษาให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาภายหลัง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 140 วัน โดยจะนัดประชุมหารือเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค.นี้

“ที่กังวลคือเรื่องการจ่ายเงินในอนาคต เนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่เคยผ่านการพิจารณาจากสภากทม. จะทำอย่างไรให้ถูกต้อง และการแบกรับส่วนต่างต่อปีจากค่าเดินรถในอนาคต ซึ่งไม่ทราบว่าการทำสัญญาลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะ กทม.ต้องแบกรับภาระมาก ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องยากที่จะขึ้นค่าโดยสาร เช่น เก็บเพิ่มเป็น 60 บาท เพื่อมาชดเชยส่วนต่าง เพราะประชาชนคงไม่ใช้บริการ” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตอนนี้กังวลเรื่องส่วนต่างค่าจ้างเดินรถในอนาคตที่ต้องแบกรับแต่ละปีนั้น ปัจจุบันค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท เก็บค่าโดยสารได้ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยค่าโครงสร้างพื้นฐานปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท กทม.จึงยังไม่รับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 จากรฟม. เพราะรับภาระไม่ไหว

 



ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 3 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200