Search
Close this search box.
พลิกปูม “คนไร้บ้าน” ปักหมุด กทม. สูงสุด “เซย์โน” ไม่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ

สถานการณ์ “คนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน” เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย แม้ทางการจะมีแนวทางกำกับดูแลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพวกเขาผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อีกทั้ง “คนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน” จำนวนไม่น้อยปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐ

ดังเช่นกรณีของกลุ่มคนไร้บ้านอาศัยหลับนอนบริเวณป้ายรถเมล์สร้างใหม่ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียถ่ายคลิปแชร์บนโลกออนไลน์ พร้อมบรรยายถ่ายระบุช่วงเวลา 00.23 นาที ระหว่างจะมานั่งรอรถประจำทางกลับบ้านแต่ไม่มีที่นั่ง จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

กลายเป็นประเด็นเผือกร้อนถึง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี โทรศัพท์สายตรงสั่งการกำชับให้ “นายวราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แก้ปัญหาทันที

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าสถานการณ์ “คนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน” ทาง กระทรวง พม. มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้ส่งทีมหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ศรส. จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ ตรวจสอบทันที ปรากฏว่าพบกลุ่มคนไร้บ้านในที่สาธารณะ จำนวน 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน ซึ่งมีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย 2 คน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ ศรส. ได้พยายามพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านในการเข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครองในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ทั้งหมดประสงค์ไม่เข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครอง เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในบริเวณดังกล่าว รายได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องมาอาศัยป้ายรถเมล์เป็นที่หลับนอน และบางรายเพิ่งพ้นโทษ ไม่รู้ว่าจะขอรับความช่วยเหลือได้อย่างไร ในขณะที่ผู้สูงอายุมีปัญหาครอบครัว ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเจ้าตัวปฏิเสธในการเข้ารับการคุ้มครอง เป็นโจทย์ต้องแก้กันว่ากฎหมายในปัจจุบันที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ต้องมีมาตรการจูงใจให้มากขึ้น รวมทั้ง ต้องมีความเข้มงวดหรือว่าเพิ่มความเข้มในบทลงโทษให้มากขึ้น เพราะเมื่อเจ้าตัวปฏิเสธในการเข้ารับการคุ้มครอง หรือว่าเข้ารับการฝึกวิชาชีพต่างๆ โดยกฎหมายแล้ว ทางกระทรวง พม. ไม่สามารถที่จะไปจับกุมหรือว่านำตัวออกมาจากสถานที่ได้ ถ้าหากทำเช่นนั้นจะไปเข้าข่ายกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอุ้มหาย ซึ่งอาจจะเกิดเป็นประเด็นอื่นตามมา และหากไปดำเนินการพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจจะใช้กฎหมายอื่นได้สำหรับการดำเนินการกับคนไร้ที่พึ่ง หรือว่าการนอนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ อาจเป็นการกระทำผิดตาม กฎหมายกัดขวางทางเท้าหรือไม่

ตามอำนาจ กระทรวง พม. สามารถดำเนินการได้เพียงแค่เชิญตัวเข้าสู่ระบบแล้วมาพัฒนาทักษะฝึกอาชีพ และมีโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง พร้อมที่จะหางานให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน อย่างไรก็ตาม การลงโทษเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราว เมื่อคนไร้ที่พึ่งไม่ยอมเข้าสู่ระบบ ซึ่งต้องใช้ความสมัครใจ ถ้าหากว่าเจ้าตัวไม่สมัครใจ จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้วนซ้ำแล้วซ้ำ

และประเด็นที่น่าสนใจพื้นที่ฐานคนสังคมไทยที่เป็นสังคมเอื้ออาทร คนไทยนั้นมีจิตกุศล เมื่อเห็นคนลำบากก็จะช่วยเหลือ ดังนั้น กลุ่มคนไร้บ้านรวมถึงกลุ่มคนขอทาน เมื่อเห็นคนใจบุญเช่นนี้ ก็จะอาศัยโอกาสนี้ ซึ่งจะเห็นว่าทุกครั้งในกรุงเทพฯ เวลามีการแจกของ จะมีคนเข้ามาเยอะมาก บางครั้งเอาของแจกไปขายต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันว่าเป็นการสนับสนุนให้มีคนไร้บ้านคนขอทานหรือไม่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. เปิดเผยว่าจากข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง ตั้งแต่ปี 2562 มีจำนวน 2,700 กว่าคน แต่พอมาถึงปี 2566 มีจำนวนลดลงเหลือ 2,499 คน และปี 2567 มีจำนวนคนไร้ที่พึ่งเฉพาะในกรุงเทพฯ 500 กว่าคน ซึ่งกรณีคนเร่ร่อน ทางกระทรวง พม. มีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ ให้ความดูแลพี่น้องคนไร้ที่พึ่งประมาณ 4,800-5,000 คน พบปัญหาส่วนใหญ่ของคนไร้ที่พึ่ง เริ่มจากอาการป่วยทางจิต จากนั้นเมื่อมีอาการทางจิตมากขึ้น หนักขึ้น แล้วจะไม่ยอมกลับเข้าบ้านในที่สุด ทั้งนี้ เมื่อเราเจอคนเร่ร่อนจะมีการเร่งประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. กรุงเทพมหานคร หรือ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะเชิญตัวเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางด้านจิตใจ

เว็บไซต์ Penguin Homeless – เรื่องเล่า ข่าวคราว ของคนไร้บ้าน เปิดผลการแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศในปี 2566 พบคนไร้บ้าน 2,499 คน พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สูงสุด 1,271 คน คิดเป็น 50.86%, รองลงมา ชลบุรี 126 คน คิดเป็น 5.04%, เชียงใหม่ 118 คน คิดเป็น 4.72%, ขอนแก่น 73 คน คิดเป็น 2.92% และกาญจนบุรี 62 คน คิดเป็น 2.48%

โดยสาเหตุหลักมาจากตกงาน 44.72% มีปัญหาครอบครัว 35.18% ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 45-55 ปี ทั้งยังพบคนไร้บ้านหน้าใหม่ถึง 39% พบคนไร้บ้านมีปัญหาติดสุรา 18.1% ปัญหาสุขภาพจิต 17.9% มีผู้สูงอายุไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้น 22%

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นหมุดหมายที่ “คนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน” ปักหลักอยู่จำนวนมาก ในส่วนของมาตรการกำกับดูแลนั้นนายศานนท์ หวังสร้างบุญรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าหัวใจหลักในการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 เรื่อง

เรื่องแรก การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการเข้าไปพูดคุยเพื่อดูแลในทุกมิติ ทั้งมิติระยะสั้น ที่เกี่ยวกับเรื่องอาหาร สถานที่นอน หรือมิติทางสุขภาพเนื่องจากบางคนออกมาใช้ชีวิตอาศัยอยู่ด้านนอกก็ต้องมีเรื่องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งในกรณีดังกล่าว ทราบว่า เจ้าหน้าที่จากกระทรวง พม. และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางกะปิ ได้ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยและเก็บข้อมูลเพื่อที่จะดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ และเรื่องที่สอง ส่วนของระยะยาวก็ต้องมีระบบมากขึ้น หากเจอคนไร้บ้านก็ต้องมีหน่วยงานที่เข้าไปดูแล แต่ไม่ได้ไปกวดขัน หรือไปไล่ แต่จะดูว่าเขาอยู่ในสภาวะที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร

ปัจจุบัน กระทรวง พม.มีสถานสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือในระยะยาว แต่ในระยะสั้นยังไม่มีหน่วยงานใดทำ กทม. กำลังจะเติมช่องว่างตรงจุดนี้ โดยการทำ Emergency Shelter หรือบ้านพักฉุกเฉิน โดยเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ที่ประสบภาวะเศรษฐกิจ ที่ต้องออกมาอยู่ในที่สาธารณะ หรือถูกไล่ออกจากงานแบบไม่ทันตั้งตัว จะเชิญเข้ามาอยู่ในบ้านพักฉุกเฉินแห่งนี้ โดยจะไม่ได้ให้แค่ที่พักอาศัยอย่างเดียว แต่จะมีงานให้ทำ เพื่อให้สามารถฟื้นตัวและกลับเข้าสู่วงจรปกติของชีวิตได้ โดยทาง กทม. มีงานที่เป็นงานรายวันเยอะ เช่น พนักงานกวาด พนักงานคัดแยกขยะ ซึ่งจะสามารถนำมาให้ทำในจุดนี้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในเรื่องของการดำเนินการด้านเอกสารที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้สถานที่ และการออกแบบต่างๆ ซึ่งจะบรรจุโครงการในปีงบประมาณ 68 นี้

สำหรับปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกสังคมในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน ประกอบด้วย 1. ปัญหาเชิงปัจเจก ระดับบุคคล อาทิ ภาวะอาการเจ็บป่วย ติดสารเสพติด ความพิการ หรือมีอาการทางจิต เป็นต้น และ 2. ปัญหาเชิงระบบ ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระดับชุมชน

ยกตัวอย่างเช่น กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า จำนวนคนไม่มีบ้านในลอนดอน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12,000 คน เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตค่าครองชีพ โดยสหราชอาณาจักรซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงหลายทศวรรษในปี 2566 และการขาดแคลนอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าราคาไม่แพง องค์กรโฮมเลส ลิงก์ รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2567 มีคนไร้บ้านในกรุงลอนดอนมากถึง 11,993 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 ในรอบ 1 ทศวรรษ และถือเป็นสถิติสูงที่สุดที่เคยบันทึกไว้ในปีเดียว ขณะที่ระหว่างปี 2566-2557 มีคนไร้บ้านเพียง 7,581 คน

ในประเด็นนี้ อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน สะท้อนว่าปัญหาคนไร้บ้านคือปัญหาระบบสวัสดิการ แต่การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมสามารถช่วยทำให้การแก้ปัญหามีความคืบหน้าได้ แต่ปัญหาของคนไร้บ้านไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. เพียงหน่วยงานเดียว ยังเชื่อมโยงไปกับหน่วยงานหรือกระทรวงอื่นๆ ของรัฐ ด้วยปัญหาเชิงซ้อนต่างๆ ซึ่งยังขาดคนกลางที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระบบ

ดังนั้นวิธีการทำงาน ในปัจจุบันการช่วยเหลือที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นลักษณะ case by case และอาจจะมีอุปสรรคของคนทำงานเบื้องหน้าที่ยังจะต้องทำงานหนัก จึงอยากให้หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องหันมามองปัญหาเดียวกันนี้ และมองในมิติที่หลากหลายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป

ขณะที่ ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง ผู้จัดการฝ่ายงาน วิเคราะห์นโยบายและวางแผน มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า คนไร้บ้านต้องการบ้าน แต่มันไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังต้องการที่จะเข้าถึงสิทธิต่างๆ ทางสังคม เช่น สิทธิคนพิการ สิทธิผู้สูงอายุ หรือแม้แต่การทำบัตรประชาชน ควรที่จะจัดให้มีหน่วยงาน หรือผู้ให้บริการที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้รายบุคคล โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน

สุดท้าย การแก้ปัญหา “คนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน” ในเมืองไทย ให้สัมฤทธิผลต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมี “กระทรวง พม.” เป็นเจ้าภาพ ในการดำเนินมาตรการต่างๆ ในการจัดระเบียบพลเมืองกลุ่มนี้

นับเป็นโจทย์ข้อยาก อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง

 



ที่มา:  นสพ.ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 3 – 9 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200