กทม. แจงคุณสมบัติ-ประสิทธิภาพเครื่องอัดอากาศสำหรับเครื่องช่วยหายใจแบบติดตั้ง
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกต สปภ. จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจดับเพลิงแบบระบบปิด ราคาสูงกว่าที่หน่วยงานราชการอื่นว่า สปภ. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เครื่องอัดอากาศในราคาประมาณ 1,000,000 บาท เป็นแบบไฟฟ้ายกเคลื่อนที่ จะแตกต่างจากที่ สปภ. จัดซื้อซึ่งเป็นแบบติดตั้งอยู่กับที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีประสิทธิภาพและคุณสมบัติสูงกว่า อาทิ มีอัตราการอัดอากาศต่อนาทีสูงกว่า (แบบเคลื่อนที่มีอัตราการอัดอากาศ 250 ลิตร/นาที แต่แบบติดตั้งจะมีอัตราการอัดอากาศ 450 ลิตร/นาที) มีจำนวนชุดเติมอากาศมากกว่า (แบบเคลื่อนที่มีชุดเติมอากาศเพียง 2 หัว แต่แบบติดตั้งมี 6 หัว) นอกจากนี้ เครื่องอัดอากาศแบบติดตั้ง ยังมีชุดควบคุมเครื่องอัดอากาศสำหรับเครื่องช่วยหายใจ ชุดอุปกรณ์แยกน้ำและน้ำมันออกจากอากาศแบบอัตโนมัติ ชุดบรรจุถังอากาศความดันสูง 160 ลิตร ชุดเติมอากาศแบบอัตโนมัติ 6 หัว ชุดสำหรับกำจัดเชื้อไวรัส ระบบแจ้งเตือนคุณภาพอากาศ รวมถึงอุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนไส้กรองแบบระบบไฟฟ้าในตัว ซึ่งไม่มีในเครื่องอัดอากาศแบบเคลื่อนที่
ทั้งนี้ สปภ. ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องอัดอากาศสำหรับเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 38 ชุด โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และได้สืบราคากลางจากบริษัทห้างร้าน จำนวน 3 ราย ได้ราคากลาง 139,333,333.33 บาท งบประมาณที่ได้รับ 133,000,000 บาท โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเปิดกว้างให้บริษัทห้างร้านได้เข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม ปรากฏว่า มีผู้ยื่นเสนอราคา จำนวน 3 ราย ซึ่งมี 1 ราย ไม่ผ่านคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ เหลือพิจารณา 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 ราย เสนอราคาต่างกัน 840,000 บาท โดยผู้เสนอราคาต่ำสุด เสนอราคาเป็นเงิน 131,860,000 บาท และได้ต่อรองราคา คงเหลือเป็นเงิน 131,840,000 บาท ต่ำกว่าราคากลางเป็นเงิน 1,493,333.33 บาท และต่ำกว่างบประมาณ 1,160,000 บาท
ส่วนกรณีที่บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอคือ ยื่นหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ E10091220559761 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2566 วัตถุประสงค์ของบริษัทมี 34 ข้อ แต่ไม่ได้ระบุว่า เป็นผู้มีอาชีพขายพัสดุดังกล่าวตามร่างขอบเขตของงาน ข้อ 3.7 และเอกสารประกวดราคาข้อ 2.7 คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่พิจารณาราคาจากบริษัทดังกล่าว
กทม. เดินหน้าติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI ตรวจจับจอด-ขับขี่บนทางเท้าครบ 100 จุดภายใน ส.ค. นี้
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับรถบริเวณทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขตราชเทวีว่า กรณีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถตรงทางข้าม (ทางม้าลาย) เป็นการกระทำผิดกฎหมายและข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรเป็นพฤติกรรมเฉพาะรายบุคคล โดย สจส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนร่วมกันหาแนวทางลดปัญหาดังกล่าว โดยรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการสัญจรผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบริเวณทางม้าลาย โดยเผยแพร่ทางช่องทางต่าง ๆ รวมถึงปรับปรุงกายภาพทางข้ามให้มีความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ เพื่อกวดขันวินัยจราจร อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่บริเวณทางม้าลายจะมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บางรายที่ขาดจิตสำนึกลักลอบกระทำผิดอีก จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ สจส. ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาการขับขี่บนทางเท้า ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI เพื่อตรวจจับผู้กระทำผิดจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งได้เริ่มติดตั้งไปแล้ว 15 เขตนำร่อง ได้แก่ เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตยานนาวา เขตบางซื่อ เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตบางเขน เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตบางแค เขตหนองแขม เขตบางขุนเทียน และเขตดินแดง รวมทั้งสิ้น จำนวน 28 จุด เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 67 และคาดว่า จะแล้วเสร็จครบถ้วนจำนวน 100 จุด ภายในเดือน ส.ค. 67 โดยระบบตรวจจับโดยกล้อง CCTV ด้วยระบบเทคโนโลยี AI จะส่งข้อมูลภาพและป้ายทะเบียนของผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้าไปยังสำนักงานเขตฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศกิจจะตรวจสอบกับระบบฐานข้อมูลทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และตรวจสอบภูมิลำเนากับฐานข้อมูลของ กทม. เพื่อจัดส่งจดหมายให้ผู้กระทำผิดมาพบเจ้าหน้าที่ยังสำนักงานเขตฯ พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ประกอบกับ พ.ร.บ. การปรับพินัย พ.ศ. 2565 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
เขตสัมพันธวงศ์ติดตามผู้ขับขี่รถ จยย. บนทางเท้าถนนเจริญกรุงมาดำเนินการตามกฎหมาย
นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนชายชาวจีนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าย่านถนนเจริญกรุงและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมว่า จากการตรวจสอบ พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ ก.ค. ๖๗ เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น. บริเวณทางเท้าถนนเจริญกรุง ตรงข้ามวัดเล่งเน่ยยี่ โดยขณะที่ผู้ร้องเดินอยู่บนทางเท้าได้มีรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าตามหลังและบีบแตรต่อว่าผู้ร้องไม่มีมารยาท ไม่ยอมให้ขี่ผ่าน ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) จักรวรรดิ ขับรถสายตรวจผ่านมา จึงได้นำผู้ร้องและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปยัง สน.จักรวรรดิ จากนั้นผู้ร้องได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงการกระทำดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาแจ้งต่อสำนักงานเขตฯ ซึ่งผู้ร้องได้ถ่ายภาพใบอนุญาตทำงานของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ ผู้ร้องได้เข้าแจ้งเหตุดังกล่าวที่ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ผู้ร้องเขียนคำร้องตามแบบฟอร์มบันทึกการรับเรื่องร้องเรียน ผู้ร้องให้เจ้าหน้าที่ดูหนังสือรับรองการทำงานของผู้ขับขี่ ภาพถ่ายรถจักรยานยนต์และภาพถ่ายผู้กระทำผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน พร้อมชี้แจงว่า การสืบหาผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นชาวจีนต้องเริ่มจากประสานไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อทราบถึงเจ้าของผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์และจะสอบถามถึงที่อยู่ของผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หากยังไม่ทราบที่อยู่จะต้องประสานบริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปรากฏชื่อเป็นนายจ้างตามใบอนุญาตทำงาน หรือต้องติดต่อไปยังหน่วยงานที่ให้ใบอนุญาตการทำงาน เพื่อติตตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้สืบค้นข้อมูลจากทะเบียนรถจักรยานยนต์จากระบบของ ขบ. เพื่อสืบหาเจ้าของรถจักรยานยนต์คันกล่าว ปรากฏชื่อเจ้าของรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะได้ทำหนังสือเชิญเจ้าของรถจักรยานยนต์มาสอบถามถึงผู้ขับขี่และติดตามมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อีกทั้ง สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่กวดขันการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าบริเวณถนนเจริญกรุงและจัดระเบียบอย่างต่อเนื่องต่อไป