ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน
หลังเป็นข่าวใหญ่โตเกี่ยวกับการ ติดป้ายข้อความโฆษณาซื้อขายสัญชาติหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เป็นภาษา จีนกลางสี่แยกห้วยขวาง กทม. จนเกิด ข้อสงสัยแท้จริงข้อความเหล่านี้สามารถทำได้หรือไม่ และหากต้องการติดป้ายโฆษณาข้อความต่าง ๆ ต้องผ่านขั้นตอน ใดบ้าง
วันนี้ “ชุมชนเมืองเดลินิวส์” ไขข้อสงสัยการขออนุญาตติดตั้งป้าย รวมถึง อัตราภาษีที่จะต้องจ่าย เพราะไม่ว่าป้ายโฆษณาจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องชำระภาษี ถูกต้อง
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เผยถึงการคำนวณอัตราภาษีของป้ายแต่ ละชนิดว่าจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน โดย ป้ายข้อความ “วิ่ง” จะมีอัตราแพงกว่า ส่วนป้ายโฆษณาที่เห็นโดยทั่วไปจะคิดอัตราอีกแบบ ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับ “ตัวอักษร” ด้วย เช่น ภาษาไทยหรือภาษา ต่างประเทศ ทั้งนี้ อัตราของแต่ละประเภทจะเป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดอัตราภาษีป้าย พ.ศ.2563
ขณะที่การติดตั้งป้าย รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ ผู้ติดตั้งต้องทราบพิกัดที่ติดตั้งว่าเป็นอาคารหรือที่เอกชน และการติด ป้ายที่อาคารต้องขออนุญาตก่อน เพราะต้องมีการคำนวณตามขนาดกว้าง ยาว และน้ำหนัก เช่น ป้ายโฆษณาที่ติดตั้งอยู่บนอาคารต่าง ๆ เพราะต้องคำนวณความปลอดภัย ความแข็งแรงทนทาน
ส่วนป้ายทั่วไป เช่น ชื่อร้านไม่ต้องขออนุญาตติดตั้ง แต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย โดยสำนักงานเขตจะออกสำรวจหากพบว่าป้ายใดยังไม่ชำระก็จะแจ้งเจ้าของให้มาดำเนินการจ่ายภาษีป้ายปีละหนึ่งครั้ง
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึงป้ายโฆษณาที่จะติดตั้งบนอาคารต่าง ๆ เมื่อยื่นขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 แล้ว เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบข้อความในป้ายด้วยว่า ลักษณะของข้อความและภาพต้องไม่ขัดต่อความเรียบร้อยของบ้านเมืองและศีลธรรมตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 10 และ 11 หากพบมีข้อความที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย จะไม่อนุญาต
แต่หากมีการฝ่าฝืนขึ้นมา ตามขั้นตอนเบื้องต้นจะทำหนังสือแจ้งให้ทำการ “ปลดป้าย” หากยังไม่ดำเนินการจึงจะแจ้งความเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป
สำหรับป้ายที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการ จัดเก็บในจุดต่าง ๆ ป้ายเหล่านั้นเป็นป้าย ที่ติดในที่สาธาณะ เนื่องจากตามกฎหมายระบุว่าหากติดป้ายในที่เอกชนจะไม่มี ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องไปตามเก็บภาษี แต่ป้ายที่ติดตั้งในที่สาธารณะต้องได้รับอนุญาต โดยยื่นขออนุญาตติดตั้งป้ายในที่สาธารณะได้
“อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับอนุญาตให้ติด เช่น ป้ายที่เห็นอยู่ตามเสาไฟฟ้า ต่าง ๆ เทศกิจจะดำเนินการเก็บได้ทันที และนำส่งข้อมูลไปยังฝ่ายรายได้ เพื่อให้นำข้อมูลที่ได้ไปเรียกเก็บภาษีจากเจ้าของป้ายอีกครั้ง”.
อัตราภาษีป้าย
1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
(ก) ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ ให้คิดอัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
(ข) ป้ายนอกจาก (ก) ให้คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และหรือปนกับภาพ และหรือเครื่องหมายอื่น
(ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
(ข) ป้ายนอกจาก (ก) ให้คิดอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพ หรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
(ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
(ข) ป้ายนอกจาก (ก) ให้คิดอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ทั้งนี้ อัตราภาษีป้ายตามที่กำหนดนี้ บังคับใช้กับป้ายที่ต้องเสียภาษีป้ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 เป็นต้นไป.
เงื่อนไขเมื่อติดป้าย
1.หากดำเนินการในที่เอกชน และอาคารต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางขออนุญาตติดตั้ง ตามข้อบัญญัติ กทม. พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ 2 และข้อบัญญัติเรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารประเภทป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายในพื้นที่บางส่วน ในท้องที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549
ข้อบัญญัติ เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการตรวจสอบและดำเนินการกับป้ายที่ไม่ขออนุญาตติดตั้งอย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจะลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลป้ายและตรวจสอบ เพื่อป้องกันการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณา
2.การขออนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ นอกจากข้อความที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว ป้ายโฆษณาที่ขออนุญาตติดตั้ง ต้องไม่อยู่ในบริเวณห้ามติดตั้งป้าย ได้แก่ บริเวณคร่อมถนนหรือทางสาธารณะ วงเวียน อนุสาวรีย์ สะพาน สะพานลอย สะพานลอยคนเดินข้าม สะพานลอยรถข้าม
รวมทั้งส่วนประกอบของสะพานลอย รั้วหรือแผงเหล็กริมถนน ป้าย จราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้ว หรือกำแพง หรือ ผนังอาคารของทางราชการ ศาลาที่พักผู้โดยสาร เกาะกลางถนน สวนหย่อม สวนสาธารณะ ถนน ต้นไม้ และเสาไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในที่สาธารณะ ทั้งนี้ เว้นแต่เป็น การติดตั้งเพื่องานพระราชพิธี รัฐพิธี หรือการต้อนรับราชอาคันตุกะหรือแขกเมือง ของรัฐบาล
บรรยายใต้ภาพ
จักกพันธุ์ ผิวงาม
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 ส.ค. 2567