Search
Close this search box.
คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส: ผู้ว่าฯกทม.ปล่อยดอกเบี้ยสายสีเขียวเพิ่มทุกวัน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

สารส้ม

จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.)และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมกันชำระเงินแก่บีทีเอส ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ประกอบด้วย หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และ สายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) จำนวน 2,348.65 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) จำนวน 9,406.41 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนั้น

1.ประเด็นสำคัญ นอกจากยอดหนี้ตามที่บีทีเอสฟ้องแล้ว คือ การที่ศาลปกครองสูงสุดชี้ว่า สัญญาระหว่างบีทีเอสกับทาง กทม.นั้น ชอบด้วยกฎหมาย มีผลผูกพันสมบูรณ์

นั่นหมายความว่า ถ้าบีทีเอสทำตามสัญญาเดินรถ กทม.ก็มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาเช่นกัน

ก้อนที่บีทีเอสฟ้อง และศาลปกครองสูงสุดพิพากษาชี้ขาดไปแล้วนั้น เป็นเพียงก้อนแรกของการเดินรถช่วงเดือนพ.ค. 2562 – พ.ค. 2564 เท่านั้น

แต่การเดินรถในช่วงหลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน บีทีเอสก็ทำตามสัญญาเดียวกันนั่นเอง เพราะฉะนั้น กทม.ก็มีภาระจะต้องจ่ายตามสัญญาเช่นกัน

เรียกว่า อำนาจต่อรอง เทมาทางเอกชน คือ บีทีเอสเต็มประตู!

2.นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบีทีเอส แถลงน้อมรับ คำตัดสินของศาล

ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และเป็นวันที่รอคอยนาน แสนนาน ด้วยความกดดันกับทุกสิ่งที่ลงทุนไป และการหาทุนเพื่อไม่ให้การเดินรถหยุดชะงัก

เพราะการหยุดเดินรถไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร ทั้งบริษัทก็เกิดความเสียหาย กทม. ก็เกิดความเสียหาย รวมไปถึงคนที่ใช้งานประจำก็เกิดความเสียหายที่จะต้องหาระบบอื่นรองรับการเดินทาง

ตั้งแต่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างเดินรถ เราต้องควักเงินให้กับทุกอย่าง โดยเงินพวกนี้ถือว่าใหญ่มาก และตนก็มีนโยบายแน่นอนที่จะไม่ให้เดือดร้อนประชาชน และโชคดีที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินธนาคาร ในการรับผิดชอบ ต่อผู้ถือหุ้นและได้รับกำลังใจจากผู้ถือหุ้นในการต่อสู้

“บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เราทำงานอยู่บน พื้นฐานของความถูกต้อง

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่อง เหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน รับทราบมาโดยตลอด

และ ณ วันนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความพยายามที่บีทีเอสทำมา ตลอดนั้นไม่สูญเปล่า และยังเป็นการยืนยันคำพูดของตนว่า “บีทีเอสทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ตนย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอน..

…ที่สำคัญ คำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป

ยืนยัน ผมทำอะไรตรงไปตรงมาที่สุด และไม่ยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”- นายคีรีกล่าว

3.ระหว่างการแถลงข่าว บีทีเอสได้แจกแจงยอดหนี้ทั้งหมด

ระบุว่า อยากให้กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนกว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น

* ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท

* ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565) เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

* ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท

* ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585

เท่ากับว่า ยอดรวมเป็นจำนวนเงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

หากล่าช้า ก็จะมีดอกเบี้ยอีกต่างหาก เพิ่มทุกวัน

4.ประธานบีทีเอส นายคีรี เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า บีทีเอส ยินดีและ พร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป

ทั้งนี้ หากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่นๆ ที่อยากให้พิจารณา บีทีเอส ก็ยินดี และพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

พร้อมขอให้ กทม. เห็นใจเอกชน

โดยคำสั่งศาลได้ให้กทม.และเคทีชำระเงินเอกชนภายใน 180 วัน

“ตนรู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดย ไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ เพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด

ฉะนั้น สิ่งที่เราทำมา หรือสิ่งที่ตนเคยพูด พวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชนอย่างเรา ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมาย เร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว” นายคีรีกล่าว5.ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทางบีทีเอส พร้อมเจรจาเรื่องมูลหนี้ที่เกิดขึ้น

ยืนยันว่า กทม. พร้อมทำตามคำสั่งศาล แต่ขอให้การประชุมสภากทม.จบสิ้นเสียก่อน ซึ่ง ขณะนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ย่อยข้อมูลคำพิพากษากว่า 100 หน้าอยู่ และยินดีทำตามคำสั่งศาลปกครองทุกอย่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้ กทม. สามารถเดินไปอย่างมั่นใจมากขึ้น

ทางกทม. จะต้องดำเนินการตั้งเรื่องเพื่อส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภากทม. โดยจะต้องมีรายงานสภากทม.ให้รับทราบ ซึ่งคาดว่าจะใช้ไทม์ไลน์ประมาณ 140 วัน และจะพยายามให้การดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อน 180 วันตามคำสั่งศาลฯ ยอมรับว่า นอกจากคำสั่งศาลฯ แล้วยังมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่กดดันให้ กทม.เร่งดำเนินการ เนื่องจากเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของประชาชน กทม. จึงต้องพยายามใช้ให้มีประโยชน์มากที่สุด

นักข่าวถามว่า มูลหนี้ที่เกิดขึ้น ทางกทม. จะมีการจ่ายหนี้ทั้งก้อนที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือจำนวนเท่าใด?

นายชัชชาติ ระบุว่า ในการจ่ายหนี้ให้บีทีเอสนั้น ต้องว่าไปตาม คำสั่งศาลคดีแรกก่อน ส่วนคดีที่ค้างอยู่ในศาลฯ จะต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะจ่ายหนี้อย่างไร โดยจะต้องดำเนินทีละขั้นตอนและดูฐานะทางการเงินของ กทม.ประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กทม. พยายามจะทำให้ดีที่สุด และที่ผ่านมา กทม. ก็ได้จ่ายหนี้ค่า E&M จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีคำสั่งศาลฯมาต้องดำเนินการหนี้ก้อนแรกก่อน ส่วนหนี้ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาจ่าย ส่วนมูลหนี้ทั้งหมดก็จะทยอยจ่ายให้เอกชน

6.สิ่งที่ กทม.ควรทำอย่างแรก คือ รีบเข้าไปเจรจากับทางบีทีเอส เพื่อ ขอหยุดอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนได้หรือไม่

เพราะดอกเบี้ย น่าจะตกวันละกว่า 2 ล้านบาท

ทุกวันที่ผ่านไป คือ ความเสียหายที่ใครรับผิดชอบ?

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่?

หากผู้ว่าฯกทม.ดึงเช็ง ยังไม่ยอมจ่ายหนี้ ทั้งๆ ที่ ทราบว่า เอกชน คู่สัญญาได้เดินรถตามสัญญาถูกต้องแล้ว (ศาลปกครองสูงสุดชี้แล้ว) แต่กลับจะรอให้มีคดีขึ้นไปให้ศาลตัดสินเสียก่อน

ปกติ เมื่อ กทม.จ้างเอกชนทำงาน และเอกชนทำงานเสร็จ กทม.ก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญา

ถ้าผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะใช้วิธี รอให้เอกชนไปฟ้อง รอศาลตัดสินเสียก่อน ทุกก้อน ทุกงวด แบบนี้จะเป็นธรรมกับเอกชนหรือไม่?

ถ้าทำแบบนี้ทุกสัญญา ใครมันจะทำงานกับ กทม. ?

ประการสำคัญ เวลาที่ผ่านไป ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มไปเรื่อยๆ ใครจะรับผิดชอบ

จะถือว่าผู้ว่าฯกทม. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดความเสียหาย เพิ่มเติมอีกมหาศาล หรือไม่?

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 2 ส.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200