Search
Close this search box.
นับถอยหลัง กระตุกผ้าเผยโฉม ‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ หลังบูรณะครั้งใหญ่ งบ 7.9 ล้าน

 ศศวัชร์ คมนียวนิช

ปิดสแลนมานานหลายเดือน สำหรับ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากการบูรณะครั้งwww.facebook.com/ScoopMati ใหญ่ โดยมีรายนามเจ้าภาพ คือ สำนักการวางผัง และพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ด้วยงบ 7,980,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 270 วัน ตามสัญญาเลขที่ สวพ. 10/2567 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 13 กันยายน 2567 หรืออีกเพียงเดือนกว่าๆ นับจากนาทีนี้

จุดมุ่งหมายสำคัญตามที่ ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. ระบุไว้คือ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเก็บอัฐิ กำแพง พื้น และรั้วของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและชะลอการเสื่อมสภาพ อีกทั้งเพื่ออนุรักษ์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้สง่างามและทรงคุณค่าสามารถใช้จัดงานวันทหารผ่านศึกได้อย่างสมเกียรติ เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมหรือจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์

สำหรับขอบเขตของงาน ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงซ่อมแซมทาสีผนังและเพดานภายในอาคารเก็บอัฐิ 2.ปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างภายในอาคารเก็บอัฐิ 3.ซ่อมแซมป้ายชื่อวีรชนภายนอกอาคารเก็บอัฐิ 4.ปรับปรุงซ่อมแซมพื้นผิวภายนอกอาคารและกำแพงที่เป็นทรายล้างและปูนเปลือยป้องกันการรั่วซึม 5.ปรับปรุงซ่อมแซมพื้นและบันไดหินขัด 6.ปรับปรุงซ่อมแซมทาสีรั้ว

บริษัท แล็บ-ทรี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด คือผู้ดำเนินการ

เปิดมติ ครม. 4 ก.ค.2488 ทำไม กทม. ต้องเป็น ‘เจ้าภาพ’?

ก่อนจะเจาะรายละเอียดการบูรณะครั้งนี้ ต้องเท้าความไปถึงการซ่อมแซมครั้งก่อนๆ ซึ่ง ชัยรัตน์ จงเจริญสุข นักวิเคราะห์ผังเมืองปฏิบัติการ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานต่างๆ เป็นครั้งๆ ไป เช่น กระทรวงกลาโหม รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง กทม.

ต่อมา ใน พ.ศ.2561 มีการซ่อม ‘ฐานราก’ โดยครั้งนั้นมีข้อถกเถียงกันว่าใครเป็นผู้ดูแลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์อื่นๆ ในกรุงเทพฯ

“โดยก่อนหน้านั้นมีความเข้าใจกันว่าทางกองทัพเป็นผู้ดูแลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพราะทหารเป็นผู้จัดพิธีรำลึกในวันทหารผ่านศึก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ปรากฏว่าเมื่อไปค้นดูมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2488 เรื่องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและดูแลรักษาอนุสาวรีย์ต่างๆ ปรากฏข้อความระบุว่า การดูแลรักษาความปลอดภัย ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและตำรวจ ในส่วนความสะอาดและความสวยงามในเขตเทศบาลมอบให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล นอกเขตเทศบาลมอบให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการจังหวัด สำหรับพิธีเป็นงานของหน่วยราชการใด ให้หน่วยราชการนั้นเป็นผู้จัดงานเอง

ในการนี้ เทศบาลก็หมายถึงตัวกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เหมือนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ซึ่ง กทม.ได้ทำการสำรวจอนุสาวรีย์ทั่วกรุงเทพฯ ว่ามีที่ไหนอยู่ในที่กึ่งสาธารณะ โดยภายหลังก็มีการแบ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแลแทน”ชัยรัตน์เล่า

รีโนเวตใหญ่ อุดรอยรั่ว ผสานรอยร้าว ลอกสีเก่า ทาสีใหม่ ขัดล้างรูปสำริด

หลังซ่อมฐานรากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อปี 2561 เพราะเกิดปัญหาด้านโครงสร้าง พบว่า ต่อมา ฝ้าเพดานของห้องเก็บอัฐิทหารมีน้ำรั่วจากชั้นดาดฟ้า ทำให้มีปูนกะเทาะหล่นลงมา ซึ่งได้มีการประสานงานจาก องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) ให้ กทม.เข้าไปซ่อมแซม

ชัยรัตน์เผยว่า สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองมีงบประมาณอยู่ 1 ก้อน ประมาณ 10 ล้านบาท โดยเมื่อครั้งกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้ที่มหาวิหาร นอเทรอดาม กรุงปารีส ฝรั่งเศส ผู้บริหาร กทม.ขณะนั้นเล็งเห็นความสำคัญของงบประมาณที่ควรมีไว้ใช้จ่ายซ่อมแซมโบราณสถานในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน จึงมีการนำงบประมาณดังกล่าวมาดูแลโบราณสถานและอนุสาวรีย์ต่างๆ กว่า 50 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ โดยเวียนซ่อมแซมในแต่ละแห่งจากสภาพการประเมิน และมีงบประมาณหนึ่งที่ใช้ในการดูแลทำความสะอาด ขัดล้าง เก็บขยะ สำรวจสภาพ แล้วนำมาเรียงลำดับความจำเป็นในการซ่อมแซมก่อนหลัง จึงซ่อมแซมฐานรากก่อนเพราะเป็นส่วนที่สำคัญสุด เพราะจะทำให้เกิดการทรุด หรือเอียงได้ จากนั้นจึงค่อยซ่อมตัวอนุสาวรีย์

“ที่เห็นว่ามีการตั้งนั่งร้านที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นการซ่อมแซมรอยรั่วต่างๆ ชั้นระเบียงทางเดินเป็นพื้นปูนเปลือย เหมือนดาดฟ้า พบรอยแตกร้าว จึงอุดตัวกันซึม ทาพื้นผิว ต่อมาชั้นที่เป็นฐานตั้ง รูปหล่อ พบรอยร้าวจากการรับน้ำหนักของรูปหล่อ จึงมีการรื้อทรายล้าง เพื่อเปิดพื้นผิวคอนกรีตหารอยร้าว อุดรอยร้าว รอยรั่วซึม และปูทรายล้างกลับเข้าไปเหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังมีการลอกสีเก่าออก และทาสีใหม่แทน

รวมถึงการติดตั้งไฟแสงสว่างใหม่ภายในอาคารเป็น Warm white ให้บรรยากาศมีความขลังมากขึ้น รวมถึงการติดตั้งไฟแสงสว่างใหม่ภายนอกอาคาร และการปรับปรุงสวนใหม่ แต่ยังไม่มีการติดเครื่องปรับอากาศภายใน เพราะยังมีกระแสลมพัดเข้าภายใน อากาศไม่ได้ร้อน

ส่วนรูปหล่อสำริด จะมีการขัดล้างด้วยน้ำสะอาด ลงแว็กซ์ธรรมดา เพราะมีสนิมเขียวเกาะ ซึ่งเป็นสนิมที่ดี โดยเมื่อทำการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว ต้องมีการจัดทำรายงานส่งให้กรมศิลปากรด้วย

สำหรับแผ่นกระเบื้องที่หลุดไปหนึ่งจุด บนยอดเสาดาบปลายปืน พอเราทำขอบเขตงานก็ว่าจะซ่อมตรงนั้น ซึ่งค่ากระเบื้องไม่กี่ร้อยกี่พัน แต่ค่านั่งร้านเป็นแสน ซึ่งต้องปล่อยไว้ก่อน เราต้องชั่งน้ำหนัก เพราะยังไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ นอกจากนี้ ก็มีการประเมินสายล่อฟ้าที่ติดตั้งอยู่ว่าจะเอาออกหรือไม่ เพราะอาคารรอบๆ มีสายล่อฟ้า แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงไว้” ชัยรัตน์อธิบาย ทั้งยังเผยด้วยว่า จุดที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ ดาดฟ้าอาคารทั้งหมด รวมถึงฐานที่ตั้งของรูปหล่อ เพราะต้องสำรวจรอยร้าวทั้งหมด เมื่อมีการซ่อมแล้วเสร็จจะต้องมีการทดสอบในช่วงฤดูฝน ว่ามีจุดไหนที่มีน้ำรั่วซึมอีกหรือไม่ ผู้รับจ้างต้องมีการรับประกันผลงาน

ฐานข้อมูล-ประวัติซ่อม ต้องแก้เชิงโครงสร้าง ‘ดิจิทัล’ คือ ทางออก

สำหรับข้อจำกัดและอุปสรรคในการดำเนินงาน นอกจากปัญหาคลาสสิกอย่างขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ค่อนข้างล่าช้า ชัยรัตน์ให้ความเห็นในฐานะคนทำงานถึงปัญหาเรื่อง ‘ฐานข้อมูล’ ของภาครัฐที่ยังไม่เรียบร้อย เช่น ประวัติการซ่อมแซมอนุสาวรีย์ต่างๆ โดยต้องมีการไล่หาข้อมูล แล้วนำข้อมูลแปลงเป็นดิจิทัล ซึ่ง กทม.ได้เริ่มใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ หนังสือ เอกสารราชการทั้งหมด จะผ่านเข้าระบบนี้

“ก่อนหน้านี้ที่เป็นกระดาษก็ต้องมาไล่สแกนเก็บข้อมูล แต่เราไม่มีบุคลากรที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง อย่างหน่วยงานเอกชน เราทำงานเสร็จจะต้องส่งเอกสารให้ส่วนกลางสแกนเก็บ เราได้สำเนากลับมา แต่ราชการโดยรวมงานจะอยู่กับคนที่ทำ เวลาถามต้องไปถามคนที่ทำ ไม่ได้มีหน่วยงานกลางที่มาดูเอกสารตรงนี้ให้กับองค์กร กลายเป็นว่าการส่งต่องานเวลาคนเก่าออกหรือย้าย มักจะมีปัญหา ต้องไปถามคนเก่าว่างานดำเนินการไปถึงตรงไหนแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งถ้าเป็นระบบดิจิทัลน่าจะช่วยได้”

ชัยรัตน์เล่าด้วยว่า นอกจากนี้ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม.มีการของบประมาณเพิ่มเติมจาก 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท ในการดูแลซ่อมแซมโบราณสถานและอนุสาวรีย์ทั้งหมด เพราะไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการประเมินแล้วซ่อมแซมได้ทันที จึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักโบราณคดี มาช่วยดูแนวทางการซ่อมแซม

“อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นการเข้าไปซ่อมแซม โดยใช้ข้อมูลการสำรวจจากรายงานในปี 2560 และสำรวจเพิ่มเติมสภาพปัจจุบัน โดยยังไม่ได้ใช้งบประมาณจากที่เพิ่มมาเป็น 20 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมศิลปากรจะเป็นผู้อนุมัติในตอนท้าย ตามแผนการซ่อมแซมที่ กทม.เสนอไปว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งทางกรมศิลปากรก็เห็นด้วย เพราะไม่ได้มีการก่อสร้างต่อเติมเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีอนุสาวรีย์และโบราณสถาน ที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองมอบหมายให้สำนักงานเขตดูแล เช่น อนุสาวรีย์ วงเวียน 22 กรกฎาคม แต่ยังไม่มีการมอบหมายทั้งหมดให้ทางสำนักงานเขตดูแล เพราะว่าบางเขตอาจจะดูแลเยอะ เช่น เขตพระนครซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

สำหรับสะพานเก่าที่ไม่มีรถข้าม เช่น สะพานหก ทาง กทม.เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองเป็นเจ้าภาพดูแล ส่วนสะพานเก่าที่มีรถข้าม เช่น สะพานผ่านพิภพลีลา สะพานผ่านฟ้า ลีลาศ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ทางสำนักการโยธา จะเป็นผู้ดูแลโครงสร้างหลัก ส่วนสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองจะดูแลด้านสถาปัตยกรรม”ชัยรัตน์ อธิบาย

แนวคิดเปิดรั้วอนุสาวรีย์ชัยฯ? ไม่ใช่แค่วันทหารผ่านศึก

ปิดท้ายกับประเด็นที่เคยมีผู้ตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนต่ออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ไม่ควรเป็นเพียงวงเวียนวนรถ หรือให้ความสำคัญเฉพาะวันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี หากแต่ทุกวัน ควรเปิดให้เข้าเยี่ยมชมภายใน หรือใช้พื้นที่ได้อย่างเป็นสาธารณะ

ชัยรัตน์เล่าว่า ประเด็นดังกล่าว พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตที่ปรึกษาของผู้ว่าฯชัชชาติ มีนโยบายอยากเปิดให้ประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมภายในตัวอนุสาวรีย์ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ หรือเปิดเป็นสวนสาธารณะเช่นกัน โดยมีการทำข้อเสนอต่อผู้ว่าฯไปแล้ว ซึ่งอาจมีการทำเป็นขั้นเป็นตอน โดยทดลองเปิดในช่วงวันทหารผ่านศึกประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะเข้าพื้นที่ยาก ข้ามถนนยาก มีแนวคิดที่อาจจะทำเป็นกิจกรรมดนตรีในสวน แล้วให้ผู้ชมผู้ฟังอยู่บนสกายวอล์ก หรือการจัดกิจกรรมแสงสีเสียง

“ก่อนหน้าก็มีแนวคิดว่าจะทำอุโมงค์ทางเดินเข้าพื้นที่ พร้อมกับแนวรถไฟฟ้าใต้ดินที่ลอดผ่านตัวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่แนวรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นได้เปลี่ยนไป ไม่ผ่านแล้ว โดยภายหลังการปรับปรุงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครั้งนี้อาจจะมีการตีเส้นทางม้าลาย เพื่อทดลองเปิดพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อดูกระแสคนเข้าใช้งาน”

ว่าแล้วก็มาร่วมจับตาการกระตุกผ้าเผยโฉมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่มีเดดไลน์ในเดือนกันยายนนี้ พร้อมติดตามความคืบหน้าว่าภาคประชาชนจะได้มีส่วนร่วมกับพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่

 

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 2 ส.ค. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200