สั่งจ่ายหนี้บีทีเอส1.2หมื่นล.

 นนทบุรี * ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง สั่ง “กทม.-กรุงเทพธนาคม” ร่วมจ่ายหนี้ BTS ตามสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1-2 รวมดอกเบี้ย 1.2 หมื่นล้านบาท ขีดเส้นภายใน 180 วัน

เมื่อวันศุกร์ รายงานข่าวจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ที่พิพากษาให้กรุงเทพมหานคร กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสินบางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และในส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 11,755,077,952.10 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่บีทีเอส ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

โดยศาลให้เหตุผลว่า การที่ กทม.ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 และได้มอบหมายให้ บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 99.98% เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของ กทม.มีความคล่องตัว ดังนั้นเมื่อ บ.กรุงเทพธนาคมฯ มีหนี้ค้างชำระตามสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับบีทีเอส ทั้งในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2

ทั้งนี้ กทม.จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับ บ.กรุงเทพธนาคมฯ ให้แก่บีทีเอสด้วย เป็นจำนวนเงินในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 2,199,091,830.27 บาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ที่ประกาศโดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่บีทีเอส ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

สำหรับคดีนี้ บีทีเอสฟ้องว่า กรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี

บีทีเอส ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้บีทีเอสได้รับความเสียหายจึงนำคดีมาฟ้อง

อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุก่อนหน้านี้ว่า สุดท้ายต้องรอคำสั่งจากศาล เพราะเป็นเรื่องที่ค้างคามานาน หากกรณีที่ต้องชำระหนี้ก็คงต้องคุยเรื่องเงินกันอีกครั้ง เราก็พยายามใช้งบประมาณต่างๆ อย่างจำกัด เพื่อให้มีเงินเหลือไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ซึ่งการตั้งงบประมาณในปี 68 นี้ เราก็ยังตั้งงบประมาณเท่าเดิมคือ 9 หมื่นล้าน เนื่องจากเราก็ยังมีคดีอื่นที่ค้างอยู่ เช่น คดีรถดับเพลิงที่ยังจอดอยู่ที่แหลมฉบังอีกประมาณ 3 พันล้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องในอดีต ดังนั้นเราจึงจะต้องเตรียมเรื่องงบประมาณเผื่อไว้หากมีกรณีฉุกเฉิน.

 



ที่มา:  นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 27 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200