กรุงเทพมหานครภายใต้การ บริหารของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้นำแพลตฟอร์ม ทราฟฟี ฟองดูว์ (Traffy Fondue) มา ใช้เพื่อให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียนปัญหา นำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทำให้ ปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขจากเดิมที่ไม่มีแพลตฟอร์มทราฟฟี ฟองดูว์ ใช้เวลาแก้กันเป็นเดือน แต่ปัจจุบันร่นระยะเวลาเหลือเพียง 1-2 วัน
ทราฟฟี ฟองดูว์ ขยายความได้ว่า เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ซึ่งเป็นช่องทางรับแจ้งและจัดการปัญหา เมืองที่พบผ่าน LINE Chatbot เกิดขึ้นมาก่อนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะมาดำรง ตำแหน่ง เริ่มต้นมาจาก การพัฒนาของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติ (สวทช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง
ขยายผล ทราฟฟี ฟองดูว์ 77 จังหวัด
ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้อำนวยการหน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง สวทช. กล่าวว่ารูปแบบของระบบ เมื่อระบบได้รับรายละเอียดปัญหาจากผู้แจ้งครบถ้วนแล้ว ระบบจะวิเคราะห์ประเภทปัญหาจากข้อมูลโดยอัตโนมัติ และแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งยังสามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือแจ้งความคืบหน้าแก่ผู้ที่แจ้งปัญหาได้แบบเรียลไทม์ โดยมีการขยายผลการใช้งาน 77 จังหวัด มีหน่วยงานใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 67) โดยมีท้องถิ่น อบต. เทศบาลถึง 4,000 แห่ง เข้ามาใช้ ทราฟฟี ฟองดูว์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมือง ทั้งนี้มีสถิติรับเรื่องร้องทุกข์ (มิ.ย. 65-ก.ค. 67) มาก กว่า 940,000 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้นมากกว่า 733,000 เรื่อง คิดเป็น 77%
“ไอที”เครื่องมือปฏิรูประบบราชการ
ดร.วสันต์ กล่าวว่าประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มทำให้ได้รับเสียงตอบรับ ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการฟรี จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการมีแพลตฟอร์มเรื่องไอที สามารถมาปฏิรูปเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการได้จริง ๆ ถ้าเรามีผู้บริหารที่เข้มแข็งทำให้เจ้าหน้าที่ ขรก.เห็นด้วยและประชาชนเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้ได้ประโยชน์
“เดิม กทม.มีเรื่องแจ้งร้องเรียนประมาณ 8 หมื่นเรื่อง ตอนนี้ในปี 2566 มีเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นจากปีแรกที่ผู้ว่าฯ มารับตำแหน่งถึง 4 เท่า และปีนี้เรื่องร้องเรียนเพิ่มเป็น 5 เท่า ในระยะ 2 ปี กทม.แก้ไขปัญหาให้ประชาชนไปแล้ว 5 แสนเรื่องใน 2 ปี เรารับเรื่องได้มากขึ้นแต่เราใช้คนเท่าเดิม งบประมาณเท่าเดิม เท่ากับว่าไอทีที่ดีสามารถแจ้งปัญหาได้รวดเร็ว แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว”ดร.วสันต์ ให้ข้อมูลว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วสถิติของประเทศเมื่อราชการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการแก้ปัญหา จนสถิติล่าสุดในเดือน มิ.ย. 65 ใช้เวลาแก้ปัญหาเหลือ 2 วันชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการแจ้งปัญหาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ถือว่าเกินความคาดหมาย ผู้บริหารเก่งขึ้น เจ้าหน้าที่เข้มแข็งและประชาชนสนใจที่จะเข้ามาร้องเรียนมากขึ้น
ทั้งนี้ระบบการร้องเรียนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงง่าย อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองความปลอดภัย ระบบไม่ถามว่าคนแจ้งเป็นใคร แม้กรณีการแจ้งเรื่องทุจริตก็ตาม
นอกจากนี้ ดาต้าในทราฟฟี ฟองดูว์ ถือเป็นข้อมูลเป็นสาธารณะที่สามารถนำไปต่อยอดทำวิจัย กรณีตัวอย่างในพื้นที่กทม.เรื่องป้ายโฆษณาแนะนำโครงการบ้านจัดสรร ที่ผ่านมาเมื่อติดเทศกิจเข้ามาเก็บเป็นวังวนแบบนี้เรื่อยมา ล่าสุดมีการเรียกผู้ประกอบการมาพูดคุย หาทางออกร่วมกันว่าจะติดตรงจุดไหนและเป็นจุดที่อยากให้คนเห็น และไม่ต้องรบกวนพื้นที่สาธารณะ หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยมีข้อตกลงร่วมกัน จบปัญหาที่เกิดมาอย่างยาวนานให้ยั่งยืน
ทราฟฟี ฟองดูว์ทำเมืองน่าอยู่
ดร.วสันต์ ย้ำว่า แพลตฟอร์ม ทราฟฟี ฟองดูว์ ช่วยให้เจอกัน ระหว่างคนเจอปัญหากับคนแจ้งปัญหา ทำให้เมืองดีขึ้น และ ในอนาคตจะขยายไปช่วยเรื่องบริการไฟฟ้า สายสื่อสาร อาคารสำนักงาน หรือว่าแจ้งเรื่องหน่วยงานราชการอื่น ๆ ได้ด้วย จะทำประโยชน์ให้สังคมไทย เพราะตัวระบบรับเรื่องร้องเรียนไม่จำกัด ใช้ระบบคลาวด์ โดยใช้เอไอมาช่วย
ผู้อำนวยการหน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง สวทช. กล่าวว่า เรื่องที่แจ้งเราได้รับการแก้ไขอย่าถือว่าเป็นการฟ้องเป็นการร้องเรียน เป็นการช่วยให้เมืองดีขึ้นแถวบ้านเราดีขึ้น สภาพแวดล้อมดีขึ้น ทุกเรื่องที่แก้ไขเราไม่ได้ดีคนเดียว ถ้าฝาท่อเปิดอยู่ทำให้คน กทม. ได้รับอันตรายปีละเท่าไร จากสถิติปี 60 คน กทม.ตกท่อปีละ 750 คน/เคส ถ้าเราแจ้งไม่ไป 1 ครั้ง อาจมีคนไม่ตกไป 100-1,000 คน ฟุตปาธที่ไม่เรียบ มีน้ำกระเซ็น เราแจ้งกัน 1 ครั้งหลายคนได้ประโยชน์ ทุก วันนี้มีการแก้ไขปัญหาทางเท้าไป 9 หมื่น เรื่อง แปลว่ามี 9 หมื่นแห่งแปลว่ามีคนเดิน เป็นร้อยเป็นพันต่อวันที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราแจ้งไป
ฟีเจอร์ใหม่เอไอทำให้คำฟ้อง “สุภาพ”
ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า ล่าสุด ทราฟฟี ฟองดูว์ ฟีเจอร์ใหม่ เอไอ ใน Traffy Fondue นั้น เพื่อที่จะช่วยให้การสื่อสารเรื่องแจ้งปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยี เอไอ มาเป็นตัวช่วยประมวลข้อมูลเรื่องรับแจ้งปัญหาที่ประชาชนแจ้งเข้ามา ตั้งแต่สรุปสาระของปัญหาที่ได้รับแจ้ง คัดแยกประเภทปัญหาจากข้อความ และรูปภาพ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา และสามารถเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ที่สำคัญคือการตรวจสอบคำหยาบ คำไม่สุภาพ และเสนอแนะข้อความที่สุภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตอบโจทย์ เรื่องที่แจ้งให้แก้ปัญหามากยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดี และสะท้อนการบริหารจัดการเมืองที่มีความโปร่งใสจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
นอกจากนี้ฟีเจอร์ใหม่ของ Traffy Fondue ยังพัฒนาขั้นตอนการแจ้งปัญหาจาก 5 ขั้นตอน เหลือ 3 ขั้นตอน เพื่อความสะดวกในการแจ้งเรื่องแก้ปัญหาให้กับประชาชน ได้แก่ 1.กดปุ่ม แจ้งเรื่องใหม่ แล้วแชร์พิกัดตำแหน่ง 2.พิมพ์รายละเอียดของปัญหา และ 3.ส่งภาพประกอบของปัญหาและรับการ์ดยืนยันการแจ้ง
ทั้งนี้ประชาชนและหน่วยงานที่ต้องการใช้ Traffy Fondue สามารถใช้ LINE สแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อน @TraffyFondue เพื่อแชตแจ้งปัญหา และติดตามรายงานอัปเดตการแก้ไข ปัญหาได้ ผ่านการแจ้งเตือนในของ LINE Chatbot และข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://www.traffy.in.th/
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 ก.ค. 2567 (กรอบบ่าย)