ความพยายามหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการเรื่อยมาตลอด 2 ปี คือการจัดระเบียบสายสื่อสาร และมุ่งหวังนำสายไฟฟ้าลงดิน เพื่อให้ทางเท้า ตลอดจนทัศนียภาพเมืองกรุงมีความสวยงาม ไม่รกรุงรังเหมือนที่ผ่านมา
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เรื่องนี้มีกระบวนการมาก ต้องใช้เวลา ตามหลักการ กทม.ไม่มีอำนาจโดยตรงในการจัดระเบียบสายสื่อสารหรือนำสายไฟฟ้าลงดิน แต่ในฐานะหน่วยงานรัฐ สามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น กสทช. กฟน. กปน. ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้มีส่วนงานหลายมิติ เช่น การทำท่อร้อยสายใต้ดิน อาจต้องมีการพัฒนาทางเท้า ไฟส่องสว่างความสะอาด ความปลอดภัย ควบคู่ไปด้วยตลอดจนการดำเนินงานอาจกระทบการจราจรบางส่วน รวมถึงต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการเจ้าของพื้นที่ต่างๆ โดยการทำท่อร้อยสายใต้ดินส่วนใหญ่ จะใช้วิธีดันท่อลอด เพื่อไม่เปิดผิวจราจรและทางเท้า และกระทบการจราจรน้อยที่สุด
การจัดระเบียบสายสื่อสาร คือการจัดระเบียบสายหรืออุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาตให้พาดหรือติดตั้งบนเสาไฟฟ้าเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และช่วยให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเสาไฟฟ้า 1 ต้น ประกอบด้วย สายไฟฟ้าแรงต่ำ230/400 โวลต์ สายไฟฟ้าแรงสูง 12,000/24,000 โวลต์ และสายสื่อสาร กทม. มุ่งเน้นไปที่การจัดระเบียบสารสื่อสารเป็นอันดับแรก เริ่มจากการติดตั้งคอนสื่อสารบนเสาไฟฟ้า (ปี2567 ดำเนินการแล้ว 74%) เพื่อแยกสายที่ใช้งานและติดสติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์ไว้ โดยรวบสายเข้าด้วยกันไม่เกิน 3 เส้นเคเบิล หากเกินกว่านั้นต้องเดินระบบสายใหม่ การจำแนกจัดระเบียบสายต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ กฟน.กสทช. ซึ่งเป็นผู้ตรวจรับงาน จากนั้นจึงว่าจ้างผู้ตัดสายที่ไม่ได้ใช้งาน และจัดระเบียบโดยเดินระบบสายเคเบิลใหม่ ในส่วนนี้จะทำให้สายต่างๆ ที่เคยหนาแน่น รกรุงรังบนเสาไฟฟ้าเบาบางลง มีความเรียบร้อยมากขึ้น
เมื่อจำแนกสายสื่อสารจนแน่ชัด จึงมาถึงขั้นตอนนำสายสื่อสารลงดิน โดยเริ่มจากการสำรวจพื้นที่เพื่อขุดสำรวจปัญหาอุปสรรคในระยะยาว ก่อนใช้วิธีดันท่อลอดและดึงท่อลอดใต้ดิน สร้างบ่อพักสายเพื่อติดตั้งจุดจ่ายสัญญาณจากนั้นจึงจะร้อยสายที่จำแนกแล้วเป็นลำดับสุดท้าย
โดย กทม.ร่วมจัดระเบียบสายสื่อสารกับกสทช.ตั้งแต่ปี 2565-2566 แล้วเสร็จทั้งหมด48 เส้นทาง ระยะ 192.36 กิโลเมตร (กม.) ในปี 2566 แล้วเสร็จเพิ่มอีก 10 เส้นทาง ระยะ 10 กม. ในปี 2567-2569 ตั้งเป้าจัดระเบียบ เฉลี่ยปีละ 300-450 กม. ส่วนการนำสายสื่อสารลงดินในปี 2565-2566 ดำเนินการไปแล้ว 7 เส้นทาง 62 กม. ในปี 2566 แล้วเสร็จเพิ่มอีก 4 เส้นทาง 20.2 กม. ในปี 2567 ตั้งเป้า 32 เส้นทาง68 กม. ปี 2568 ตั้งเป้า 9 เส้นทาง 55.8 กม. ปี69 ตั้งเป้า 1 เส้นทาง 5.5 กม.
สำหรับภาพรวมพื้นที่ กทม. ในปี 2566-2567 กสทช.วางแผนจัดระเบียบสายสื่อสารแบ่งเป็น กลุ่มเร่งด่วน จำนวน 542 เส้นทางระยะทาง 796.71 กม. ใน 26 เขต โดยพิจารณาจากพื้นที่ประชากรหนาแน่น เช่น เขตดินแดงบางซื่อ บึงกุ่ม คลองเตย ธนบุรี บางกอกน้อยจอมทอง วังทองหลาง ลาดพร้าว สวนหลวงเป็นต้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ มีจำนวน 82 เส้นทางระยะ 563.88 กม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญคือเมื่อสร้างท่อร้อยสายเสร็จแล้ว ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าสายที่จะนำลงดินใหม่ ไม่สามารถใช้สายเดิมได้ รวมถึงต้องมีการเช่าท่อร้อยสายเพิ่มเติม ซึ่งมีการทำความเข้าใจและได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่
ล่าสุด กทม.ได้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร พื้นที่ สามย่าน ถนนบรรทัดทองและสวนหลวง แล้วเสร็จ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ จากการติดตามผลดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาร้านค้าที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง มีผลต่อเรื่องการก่อสร้างการตัดกระแสไฟฟ้า เช่น ย่านเยาวราช เป็นต้นขณะเดียวกัน การดำเนินงานต้องเป็นไปตามแผนที่ กสทช.กำหนด โดยจะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารก่อน และให้การไฟฟ้านครหลวงนำสายไฟฟ้าลงดินให้เรียบร้อยก่อน จึงจะนำสายสื่อสารลงดินตามหลัง ซึ่งต้องย้ายสายและจำแนกให้ชัดเจนก่อน จึงจะตัดส่วนที่ไม่ได้ใช้ทิ้งและนำส่วนที่ใช้ลงดินได้ โดยสายสื่อสารส่วนใหญ่ 30% เป็นสายที่ไม่ได้ใช้ ต้องตัดทิ้ง
ทั้งนี้ กทม.ไม่สามารถตัดสายสื่อสารเองได้ เนื่องจากสายสื่อสารอยู่ในการควบคุมของกสทช. เสาไฟฟ้าอยู่ในความดูแลการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงตัวสายสื่อสารเป็นของผู้ประกอบการต่างๆ จึงต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“การนำสายสื่อสารลงดินมี 2 รูปแบบคือการไฟฟ้านครหลวงหักเสาแล้วนำสายลงดินวิธีนี้ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกวิธีคือ การจัดสายสื่อสารให้เป็นระเบียบ ทำได้เร็วกว่า จึงเริ่มจากวิธีนี้ก่อน เพื่อความเรียบร้อย โดยการไฟฟ้านครหลวงมีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า230 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งกรุงเทพฯ กว่า2,000 กิโลเมตร แล้วสายสื่อสารก็จะตามลงไป” นายชัชชาติ กล่าว
ปัจจุบัน กทม.มีแผนนำสายสื่อสารลงดินในปี 2567 จำนวน 32 เส้นทาง 68 กม. เช่นถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นต้น ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารมี 183 เส้นทาง 570 กม. เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ45 กม.
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 22 ก.ค. 2567