กรุงเทพธุรกิจ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถือเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มากที่สุด โดยในช่วงที่ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอให้มีการปรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะกรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้น้อยกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน
กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้ภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้ 1,256 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บได้ 1,802 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 จัดเก็บได้ 12,347 ล้านบาท
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่ากรุงเทพมหานครมีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ภาษีที่สูงขึ้นและใกล้เคียงกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่กรุงเทพมหานคร จัดเก็บได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวนประมาณ 15,300 ล้านบาท
ดังนั้นประมาณการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 ที่จำนวน 15,016 ล้านบาท จึงใกล้เคียงกับการจัดเก็บ ภาษีประเภทเดิมดังกล่าว
รวมทั้ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 ได้ โดยอัตราภาษีดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ ในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้ สศค.ยืนยันว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้ผู้เสียภาษีที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำและกรณีผู้เสียภาษีที่มีทรัพย์สินในลักษณะเดียวกันขนาดเท่ากัน และมีการใช้ประโยชน์เหมือนกันก็จะมีภาระภาษีเท่ากันจึงเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรม
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 ก.ค. 2567