“ดีอี” เล็งใช้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนช่วยประชาชน
“ประเสริฐ” เล็งใช้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศช่วยลงทะเบียนรับสิทธิ์ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพราะถือว่าเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลขณะที่ “คลัง” ยังไม่ปิดช่องทาง ม.28 สำหรับแจกเงินหมื่นบาท รอลุ้นผลการบริหารจัดการงบประมาณก่อน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ดีอีได้ร่วมกับสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนฝึกอบรมอาชีพกรุงเทพมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ) เขตทุ่งครุ พบว่า ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางการใช้บริการของคนในชุมชน โดยมีผู้ใช้บริการในกลุ่มผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
“ศูนย์ดิจิทัลชุมชนถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นสถานที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน และตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์บริการข้อมูล และช่วยเหลือการลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยได้มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้จัดอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วย”
นอกจากนั้น กระทรวงดีอียังได้จัดอบรมหลักสูตรเสริมภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับภาคทฤษฎีเพื่อส่งเสริมอาชีพ โดยใช้แอปพลิเคชันหลักของ สดช. ร่วมกับแอป “ทางรัฐ” และแอป OFOS (One Family One Softpower) โดยนำความรู้จากการอบรมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบลายผ้าประจำพื้นที่ (ส้มบางมด และดอกทองอุไร) เครื่องวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 และเทคโนโลยีหุ่นยนต์
นายประเสริฐกล่าวอีกว่า กระทรวงดีอียังได้กำหนดให้เขตทุ่งครุเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในพื้นที่ กทม. เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่โรงเรียน อาทิ ระบบเตือนภัยฉุกเฉินติดตั้งกล้องวงจรปิด ติดตั้งระบบ IoT และอุปกรณ์เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในโรงเรียน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังไม่ปิดช่องทางการใช้เงิน มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการเงินงบประมาณ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมวงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 450,000 ล้านบาท ตามการประเมินว่าจะมีประชาชนมาใช้สิทธิ 45 ล้านบาท แต่หากเงินงบประมาณไม่เพียงพอก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินมาตรา 28 แต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีประชาชนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 100% หรือราว 50.7 ล้านคน กระทรวงการคลังขอยืนยันว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน เนื่องจากมีเงินเพียงพออย่างไรก็ตามคาดว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ จะทราบจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างแน่นอน ส่วนประเด็นการใช้เงินงบประมาณเหลื่อมปีจากปี 67 ข้ามไปปี 68 นั้น สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว เพราะได้ลงนามสัญญาผูกพันไว้แล้วก่อนสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งมีหลายโครงการของรัฐที่ได้ทำสัญญากับเอกชนเพื่อเป็นงบผูกพันข้ามปี ฉะนั้น ประเด็นนี้ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สิ่งที่หลายฝ่ายมีความกังวลและตั้งประเด็นสังเกตคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและแหล่งเงินที่ใช้มาตลอด นับตั้งแต่ประกาศหาเสียงว่าจะแจกให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ล่าสุดมีเงื่อนไขว่า ประชาชนที่มิสิทธิ์เข้าร่วมโครงการได้ต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 840,000 บาท และมีเงินฝากในบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 มี.ค.67
ขณะที่การใช้เงินงบประมาณจากเดิมอยู่ที่ 560,000 ล้านบาท ปรับลดลงมาเหลือ 500,000 ล้านบาท และล่าสุดเหลือ 450,000 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินมาจากการออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมปี 67 วงเงิน 122,000 ล้านบาท และมาจากการบริหารจัดการงบประมาณอีก 43,000-48,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 165,000-170,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 68 อีก 280,000 ล้านบาท.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 24 ก.ค. 2567 (กรอบบ่าย)