ลุยรับซื้อโล 15 บ.-ปลาหมอคางดำ

กรมประมงสอบปล่อยหลุดแม่น้ำ

กรมประมงเปิดแผน 5 มาตรการ 12 กิจกรรมเร่งสกัดปลาหมอคางดำ พบระบาดแล้ว 16 จังหวัด สัปดาห์หน้าเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำโลละ 15 บาทในพื้นที่ 16 จังหวัดระบาด ด้านกลุ่มประมงสมุทรสงครามจี้รับซื้อโลละ 20 บาท ชาวประมงสมุทรสาครเผยปลา กระบอกลดลงอื้อหลังปลาหมอคางดำระบาด ‘ธรรมนัส’สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปมปลาหมอคางดำ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’สั่งหาช่องเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยซึ่งพบตั้งแต่ปี 2560 และแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อต้นปี 2567 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และปัญหาเชิงระบบนิเวศที่กำลังจะตามมา จึงกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรฯ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น และออก 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 2.การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง หรือปลาผู้ล่าชนิดอื่น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3.การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู 4.การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ และ 5.การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน โดยกรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันพบการแพร่ระบาดเพิ่มในบางพื้นที่ของ 9 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และได้รับการแจ้งว่ามีการระบาดเพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม และนนทบุรี รวมทั้งสิ้น 16 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด

โดยกรมประมงปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าทั้งปลากะพงขาว ปลาอีกง และอื่นๆ แล้ว กว่า 226,000 ตัวลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใน 7 จังหวัด ประกอบด้วยจ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพฯ ราชบุรี และสงขลา และยังมีโครงการจะปล่อยอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ กรมประมงขอยืนยันว่าปลาหมอคางดำขนาดโตเต็มวัยไม่สามารถกินลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าขนาด 4 นิ้วที่ปล่อยลงไปได้

ทั้งนี้ ทางจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อดำเนินการทำร่างแผนปฏิบัติการและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับ 5 มาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในระหว่างที่รอของบกลาง และสั่งการเร่งด่วนมายังอธิบดีกรมประมงให้เร่งจัดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ภายใน 1 สัปดาห์ ราคา 15 บาทต่อก.ก.

นายบัญชากล่าวด้วยว่า สัปดาห์หน้าประชาชนสามารถนำปลาหมอคางดำไปขายที่จุดรับซื้อปลาหมอคางดำใน 16 จังหวัดดังกล่าวที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์สั่งการให้ปรับราคารับซื้อเป็น 15 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) จากราคารับซื้อ 8-10 บาท/ก.ก.

นายบัญชากล่าวต่อว่า สำหรับที่มาของการระบาดของปลาหมอสีคางดำ กรมประมงกำลังตรวจสอบที่มาและในส่วนกรณีที่มีการอนุญาตให้เอกชนนำเข้า 2,000 ตัว เมื่อธ.ค.2553 เพื่อนำมาทดลองที่ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำจืดที่จ.สมุทรสงคราม ต่อมาเดือนม.ค.2554 ได้ระบุว่าทำลายตัวอย่างทั้งหมดเรียบร้อย และแจ้งกรมประมงแล้ว กรมประมงดำเนินการตรวจสอบจากหนังสือรับแจ้งในช่วงปี 2553-2554 ไม่พบการนำส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำ 50 ตัว บันทึกในสมุดลงทะเบียน รวมทั้งไม่มีตัวอย่างขวดโหลดองปลาตามที่บริษัทกล่าวอ้างแต่อย่างใด ยอมรับว่ากฎหมายเมื่อปี 2553 การขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำมีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ 1.ต้องส่งตัวอย่างปลา โดยจะเป็นการดองปลาทั้งตัวในโหลฟอร์มาลิน หรือจะเก็บเป็นตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการตรวจดีเอ็นเอ และ 2.เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ผู้นำเข้าต้องส่งผลการทดลองให้กับจนท.กรมประมงเพื่อรายงานผล และทำลายตัวอย่างการทดลองทั้งหมด ซึ่งหากผิดเงื่อนไขกรมประมงจะไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์อื่น ไม่มีกฎหมายลงโทษ จึงต้องแก้กฎหมายนี้เพื่ออนาคต

“หลักฐานการได้มาของปลาในวันนั้น ใครมีอะไรในมือต้องมาพิสูจน์กัน แต่กรมประมงยืนยันว่ามีเอกชนรายเดียวที่ยื่นขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำเข้ามาในประเทศไทย ส่วนการส่งออกยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ยืนยันว่ากรมประมงไม่เคยได้รับแจ้งจากเอกชนว่าฝังกลบปลาตัวอย่างทดลอง หลังจากนั้นเมื่อปี 2560 เจ้าหน้าที่ประมงเข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแต่ไม่เจอหลุมฝังกลบแล้ว และจุดที่ฝังทำลายก็มีการก่อสร้างอาคารทับไปแล้ว กรณีตัวอย่างปลาหมอคางดำที่นำเข้ามาทดลองแล้วไม่มีการส่งตัวอย่าง รวมทั้งรายงานผลการวิจัยและแจ้งการทำลาย ทางกรมประมงจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุของการที่ปลาหมอคางดำหลุดเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของไทย หากพบว่าเรื่องนี้มีสิ่งใดที่เจือปนทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงจึงค่อยดำเนินการเอาผิดกับเรื่องดังกล่าวต่อไป หากมีหลักฐานที่ชัดเจน เราจะจัดการเอาผิดอย่างแน่นอน” นายบัญชากล่าว

วันเดียวกัน นายสุรเดช แหวนทองคำ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่ ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ทุกวันนี้ปลากระบอกที่เคยอยู่ตามชายฝั่งลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้ปลากระบอกลดลงนั้นอย่างหนึ่งมาจากปลาหมอคางดำกินสัตว์น้ำชายฝั่งขนาดเล็ก ทำให้ลูกปลากระบอก ลูกปู ลูกกุ้ง และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กหรือสัตว์น้ำเกิดใหม่ลดน้อยลง เพราะปลาหมอคางดำจะกินพวกสัตว์น้ำเกิดใหม่

วันเดียวกัน นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รอง ผวจ.สงขลา เป็นประธานกิจกรรม คิกออฟ จับปลาหมอคางดำ ซึ่งนายเจริญ โอมณี ประมง จ.สงขลา ร่วมกับ อปท.เครือข่ายและชุมชน ต.พังยาง ต.ระวะ จัดขึ้นในคลองพังยาง-ระวะ หมู่ 4 ต.ระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา โดยมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม 400 คน จับปลาหมอคางดำ 114 ก.ก. ตัวใหญ่สุดมีน้ำหนัก 3.20 กรัม

นอกจากนี้ยังพบในลำคลองพังยาง คลองระวะ คลองสาขาและบ่อพักเลี้ยงกุ้งอยู่บ้าง โดยจะปล่อยปลากะพงลงแหล่งน้ำธรรมชาติ 30,000 ตัว และในแหล่งน้ำกันชนแห่งละ 10,000 ตัวเพื่อช่วยกำจัดปลาหมอคางดำ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เบื้องต้นกรมประมงประสานจังหวัดตั้งจุดรับซื้อในราคา 15 บาทต่อก.ก. และดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ.2567-2568 จำนวน 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนก.ค.2567-ก.ย.2568 และแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเพื่อหาต้นตอ

นายชัยกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กำจัดปลาหมอคางดำไปแล้ว 623,370 ก.ก. นอกจากนั้นได้ดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำเพื่อทำให้เป็นหมัน ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำให้ไปผสมพันธุ์กับปลาที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) ทำให้เกิดลูกปลาหมอที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 2.5 แสนตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในกรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้มอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ไปดูเรื่องระเบียบข้อบังคับของ กทม.ว่ามีระเบียบไหนที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จึงให้ดูระเบียบอย่างรอบคอบ หากสามารถดำเนินการได้ให้กำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดเรื่องการเยียวยา แต่เบื้องต้นการเยียวยาจะให้เฉพาะเกษตรกรที่ลงทะเบียนเท่านั้น คาดว่า 2-3 วันจะสามารถสรุปได้ว่ามีเกษตรกรกี่รายที่ได้รับผลกระทบ

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลที่อยู่รอยต่อกรุงเทพฯ นั้น กรมประมงจะดูแลควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาดเป็นหลัก เบื้องต้นทราบว่าจะมีการปล่อยปลาผู้ล่า หรือปลากะพงขาวจำนวน 1 แสนตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ 10 จุด ส่วนพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑลนั้น จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการทำงาน กทม. และจังหวัดปริมณฑล เมื่อวันที่ 16 ก.ค. มีการรายงานการพบปลาหมอคางดำในแต่ละพื้นที่ไม่มาก กทม.จึงตั้งเครือข่ายกับจังหวัดปริมณฑลดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หากจังหวัดใดพบการแพร่ระบาด สามารถแจ้งข้อมูลมาที่เครือข่าย เพื่อจะได้ช่วยกันป้องกันเพราะคลองหลายสายในจังหวัดปริมณฑลนั้นมีการเชื่อมต่อกับกทม. เช่น คลองสนามชัย พื้นที่บางขุนเทียนที่เชื่อมหลายจังหวัด เช่น จ.สมุทรสาคร หรือคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ติดกับ จ.ฉะเชิงเทรา เชื่อมต่อเขตประเวศ มายังคลองแสนแสบที่บึงมักกะสันได้

“ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ สำนักงานเขตบางขุนเทียนจะประกอบเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำและแจกให้กับกลุ่มเปราะบางและประชาชนทั่วไปด้วย ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดจำนวนปลาหมอคางดำที่มีการแพร่ระบาด” นายชัชชาติกล่าว

 



ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 18 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200