ย้ำประโยชน์คัดกรอง-วินิจฉัย ลดเสี่ยงโรค ช่วยเมืองกำหนดนโยบาย
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ตามนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม.ที่ต้องการตรวจสุขภาพประชาชนในระดับเส้นเลือดฝอยว่า ในส่วนกทม.ตรวจสุขภาพเชิงลึกไปแล้ว 370,000 คน เป็นตัวเลขที่เป็นการเข้ามาตรวจกับหน่วยบริการสาธารณสุขสังกัดกทม. ทั้ง รพ. 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 69 แห่ง ศูนย์ Health Tech และการออกหน่วยเคลื่อนที่ของสำนักแพทย์-สำนักอนามัย
อย่างไรก็ตาม หากรวมกับการตรวจสุขภาพของหน่วยงานภาคีเครือข่าย เช่น สปสช. ประกันสังคม จะใกล้ถึงเป้าหมายล้านคนแล้ว ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพตามโครงการของ กทม.ครั้งนี้ เป็นการตรวจเชิงลึก ต่างจากอดีตที่ตรวจเพียงผิวเผินทำให้ประชาชนไม่นิยม
“การตรวจคัดกรองแบบเชิงลึกที่หากเราไปตรวจสุขภาพเองที่ รพ.จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง กทม.เล็งเห็น ความสำคัญสุขภาพจึงต้องการให้คัดกรองสุขภาพแท้จริงและไม่มีค่าใช้จ่าย กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ทั่ว กทม. รวมถึงศูนย์การค้าในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสุขภาพง่ายขึ้น”
สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการตรวจสุขภาพที่ได้มากกว่าการคัดกรองความเสี่ยง โดยเป็นการตรวจทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ ตรวจโรคเบาหวาน ตรวจโรคความดันโลหิต ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด การทำงานของไต จากการเจาะเลือด ตรวจโรคหัวใจ ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจการทำงานของปอด ด้วยการตรวจเอกซเรย์ปอด
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจวัดความผิดปกติของสายตา ตรวจภาวะแทรกซ้อน เบาหวานขึ้นตาในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตรวจคัดกรองสุขภาพจิต ประเมินความเครียด ภาวะซึมเศร้า และอื่น ๆ ซึ่งการตรวจ 1 คนใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาที-1.30 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เมื่อทราบว่าประชาชนมีภาวะป่วยด้วยโรคใด หรือแพทย์ผู้ให้คำแนะนำเห็นว่าควรเข้าสู่การรักษาก็จะนำส่งเข้ารักษาตามสิทธิ เช่น หากประชาชนมีสิทธิรักษาใน รพ. สังกัดกทม. ก็ทำเรื่องส่งต่อได้ แต่หากประชาชนใช้สิทธิรักษาอื่น ๆ แพทย์ก็จะเขียนอาการและข้อมูลสุขภาพให้นำไปรักษาต่อ
รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ การจัดโครงการตรวจเช่นนี้ไม่ใช่เพียงต้องการให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพ แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับสาธารณสุข หรือกระทั่ง กทม.ก็จะรู้ข้อมูลว่า ขณะนี้ประชาชนที่อยู่ในการดูแลของตนเองมีภาวะเสี่ยงที่จะป่วย เป็นโรคใด และจัดกิจกรรมด้านสุขภาพได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
“ยกตัวอย่าง กทม.เองมีข้อมูลราว 4 แสนคน ทำให้รู้ว่าประชากรที่ทำงานอยู่ในบริเวณ หรือสิ่งแวดล้อมแบบไหน ส่งผลให้มีภาวะป่วยแบบใด และถึงแม้จะไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่าอาชีพ สภาพที่อยู่อาศัย รูปแบบการใช้ชีวิตจะส่งผลให้ป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้โดยตรง แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า กทม.ควรจัดการส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนที่มีรูปแบบกิจกรรม ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เห็นผล”
นอกจากนี้ ระบุถึงประโยชน์ที่จะได้ในการนำไปวางนโยบายด้านอื่น ๆ รองรับ เช่น สวนสาธารณะ เครื่องออกกำลังกาย ควรเป็นแบบใด เพื่อให้การทำกิจกรรมส่งเสริม สุขภาพของแต่ละเขต ตอบโจทย์กลุ่มคนได้มากที่สุด.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ก.ค. 2567