ล่าปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติทำลายสัตว์พื้นถิ่น

“ธรรมนัส” ประกาศไล่ล่า “ปลาหมอคางดำ” ยกเป็นวาระแห่งชาติ ชี้เป็นสัตว์อันตราย พร้อมศึกษาโครโมโซมทำหมันตัวผู้ ตัดตอนแพร่พันธุ์ ตั้งงบรับซื้อมาทำปุ๋ย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่พันธุ์ อย่างรวดเร็วของปลาหมอคางดำ ว่า ตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ก็รับทราบปัญหามาโดยตลอด และได้สั่งการให้จัดการ ซึ่งเมื่อสมัยก่อนเรียกปลาหมอสีคางดำ แต่สมัยนี้ไม่มีสีแล้ว ถือเป็นสายพันธุ์พิเศษที่ขยายพันธุ์ได้ไว และกินทุกอย่างที่เป็นสัตว์น้ำ ถือว่าเป็นสัตว์อันตรายและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องนำมาเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้การปฏิบัติการที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ใหม่ที่จะทำให้ปลาหมอเป็นหมัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายต้องคิดหลายขั้นตอน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปศึกษาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ในการเปลี่ยนโครโมโซม ให้ปลาหมอตัวผู้ ไปผสมพันธุ์แล้วเป็นหมัน และหากโครโมโซมตัวนี้ไปผสมพันธุ์กันเองจะเกิด สายพันธุ์ใหม่อีกหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ละเอียด แต่ ณ เวลานี้ ต้องปฏิบัติการล่าและฆ่าให้หมด นอกจากนี้ ตนยังได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ตั้งงบประมาณเป็นกองทุนในการรับซื้อปลาหมอ เพื่อนำไปทำปุ๋ย

ร.อ.ธรรมมนัสกล่าวต่อว่า ส่วนการค้นหาว่าใครเป็นต้นเหตุที่มาของ ปลาหมอ ตนได้สั่งการให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบมา โดยตลอด ซึ่งความชัดเจนยังไม่มี เพราะ การที่เราจะไปโทษบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เราจึงต้องทำงานให้ละเอียด แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องหาข้อมูลจากสภาผู้แทนราษฎรว่าปลาหมอคางดำใครนำเข้ามาสู่ ราชอาณาจักร ฉะนั้นจึงต้องทำงานประสานกัน คาดว่าเร็วๆ นี้จะได้รายละเอียด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้ถ้ามีการนำเข้าถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ใช่หลังจากนี้ แต่ก่อนนี้ก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ รับอนุญาตห้ามนำเข้า

เมื่อถามต่อว่าปลาหมอที่ถูกนำเข้าประเทศ คาดว่าเข้ามาเมื่อช่วงปีไหน ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า จริงๆ แล้วมันหนัก มาหลายปีแล้ว และเราก็มีการล่ามาโดยตลอดทุกจังหวัด และมีปฏิบัติการในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ แต่ตอนนี้ขยายไปถึงเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และอยู่ได้ทั้งลำน้ำสาขาทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และ น้ำเค็มมันอยู่ได้หมด

เมื่อถามอีกว่าตอนนี้เหมือนว่าจะเริ่มบุกเข้ามาของชั้นในของกรุงเทพฯแล้ว ร.อ.ธรรมมนัสกล่าวว่า อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก เราจะต้องมีการป้องกันอย่างเอาจริงเอาจัง

เมื่อถามย้ำว่ามีข้อมูลว่าบริษัทที่นำเข้าปลาชนิดนี้ เชื่อมโยงข้อมูลของคลอง ในจังหวัดสมุทรสงคราม ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ข้อมูลนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เราไปตีความกันไม่ได้ เราจะต้องหาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน

ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยเขียนแคปชั่นระบุว่า “เมนู ปลาหมอคางดำ” เผยภาพครัวที่กำลังทำอาหารเมนูปลาหมอคางดำ ไม่ว่าจะเป็นปลาหมอคางดำทอดกระเทียม ปลาหมอคางดำราดพริก

หลังจากนั้น นายชัชชาติก็ทดลอง กินเมนูปลาหมอคางดำให้ประชาชนได้รับชมกัน พร้อมกล่าวว่า อร่อย เนื้อปลาโอเค กินได้ ไม่ได้สนับสนุนให้เลี้ยงปลาหมอคางดำ แต่จับมาแล้วก็เอามากิน เอามาใช้ประโยชน์ หลังจากนี้จะไปลงพื้นที่บึงมักกะสันต่อ

จากกรณีปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ไปหลายจังหวัด รวมทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยพบว่าปลาหมอคางดำ กระจายไปแล้วหลายเขต ไม่ว่าจะเป็นเขต บางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และบางบอน ล่าสุดยังพบที่บึงมักกะสันอีกด้วย

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 17 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200