Search
Close this search box.
ยกต้นแบบคัดแยกขยะจากต้นทางอาคาร CW Tower เปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยบำรุงดิน คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างเดอะเบส สำรวจ Hawker Center พระราม 9 ซอย 13 พัฒนาสวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 แก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งขยะถนนกำแพงเพชร 7 เขตห้วยขวาง

(15 ก.ค. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ (CW Tower) พื้นที่ 204,170 ตารางเมตร บุคลากรของฝ่ายบริหารอาคาร 50 คน ผู้เช่าและร้านค้าภายในอาคาร 3,700 คน ผู้ใช้บริการ 600 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ฝ่ายบริหารอาคารและแม่บ้าน จะคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ปะปนมากับขยะทั่วไป จัดกิจกรรมโครงการ Perk From Trash แยก-แลก-สะสม เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังการคัดแยกขยะให้กับผู้เช่าภายในอาคาร โดยให้ผู้เช่านำขยะรีไซเคิลมาขายให้กับฝ่ายบริหารอาคาร โดยรับซื้อในอัตรา X2 จากราคารับซื้อตลาด และสะสมเป็นแต้มเพื่อใช้แทนเงินสดนำมาแลกของรางวัล เช่น แลกส่วนลดค่าที่จอดรถ แลกส่วนลดค่าระบบปรับอากาศนอกเวลาทำการ นอกจากนี้ยังมีห้องจัดเก็บขยะรีไซเคิล ซึ่งทำมาจากวัสดุรีไซเคิลผสมกับวัสดุจากธรรมชาติ เป็นนวัตกรรมจาก SCG และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกก่อตั้งโครงการ Care the Whale ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันหาแนวทางวิธีการบริหารจัดการขยะรีไซเคิลในรูปแบบต่าง ๆ 2.ขยะอินทรีย์ ติดตั้งเครื่องย่อยสลายขยะอินทรีย์ โดยการใช้จุลินทรีย์เพื่อทำให้กลายเป็นสารปรับปรุงดินและนำไปใช้ประโยชน์ปลูกพืชผักทางการเกษตร หรือปลูกต้นไม้ทั่วไปรอบอาคาร ขอความร่วมมือให้ผู้เช่า ร้านค้า ตลาดนัด และศูนย์อาหาร คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นำไปจัดเก็บภายในห้องขยะเปียก ฝ่ายบริหารอาคารจะตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับขยะอินทรีย์ ก่อนจะนำขยะทั้งหมดใส่เครื่องย่อยสลายขยะ หลังจากใส่ขยะอินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมง จะได้สารปรับปรุงดินในอัตราส่วน 1:10 คือขยะอินทรีย์ 10 กิโลกรัม จะได้สารปรับปรุงดิน 1 กิโลกรัม 3.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งขยะอันตราย เมื่อมีปริมาณขยะจำนวนมากเต็มถังขยะ 1 ถัง จะประสานเขตฯ รับไปกำจัด 4.ขยะทั่วไป ทิ้งขยะทั่วไปตามจุดคัดแยกที่กำหนดไว้ แม่บ้านส่วนกลางจะรวบรวมไปไว้ที่ห้องจัดเก็บขยะแห้ง ขยะที่จำหน่ายหรือรีไซเคิลได้ จะถูกรวบรวมนำส่งให้ผู้ที่รับไปรีไซเคิล สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 47,113 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 43,626 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 1,372 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 4,859 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1,983 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 9 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/เดือน

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเดอะเบส พระราม 9 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 29 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเปิดตลอดเวลาทำการก่อสร้าง ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ รวมถึงทำความสะอาดพื้นโครงการไม่ให้มีเศษฝุ่นตกค้าง ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ 16 แห่ง ประเภทโรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 14 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณถนนพระราม 9 ซอย 13 ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือประสานตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ยังมีพื้นที่ว่างสามารถรองรับผู้ค้าได้อีกจำนวนหนึ่ง ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 รองรับผู้ค้าได้ 80 ราย ตลาดเมืองไทยภัทร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ รองรับผู้ค้าได้ 160 ราย ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นพื้นที่เอกชน จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณายกเลิกจุดทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 116 ราย ดังนี้ 1.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข  ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. 3.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/เมืองไทยภัทร ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 5.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 6.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 7.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 8.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 9.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. และ 10.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 ผู้ค้า 16 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-20.00 น. ที่ผ่านมา เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 5 จุด ได้แก่ 1.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT รัชดาภิเษก ผู้ค้า 6 ราย 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT ห้วยขวาง ผู้ค้า 11 ราย 3.ถนนพระราม 9 ซอย 5 ผู้ค้า 6 ราย 4.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคาร MSIG ผู้ค้า 5 ราย 5.ถนนเทียมร่วมมิตร (ขาออก) ผู้ค้า 7 ราย นอกจากนี้เขตฯ ได้ยุบรวมจุดทำการค้า 1 จุด คือถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข  ผู้ค้า 30 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าอีก 1 จุด คือ ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 7 ราย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตห้วยขวาง ได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตลอดจนเพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 1 งาน 20 ตารางวา 2.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเทียนร่วมมิตร พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา 3.สวนพรรณภิรมย์ พื้นที่ 13 ไร่ 25 ตารางวา 4.สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ พื้นที่ 9 ไร่ 38 ตารางวา 5.สวนหย่อมหลังไปรษณีย์ห้วยขวาง พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา 6.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พื้นที่ 3 งาน 69 ตารางวา 7.สวนหย่อมประชาอุทิศ พื้นที่ 80 ตารางวา 8.สวนหย่อมบ้านหนังสือชุมชนทับแก้ว พื้นที่ 1 งาน 91 ตารางวา 9.สวนอยู่เจริญภิรมย์ พื้นที่ 2 งาน 42.2 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมพระราม 9 แยก 11 พื้นที่ 3 งาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 2.สวนสบายใจข้างฝ่ายทะเบียนเขตห้วยขวาง พื้นที่ 20 ตารางวา 3.สวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในสวน

ติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะ ถนนกำแพงเพชร 7 ริมทางรถไฟสายตะวันออก ตรงข้ามประตูทางเข้าวัดอุทัยธาราม (บางกะปิ) ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและล้อมรั้ว พร้อมทั้งประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ประธานชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการไล่รื้อผู้บุกรุกและจ้างเหมารถแม็คโคร เข้าดำเนินการรวมกองขยะไว้ริมถนนกำแพงเพชร 7 และขอสนับสนุนเขตฯ ในการขนขยะไปทิ้ง โดยเขตฯ ได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม สนับสนุนรถบรรทุกพร้อมเครนติดตั้งไฮโดรลิคและรถบรรทุกเทท้าย ในการขนขยะไปทิ้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

ในการนี้มี นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200