Search
Close this search box.
จับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้าง Nue Evo Ari ปั้นสวน 15 นาที สวนซอยหม่อมแผ้วริมถนนพระราม 6 ซอย 41 ตรึงแนวแผงค้าถนนสาลีรัฐวิภาค ชมคัดแยกขยะ The Seasons Mall เขตพญาไท

(9 ก.ค. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพญาไท

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ นิว อีโว อารีย์ (Nue Evo Ari) ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 42 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร และอาคารจอดรถ ความสูง 7 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ดังนี้ เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้าง ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนที่ผ่านเข้าออกโครงการ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 พร้อมจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 2 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 8 แห่ง ประเภทโรงงานจำพวก 3 (ผลิตยา) 1 แห่ง ประเภทโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 3 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณสวนหม่อมแผ้ว ถนนพระราม 6 ซอย 41 เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนพญาไทภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2.สวนอารีสัมพันธ์ พื้นที่ 9 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนร่วมมิตร @ เขตพญาไท พื้นที่ 2 งาน 35 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศ 2.สวนอินทามระ 14 @ เขตพญาไท พื้นที่ 1 งาน 3.สวนซอยหม่อมแผ้ว @ เขตพญาไท ถนนพระราม 6 ซอย 41 พื้นที่ 200 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการประปานครหลวง 4.สวนวิภาวดี @ เขตพญาไท แยกถนนวิภาวดีรังสิตตัดถนนสุทธิสาร พื้นที่ 100 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง 5.สวนย่านพหลโยธิน @ เขตพญาไท ปากซอยร่วมมิตร ถนนพหลโยธิน พื้นที่ 1 งาน 12 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการ 6.สวนร่มสุข @ เขตพญาไท ถนนพระรามที่ 6 พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการประปานครหลวง อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนรณชัย 2 @ เขตพญาไท ถนนกำแพงเพชร 6 พื้นที่ 200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในชุมชนที่เข้ามาใช้บริการ

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนสาลีรัฐวิภาค เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 209 ราย (กลางวัน 121 ราย กลางคืน 88 ราย) ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 7 ผู้ค้า 77 ราย (กลางวัน 65 ราย กลางคืน 12 ราย) 2.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 67 ราย (กลางวัน 12 ราย กลางคืน 55 ราย) 3.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 21 ราย (กลางคืน 21 ราย) ส่วนอีก 1 จุด บริเวณหน้า ป.ป.ส. ถนนดินแดง ผู้ค้า 44 ราย (กลางวัน 44 ราย) ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักเทศกิจเสนอขอความเห็นชอบให้เป็นจุดผ่อนผันต่อเจ้าพนักงานจราจร ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 80 ราย (ผู้ค้าเก่า 40 ราย ผู้ค้าใหม่ 40 ราย) ได้แก่ 1.บริเวณถนนสาลีรัฐวิภาค ผู้ค้า 54 ราย (เก่า 32 ราย ใหม่ 22 ราย) 2.ซอยพหลโยธิน 9 ผู้ค้า 17 ราย (เก่า 3 ราย ใหม่ 14 ราย) 3.หน้าโรงแรมแกรนด์ Tower Inn ผู้ค้า 9 ราย (เก่า 5 ราย ใหม่ 4 ราย) ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ผู้ค้า 28 ราย 2.หน้าโรงพยาบาลเปาโล ซึ่งเดิมควบรวมกับจุดถนนสาลีรัฐวิภาค ผู้ค้า 32 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566) นอกจากนี้ เขตฯ ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) จัดทำ Hawker Center บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต่อมาได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ให้ใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 10 จัดทำ Hawker Center รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในการจัดระเบียบพื้นที่ ซึ่งผู้ค้ายินดีให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ตั้งวางสินค้าอยู่ในแนวเส้นที่กำหนด จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ สุ่มสแกนคิวอาร์โค้ดตรวจสอบตัวตนของผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนทำการค้าไว้กับทางเขตฯ โดยให้ผู้ค้าติดป้ายชื่อที่ร้านค้า และติดบัตรแสดงตัวตนทุกครั้งที่ทำการค้า เพื่อป้องกันบุคคลอื่นแอบสวมรอยเข้ามาทำการค้า

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ The Seasons Mall (เดอะซีซั่นส์มอลล์) ถนนพหลโยธิน พื้นที่ 6,000 ตารางเมตร พนักงานและผู้เช่า 300 คน ผู้มาใช้บริการ 2,000 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานและร้านค้าคัดแยกขยะเศษอาหาร ตั้งถังขยะรองรับขยะอินทรีย์ ขยะเศษอาหารจะมีเอกชนมารับทุกวันเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานและร้านค้าคัดแยกขยะรีไซเคิล แม่บ้านจะเก็บรวบรวมขยะ เมื่อได้ปริมาณมากพอจะนำไปจำหน่าย เงินที่ได้จะนำมาเป็นสวัสดิการให้แก่แม่บ้าน 3.ขยะทั่วไป ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานและร้านค้าคัดแยกขยะก่อนทิ้ง แม่บ้านจะเก็บรวบรวมไว้ที่จุดพักขยะ เพื่อรอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะ ประสานเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 535 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 400 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่างๆ ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพญาไท สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—–  (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200