‘ชัชชาติ’นำซ้อมใหญ่ ขบวนเชิญคนโทน้ำฯ

เฉลิมพระเกียรติ6รอบ เสก’น้ำศักดิ์สิทธิ์’วันนี้ รบ.ชวนชมพระราชพิธี

รบ.จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จัดทั่วประเทศ

พิธีสมโภชน้ำพระพุทธมนต์

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในการ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้ประกอบพิธีพลีกรรม ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดต่างๆ เพื่อนำไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 จะมีพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จัดขึ้นพร้อมกันโดยถือฤกษ์เวลา 17.09 น. เริ่มทำพิธีพร้อมกันทั่วประเทศ

สำหรับวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 จะมีการประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่จะเชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567

จากนั้นอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 กำหนดการจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนสามารถเข้าร่วมพิธี เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในวัดที่ประกอบพิธีของแต่ละจังหวัดได้ โดยผู้เข้าร่วมพิธีสามารถสวมใส่ชุดสุภาพโทนสีเหลือง หรือเสื้อตราสัญลักษณ์ 72 พรรษา ในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว

ขณะที่พิธีขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์ฯ (ทุกจังหวัด) จากกระทรวงมหาดไทยไปวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 07.00 น. จากนั้นในวันเดียวกัน เวลา 16.30 น. มีการจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ฯ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

ส่วนกำหนดจัดขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์ฯ จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรม มหาราชวัง ในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 ฤกษ์เวลา 16.35 น.

ชวนติดตามโบราณราชประเพณี

น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องใน โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า ในวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2567 ทุกจังหวัดจะจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และต่อเนื่องด้วยการจัดพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นจะมีการจัดมหรสพสมโภช ในระหว่าง วันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง ก่อนจะเชิญคนโทน้ำพุทธมนต์มาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 จากนั้น จะเชิญน้ำพระพุทธมนต์จากวัดพระเชตุพนฯไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในช่วงเช้าของวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โอกาสนี้ขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวและร่วมติดตามรับชมการถ่ายทอดสดพิธีกรรมสำคัญที่อยู่คู่เมืองไทยมานานและหาชมได้ยาก โดยสามารถรับชมได้ผ่าน NBT2HD และช่องทางออนไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ “พระลาน” www.phralan.in.th

ทุกจว.จัดอย่างสมพระเกียรติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ทุกจังหวัดจะประกอบพิธี เสกน้ำพระพุทธมนต์ และพิธีเวียนเทียนสมโภช น้ำพระพุทธมนต์ในวันที่ 7-8 ก.ค. จากนั้นวันที่ 14 ก.ค.ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จะเชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์มาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย และในวันที่ 25 ก.ค.จะมีพิธีเชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เพื่อทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ร่วมแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีในพิธีอันเป็นมงคลและศักดิ์สิทธิ์ และถือเป็นการได้ร่วมปฏิบัติบูชาถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์วันที่ 7 ก.ค.ฤกษ์เวลา 17.09 น. และพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ในวันที่ 8 ก.ค.ฤกษ์เวลา 12.00 น. ณ วัดในทั้ง 76 จังหวัด (เรียงตามตัวอักษร) ดังนี้

1.กระบี่ ณ พระอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง อ.เมืองกระบี่ 2.กาญจนบุรี ณ พระอุโบสถวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) พระอารามหลวง อ.เมืองกาญจนบุรี 3.กาฬสินธุ์ ณ พระอุโบสถวัดกลาง พระอารามหลวง อ.เมืองกาฬสินธุ์ 4.กำแพงเพชร ณ พระอุโบสถ วัดคูยาง พระอารามหลวง อ.เมืองกำแพงเพชร 5.ขอนแก่น ณ พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง พระอารามหลวง อ.เมืองขอนแก่น 6.จันทบุรี ณ พระอุโบสถวัดพลับ อ.เมืองจันทบุรี 7.ฉะเชิงเทรา ณ พระอุโบสถวัดโสธร วรารามวรวิหาร อ.เมืองฉะเชิงเทรา 8.ชลบุรี ณ พระอุโบสถวัดเขาบางทราย อ.เมืองชลบุรี 9.ชัยนาท ณ พระอุโบสถวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อ.เมืองชัยนาท 10.ชัยภูมิ ณ อุโบสถวัดไพรีพินาศ (วัดกลางเมืองเก่า) อ.เมืองชัยภูมิ

นครปฐมจัดที่วัดพระปฐมเจดีย์

11.ชุมพร ณ พระอุโบสถวัดชุมพรรังสรรค์ พระอารามหลวง อ.เมืองชุมพร 12.เชียงราย ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว พระอารามหลวง อ.เมืองเชียงราย 13.เชียงใหม่ พระวิหารวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ 14.ตรัง ณ พระอุโบสถวัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง อ.เมืองตรัง 15.ตราด พระอุโบสถวัดโยธานิมิต อ.เมืองตราด 16.ตาก ณ พระอุโบสถวัดมณีบรรพตวรวิหาร พระอารามหลวง อ.เมืองตาก 17.นครนายก ณ พระอุโบสถวัดอุดมธานี อ.เมืองนครนายก 18.นครปฐม ณ พระวิหารหลวงวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อ.เมืองนครปฐม 19.นครพนม ณ พระอุโบสถวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม 20.นครราชสีมา ณ พระวิหารหลวงวัดพระนารายณ์ มหาราชวรวิหาร อ.เมืองนครราชสีมา

21.นครสวรรค์ ณ พระอุโบสถวัดนครสวรรค์ พระอารามหลวง อ.เมืองนครสวรรค์ 22.นครศรีธรรมราช ณ พระวิหารหลวงวัด พระมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมืองนครศรีธรรมราช 23.นนทบุรี ณ พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ วรวิหาร อ.เมืองนนทบุรี 24.นราธิวาส ณ พระอุโบสถวัดประชุมชลธารา อ.สุไหงปาดี 25.น่าน พระวิหารวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอาราม หลวง อ.ภูเพียง 26.บุรีรัมย์ ณ พระอุโบสถ วัดกลาง พระอารามหลวง อ.เมืองบุรีรัมย์ 27.บึงกาฬ ณ พระอุโบสถวัดเซกาเจติยาราม พระอารามหลวง อ.เซกา 28.ปทุมธานี วัดประยูรธรรมาราม อ.ลำลูกกา 29.ประจวบคีรีขันธ์ ณ พระอุโบสถวัดคลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ 30.ปราจีนบุรี ณ พระอุโบสถวัดบางกะเบา อ.บ้านสร้าง

อยุธยาจัดที่พระมงคลบพิตร

31.ปัตตานี ณ พระอุโบสถวัดตานีนรสโมสร อ.เมืองปัตตานี 32.พระนครศรีอยุธยา ณ วิหารพระมงคลบพิตร อ.พระนครศรีอยุธยา 33.พะเยา ณ วิหารวัดศรีโคมคำ หรือวัดพระเจ้าตนหลวง พระอารามหลวง อ.เมืองพะเยา 34.พังงา ณ พระอุโบสถวัดประชุมโยธี พระอารามหลวง อ.เมืองพังงา 35.เพชรบุรี ณ พระวิหารวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองเพชรบุรี 36.เพชรบูรณ์ ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ พระอารามหลวง อ.เมืองเพชรบูรณ์ 37.พัทลุง ณ พระอุโบสถวัดคูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง 38.พิจิตร ณ พระอุโบสถ วัดท่าหลวง อ.เมืองพิจิตร 39.พิษณุโลก ณ พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมืองพิษณุโลก 40.แพร่ ณ พระอุโบสถวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อ.เมืองแพร่

41.ภูเก็ต ณ วิหารวัดพระทอง อ.ถลาง 42.มหาสารคาม ณ พระอุโบสถวัดมหาชัย พระอารามหลวง อ.เมืองมหาสารคาม 43.มุกดาหาร ณ พระอุโบสถวัดศรีมงคลใต้ พระอารามหลวง อ.เมืองมุกดาหาร 44.แม่ฮ่องสอน ณ พระอุโบสถ วัดพระธาตุ ดอยกองมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 45.ยโสธร ณ พระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม พระอารามหลวง อ.เมืองยโสธร 46.ยะลา ณ พระอุโบสถวัดพุทธภูมิ พระอารามหลวง อ.เมืองยะลา 47.ร้อยเอ็ด ณ พระอุโบสถวัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง อ.เมืองร้อยเอ็ด 48.ระนอง ณ พระอุโบสถวัดสุวรรณคีรีวิหาร พระอารามหลวง อ.เมืองระนอง 49.ระยอง ณ พระอุโบสถวัดป่าประดู่ พระอารามหลวง อ.เมืองระยอง 50.ราชบุรี ณ พระวิหารหลวงวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมืองราชบุรี

สระบุรีจัดที่วัดพระพุทธบาท

51.ลพบุรี ณ พระอุโบสถวัดกวิศรารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง อ.เมืองลพบุรี 52.ลำปาง ณ พระอุโบสถวัดพระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม พระอารามหลวง อ.เมืองลำปาง 53.ลำพูน ณ พระวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมืองลำพูน 54.เลย ณ พระอุโบสถ วัดศรีสุทธาวาส พระอารามหลวง อ.เมืองเลย 55.ศรีสะเกษ ณ พระวิหารวัดมหาพุทธาราม อ.เมืองศรีสะเกษ 56.สกลนคร ณ พระอุโบสถวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อ.เมืองสกลนคร 57.สงขลา ณ พระอุโบสถวัดชัยมงคล พระอารามหลวง อ.เมืองสงขลา 58.สตูล ณ พระอุโบสถวัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง อ.เมืองสตูล 59.สมุทรปราการ ณ อุโบสถ (หลังเก่า) วัดพิชัยสงคราม อ.เมืองสมุทรปราการ 60.สมุทรสงคราม ณ พระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร พระอารามหลวง อ.เมืองสมุทรสงคราม 61.สมุทรสาคร ณ พระอุโบสถวัดเจษฎาราม พระอารามหลวง อ.เมืองสมุทรสาคร 62.สระแก้ว ณ พระอุโบสถวัดสระแก้ว พระอารามหลวง อ.เมืองสระแก้ว 63.สระบุรี ณ พระมณฑปรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท 64.สิงห์บุรี ณ พระอุโบสถวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร พระอารามหลวง อ.เมืองสิงห์บุรี 65.สุโขทัย ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร อ.ศรีสัชนาลัย

สุพรรณฯจัดที่วัดป่าเลไลยก์

66.สุพรรณบุรี ณ พระวรวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อ.เมืองสุพรรณบุรี 67.สุราษฎร์ธานี ณ พระวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อ.ไชยา 68.สุรินทร์ ณ พระอุโบสถวัดบูรพาราม พระอารามหลวงเฉลิมพระเกียรติ อ.เมืองสุรินทร์ 69.หนองคาย ณ พระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อ.เมืองหนองคาย 70.หนองบัวลำภู ณ พระอุโบสถ วัดศรีคุณเมือง อ.เมืองหนองบังลำภู

71.อ่างทอง ณ พระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย 72.อำนาจเจริญ ณ พระอุโบสถวัดสำราญนิเวศ พระอารามหลวง อ.เมืองอำนาจเจริญ 73.อุดรธานี พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง อ.เมืองอุดรธานี 74.อุตรดิตถ์ ณ พระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง อ.ลับแล 75.อุทัยธานี ณ พระอุโบสถ วัดมณีสถิตกปิฎฐาราม พระอารามหลวง อ.เมืองอุทัยธานี และ 76.อุบลราชธานี พระอุโบสถ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมืองอุบลราชธานี

วธ.บวงสรวงเทพยดาสมโภช

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาล โดย วธ.จัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย มีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวงเทพยดา เนื่องในงานมหรสพสมโภช เฉลิม พระเกียรติฯ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.19 น. ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ และพิธีเปิดงาน วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.30 น. ณ ท้องสนามหลวง โดยเชิญนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีและคณะรัฐมนตรี เข้าร่วม และก่อนพิธีเปิดเวลา 17.30-19.00 น. มีกิจกรรมการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย ริ้วขบวน 27 ขบวนที่มีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ ผู้แทนภาคเอกชนและประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน เส้นทางเดินริ้วขบวนเริ่มจากบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลางไปยังท้องสนามหลวง

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ

รัฐมนตรีว่าการ วธ.กล่าวต่อว่า ภายในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ 11-15 กรกฎาคม ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” และจัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ “มหาทศมินทรราชา” การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ เช่น การแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร” การแสดง “มหาดุริยางค์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” การแสดง “โนราศิลปินแดนทักษิณเฉลิมพระเกียรติ” การแสดงโขน “สมเด็จพระรามาครองเมือง” การแสดงพื้นบ้าน “เรืองรองสุขเกษมทั่วถิ่นไทย” การแสดง “มหานาฏกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ” การแสดงดนตรี “มหาดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ” และการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา” เป็นต้น นอกจากนี้ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของดีสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร อาหารไทย อาหารถิ่น และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ การสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น นวดไทย ลงรักปิดทอง ทำว่าวไทย กรองดอกไม้ แกะสลักผักผลไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมชมงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้จัดรถให้บริการรับ-ส่งประชาชนฟรี ระหว่าง วันที่ 11-15 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น. โดยจัดรถโดยสารธรรมดาให้บริการ 5 เส้นทาง ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัย-สนามหลวง วงเวียนใหญ่-สนามหลวง สายใต้ใหม่-สนามหลวง หมอชิต-สนามหลวง และสนามหลวง-ท่าเตียนท่าช้าง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน วัฒนธรรม 1765

กทม.ซ้อมใหญ่พลีกรรมตักน้ำ

เมื่อเวลา 13.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะผู้บริหาร กทม. ซ้อมใหญ่พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ และริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยมี ประธานสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าหน่วยงาน และข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมซ้อมใหญ่ เพื่อให้การจัดริ้วขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม สมพระเกียรติ

เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีพิธีสำคัญที่กรุงเทพมหานครร่วมดำเนินการ คือ การจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเป็นราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณ รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทั่วประเทศ 77 จังหวัด 108 แหล่งน้ำ

กทม.ตกแต่งประดับดอกไม้

นายชัชชาติกล่าวว่า กทม. ได้ซ้อมพิธี ทุกวันเสาร์ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะที่วงดุริยางค์ได้รับความอนุเคราะห์จากดุริยางค์ตำรวจมาร่วมเดินขบวนพร้อมกับขอบคุณทุกคนที่มาร่วมพิธี ขณะเดียวกัน กทม.ได้ตกแต่งเมืองประดับดอกไม้ ทำซุ้มติดไฟและดับ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงมาดูพื้นที่ด้วยตนเองไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสวยงาม แต่เป็นความยั่งยืนของเมืองด้วย

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 แห่ง คือ น้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง

ในการนี้ กทม.กำหนดจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง โดยจัดริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไปเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในการ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลงน้ำ

เมื่อเวลา 16.30 น. ที่พิพิธภัณฑ์สถาน แห่งชาติ กองทัพเรือ จัดให้มีการอัญเชิญ “เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช” ลงน้ำ เรือพระราชพิธี ในการจัดเตรียมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้า พระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 หลังจากเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่โรงงานเชือกรอกและอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ (อธบ.อร.) ติดตั้งเสาเหล็กและคานไม้ พร้อมรอกแม่แรง จำนวน 10 ชุดกับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เพื่ออัญเชิญลงจากคาน พอถึงเวลานายเรือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช พร้อมกำลังพลประจำเรือ จะได้ประกอบพิธี จุดธูปเทียนไหว้แม่ย่านางเรือ และถวายบังคม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นจึงเคลื่อนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จากคลองบางกอกน้อย ออกสู่ แม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งหน้าสู่อู่ทหารเรือธนบุรี ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ในเส้นทาง สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา (สถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม) โรงพยาบาลศิริราช ท่ามหาราช ท่าช้าง วัดระฆังโฆษิตาราม ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงเข้าจอดยังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี

ทั้งนี้ การอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำ ในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งจำนวน 4 ลำคือ 1.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 2.เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 3.เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และ 4.เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ โดยจะอัญเชิญลงน้ำและเข้าจอด ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค. 67 วันละ 1 ลำ ตามลำดับ

 

บรรยายใต้ภาพ

ซ้อมใหญ่ – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารซ้อมใหญ่พิธีพลีกรรมตักน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ และขบวนเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ของ กทม. จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 7 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200