“เยาวราช” ย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ และถือเป็นแหล่งสตรีทฟู้ดอันดับต้นๆ ของโลก เต็มไปด้วยสีสันแห่งชีวิตทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ผู้คนมากมายต่างหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ เยาวราชเป็นหนึ่งในโลเกชันที่ถ่ายทำเอ็มวีเพลง Rockstar ของลิซ่า ลลิษา มโนบาล สมาชิกวง BLACKPINK ในฐานะศิลปินเดี่ยว จากกระแสไวรัล Rockstar ยิ่งทำให้เยาวราชเป็นสถานที่สุดฮอต แฟนคลับทั่วทุกมุมโลกอยากมาตามรอยลิซ่าย่านเยาวราช
สำหรับถนนเยาวราชที่ได้รับการขนานนามว่า “ถนนสายมังกร” สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บริเวณวงเวียนโอเดียน ไปสิ้นสุดที่บริเวณคลองโอ่งอ่าง ถนนแห่งนี้มีกลิ่นอายไทยจีน เพราะเป็นแหล่งชุมชนของคนจีนแท้ คนไทยเชื้อสายจีน กลายเป็นชุมชนชาวจีนที่รักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมมาจนปัจจุบันนี้ มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เก่าใหม่เขย่าเข้ากันอย่างลงตัว
ด้วยความนิยมเยาวราชเป็นจุดหมายปลายทางต้องมาเยือน ทำให้ถนนเส้นนี้มีการเจริญเติบโตและนำความเปลี่ยนแปลงเข้ามา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถนนเยาวราชที่เป็นถนนหลักสัญจรการจราจรคับคั่ง ร้านอาหาร ร้านค้าสตรีทฟู้ดตั้งเรียงรายหนาแน่นริมสองฝั่งถนน ความแออัดของนักท่องเที่ยวในย่าน รวมถึงทางเท้าในย่านมีการใช้กิจกรรมหนาแน่น ทำให้เกิดความชำรุดเสียหาย จากการใช้ประโยชน์และการตั้งร้านค้าแผงลอยต่างๆ พบทางเดินเท้าบางจุดในเยาวราชแผ่นกระเบื้องแตกหัก ช่วงไหนมีฝนตกเกิดน้ำกระเซ็นในระหว่างที่เดินบนทางเท้า ไม่ปลอดภัยต่อคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ทั้งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์เยาวราช
การพัฒนาทางเท้าบนถนนเยาวราช เป็น 1 ใน 76 เส้นทางตามเป้าหมายกรุงเทพมหานคร (กทม.) โปรเจกต์นี้ไม่ได้ตามกระแส MV ดัง เพราะเดินหน้าปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้าถนนเยาวราช ช่วงวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่าง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ระยะทาง 1.5 กม. ในงบกว่า 30 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าเสร็จเดือน ก.ย.นี้ โดยทำคู่ขนานกับการวางท่อประปาและการวางท่อร้อยสายสื่อสาร ใช้วิธีการปรับปรุงเป็นช่วง ลดผลกระทบต่อผู้ใช้งานในพื้นที่ โดยเฉพาะกิจกรรมค้าขายที่มีผู้ใช้งานอย่างหนาแน่นทั้งกลางวันและกลางคืน
ความคืบหน้าทางเท้าถนนเยาวราช ช่วงจากวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่างกำลังดำเนินการ โดยเปลี่ยนกระเบื้องทางเท้าจากลายเกล็ดมังกรที่มีการใช้งานมากว่า 2 ทศวรรษ เป็นลายดอกโบตั๋น ตอกย้ำถิ่นมังกร ถนนจักรวรรดิ ถนนเจริญกรุง ถึงสะพานพระปกเกล้า แล้วเสร็จ 90% ส่วนถนนทรงวาด ช่วงถนนราชวงศ์ถึงถนนเจริญกรุง รอประมูล ส่วนถนนตรีมิตร, ถนนมังกร, ถนนผดุงด้าว เสร็จแล้ว ขณะที่ถนนเจริญกรุง จากสะพานคลองผดุงถึงแยกหมอมี รอเซ็นสัญญาก่อสร้าง
เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. กล่าวว่า การพัฒนาทางเดินเท้าตามนโยบายเดินได้เดินดี 1,000 กิโลเมตร ใน 4 ปีตามนโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเดินทางที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าไปยังที่ทำงาน บ้าน หรือที่อื่นๆ ซึ่งหลายแห่งทางเท้าพัง มีสิ่งกีดขวาง เส้นทางไม่มีไฟส่องสว่าง ดังนั้น จึงมุ่งเน้นการพัฒนาทางเท้าให้ดีที่สุด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาไปแล้วกว่า 700 กิโลเมตร อาทิ ถนนราชประสงค์ ถนนสีลม บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ถนนพระราม 4 ที่กำลังเริ่มดำเนินการ เป็นต้น เพราะการออกแบบทางเท้าที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่ม จะส่งผลต่อเมืองที่เดินได้ ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคนจะใช้ชีวิตเหนื่อยน้อยลง
สำหรับถนนเยาวราชสายมังกร โฆษก กทม.กล่าวว่า การพัฒนาทางเท้าครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งตั้งแต่รุ่น 1-3 ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาทางเท้าเยาวราชให้ดียิ่งขึ้นและชูอัตลักษณ์ของพื้นที่ การปรับปรุงจะใช้กระเบื้องลายดอกโบตั๋น ได้รับการออกแบบจาก SCG และมีการใช้เทคโนโลยีการพ่นผิว ปิดผิวหน้าบางส่วนตามลวดลายที่ออกแบบ เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม และช่วยให้กระเบื้องมีความหยาบมากขึ้น ผิวกระเบื้องไม่ลื่นเมื่อใช้งาน ปลอดภัยต่อผู้เดินสัญจรไปมา ทั้งยังมีลวดลายที่คงทนตลอดอายุการใช้งาน มีความหนาถึง 3.5 ซม. สามารถรับน้ำหนักได้สูง จะป้องกันปัญหาทางเท้าชำรุดแตกหักง่าย รวมถึงยกระดับเส้นทางเดินเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ คลองโอ่งอ่าง แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งสะพานด้วน ย่านบางลำพู เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการทาสีทางม้าลายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนและคนเดินเท้า
การเปลี่ยนโฉมเยาวราชให้เป็นย่านที่น่าเดิน น่าเที่ยว นอกจากทางเท้าที่เยาวราช ผู้บริหาร กทม.มองว่า อีกสิ่งที่ดูไม่สบายตาเอาเสียเลยคือสายสื่อสารที่ห้อยระโยงระยางขดม้วนอยู่บนเสาไฟ ทาง กทม.ได้ทำท่อคู่ขนานไปพร้อมกับการทำทางเท้าเพื่อเตรียมดำเนินการนำสายสื่อสารลงดิน เพราะพบสายสื่อสารที่ไม่มีการใช้งานแล้วถึง 80% ส่วนสายไฟยังมีความเป็นระเบียบ ไม่รกหูรกตา อย่างไรก็ตาม อยู่ในระหว่างการหารือกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะทางเท้าเยาวราชค่อนข้างแคบ หากนำสายไฟลงดินอาจจะต้องมีการตั้งตู้เพื่อตรวจวัดกระแสไฟต่างๆ จำนวนตู้ดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินเท้า รวมถึงการจัดระเบียบผู้ค้าบนถนนเยาวราชให้คนสามารถใช้ทางเท้าได้ ผู้ค้าค้าขายได้ ทั้งนี้ ยังต้องเข้มงวดกับการจราจร ส่วนที่ทำแผงกั้นเพื่อป้องกันคนเดิน ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงจะพัฒนาป้ายบอกเส้นทางไปยังห้องน้ำ สถานีรถไฟฟ้า เพิ่มจุดทิ้งขยะให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของย่านนี้
“อีกส่วนสำคัญที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและซอฟต์พาวเวอร์ของไทยคือ ลิซ่า ที่ได้ปลุกเยาวราชให้กลับมาโด่งดังมากยิ่งขึ้น ทาง กทม.เตรียมความพร้อมในทุกมิติ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามา เชื่อว่าทางเท้าปรับปรุงใหม่นี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตและค้าขายอยู่ในเยาวราช ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น” เอกวรัญญูกล่าว
ทางเท้าใหม่สวยงามน่าเดิน พินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภา กทม. เขตสัมพันธวงศ์ กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนกระเบื้องทางเท้าจากลายเกล็ดมังกรที่มีการใช้งานมากว่า 20 ปี มาเป็นลายดอกโบตั๋น ที่ไม่เพียงแค่เสริมความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน แต่ยังมีความหมายสื่อถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย สะท้อนอัตลักษณ์ของย่านเยาวราชเป็นอย่างดี และผ่านรับความเห็นชอบจากผู้คนในพื้นที่ จากนี้พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ทั้งหมดจะปรับเปลี่ยนกระเบื้องปูทางเท้าจากแบบเก่าเป็นลายดอกโบตั๋น นอกจากความสวยงามแล้ว ยังเป็นการสร้างแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวใหม่ เพิ่มความน่าสนใจให้ทางเดินเท้ามี อัตลักษณ์และเป็นที่น่าประทับใจ
แน่นอนว่า ปัญหาทางเท้าไม่ได้มีเพียงแค่ย่านเยาวราช ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบปัญหาทางเท้าหลายแห่ง ทาง กทม.มีเป้าหมายพัฒนาทางเท้าตามมาตรฐานใหม่ 76 เส้นทาง ภายในปี 2568 ระยะแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 กิโลเมตร ผ่าน 3 วิธี คือ การทำใหม่ทั้งเส้นทาง, การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเป็นการเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้าคือ แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องใน Traffy Fondue, พัฒนาปรับปรุงตามแนว BKK Trail 500 กม. รวมถึงภายในรัศมี 500 เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้าต้องดี ปรับปรุงในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่นตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า และติดตามเร่งรัดการจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้เกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า อาทิ ประปา ไฟฟ้า การนำสายไฟลงดิน เพื่อคืนสภาพทางเท้า เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง.
บรรยายใต้ภาพ
ทางเท้าในย่านมีกิจกรรมหนาแน่นจากร้านค้า
เยาวราช แหล่งท่องเที่ยวที่มีสีสันทั้งกลางคืน-กลางวัน
นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกมาเช็กอินบนถนนเยาวราช
ยกระดับเส้นทางเดินเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
พัฒนาปรับปรุงทางเท้าตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม
ทางเท้าใหม่ลวดลายดอกโบตั๋น อัตลักษณ์ถิ่นมังกร
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 ก.ค. 2567