ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน
จาก แผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567-2573 (Bangkok Energy Action Plan) ที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการ และกิจกรรมด้านพลังงานและการขนส่ง สอดคล้องกับมาตรการภายใต้แผน และต้นทุนกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573
กำหนดกรอบบทบาทและทิศทางการดำเนินงานสำหรับภาคพลังงานและภาคการขนส่ง เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคส่วนต่างๆ ใน กทม. นำไปปฏิบัติในการขับเคลื่อนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด กทม. ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ กทม. มีการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตาม แผนแม่บทฯ ภายในปี 2573 จำนวน 10 ล้านตัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำโครงการส่งเสริมการจัดทำ “คาร์บอน ฟุตพรินต์” (Carbon Footprint) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2566 นำร่องใน 3 เขต ได้แก่ เขตดินแดง เขตประเวศ และเขตบางขุนเทียน หรือ การใช้รถขยะพลังงานไฟฟ้าก็ถือเป็นการลดคาร์บอนในภาคขนส่งของ กทม. เหมือนที่รณรงค์ให้ภาคเอกชนใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
ทั้งยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา ปรับเปลี่ยนรถราชการของกรุงเทพมหานครเป็นรถ EV
“กทม.ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของแผนการปฏิบัติการ ที่ผ่านมาทำแล้วใน 3 เขตนำร่อง พบว่ามีตัวเลขคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ชัดเจน โดยทาง อบก. ช่วยในเรื่องของยุทธศาสตร์ในการลดว่าต้องทำอะไรบ้าง”
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ตั้งเป้าขยายการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ไปอีก 47 เขต โดยมีสำนักสิ่งแวดล้อม และ 3 เขตนำร่องเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ โดยจะทำให้มีคาร์บอนฟุตพรินต์ครบทั้ง 50 เขต โดยเฉพาะหน่วยงานสังกัด กทม. ไม่ว่าโรงเรียน อาคารสำนักงานต่าง ๆ รถขยะ รวมแล้วมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 200,000 ตันต่อปี เทียบกับทั้งเมืองที่ 43 ล้านตันต่อปี ถือว่ามีหน้าที่โดยตรงในการลดให้ได้จำนวน 200,000 ตัน
สำหรับการเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหน่วยงานต่าง ๆ ของ กทม. จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง
นายพรพรหม กล่าวต่อว่า จาก 3 เขตนำร่อง จะพบว่าแต่ละแห่งมีมิติไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เขตบางขุนเทียนมีป่าโกงกางเยอะ เขตประเวศมีโรงขยะ ศูนย์กำจัดขยะ และ เขตดินแดงเป็นพื้นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน จึงมีแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่แตกต่างกัน แต่ อยู่ภายใต้แนวทางในการดำเนินงาน 5 มาตรการ ได้แก่
1.การลดการใช้พลังงานภายในอาคารสำนักงาน 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ LED แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ในอาคารสำนักงาน 3.การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุน เวียน 4.การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และ5.การจัดการขยะมูลฝอย
ส่วนเรื่องของการประหยัดพลังงานนั้น กทม. มีแผนส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหน่วยงาน โดยวางแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง กำลัง 1.7 เมกะวัตต์ (MW) คาดการณ์ผลผลิต 2,164 เมกะวัตต์ฮาว (MWh) ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 967 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อปี ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง กำลัง 2.7 เมกะวัตต์ (MW) คาดการณ์ผลผลิต 3,781 เมกะวัตต์ฮาว (MWh) ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 2,152.50 ตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อปี ซึ่งได้ ทำ MOU กับการไฟฟ้านครหลวงในการติดตั้งแล้ว
ดังนั้น คาดว่าหากติดตั้งแล้วเสร็จจะมีพลังงานที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ได้รวม 4.7 เมกะวัตต์ (MW) ตั้งเป้าในปี 2568 ไปถึง 10 เมกะวัตต์ (MW).
บรรยายใต้ภาพ
พรพรหม วิกิตเศรษฐ์
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ก.ค. 2567