นำร่อง’เยาวราช’-3เดือนครั้ง-แก้ขยะเกลื่อนส่งกลิ่นเหม็น
ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงแนวทางทำความสะอาดพื้นที่ชุมชนต่างๆ ว่าได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตและสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วม บูรณาการทำความสะอาดชุมชนในพื้นที่ เช่น ทางเท้า การล้างท่อ ดูดเลน (บิ๊กคลีนนิ่ง) จากเดิม 6 เดือนต่อ 1 ครั้ง ให้ปรับความถี่เป็น 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยเฉพาะย่านตลาดชุมชน ย่านอัตลักษณ์เมือง หรือพื้นที่ประชาชนหนาแน่น เช่น ย่านเยาวราช ซึ่งในวันนี้ กทม.ได้เริ่มนำร่องทำบิ๊กคลีนนิ่งตามกำหนด 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่การโยธา เจ้าหน้าที่การระบายน้ำ ใช้รถดูดเลน 4 คัน รถบรรทุกน้ำ 2 คัน ใช้น้ำจากการบำบัดของโรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยาในการทำความสะอาดท่อและทางเท้าต่างๆ
นายชัชชาติกล่าวว่า ปกติ กทม.มีการทำความสะอาดตลาดชุมชนเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว แต่การปรับความถี่ในการทำบิ๊กคลีนนิ่งจาก 6 เดือนเป็น 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง เนื่องจากปัจจุบันมีเศษขยะภายในท่อระบายน้ำจำนวนมาก เช่น ก้นบุหรี่ ขวด เศษพลาสติก หมากฝรั่ง เปลือกผลไม้ โดยเฉพาะในย่านเยาวราช มีการนำขยะมาวางโดยไม่ใส่ถุงดำมัดปากให้เรียบร้อย ทำให้ขยะเกลื่อนกระจายส่งกลิ่นเหม็นและเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำเวลาฝนตก ซึ่ง กทม.มีแผนทาสีและขยายทางม้าลายในย่านเยาวราชให้กว้างขึ้น รวมถึงกำลังพิจารณาจุดทิ้งขยะและกำหนดการจัดเก็บขยะตามวันเวลาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ กทม.ได้ขอความร่วมมือร้านค้าในพื้นที่ช่วยกันทำความสะอาดทางเท้าหน้าร้านตัวเองทุกวันจันทร์ต้นเดือน ซึ่งได้เริ่มแล้วที่ย่านเยาวราช และกำหนดให้ทั้ง 50 เขตดำเนินการด้วย
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในด้านการจราจร ปัจจุบันกทม.ได้เจรจากับเจ้าของพื้นที่ในชุมชนย่านต่างๆ กว่า 100 แห่ง เพื่อดำเนินการผายปากซอย หรือขยายจุดเลี้ยวต่างๆ ให้กว้างขึ้น เพื่อให้การจราจรในย่านคล่องตัว รถเลี้ยวได้สะดวก ไม่ติดขัด ปัจจุบันสำรวจแล้วประมาณ 180 จุด นอกจากนี้ ยังมีแผนเชื่อมซอยตันต่างๆ ให้ทะลุถึงกัน ปัจจุบันสำรวจเตรียมดำเนินการแล้ว 20 จุด หากเจ้าของพื้นที่ไม่ยินยอมอุทิศพื้นที่ให้ดำเนินการอาจต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป
ขณะที่นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในโรงเรียนสังกัดกทม. ว่า สนศ.ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนสังกัด กทม.ทราบ และดำเนินการตามหนังสือกทม.เรื่อง การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนสังกัดกทม. ซึ่ง สนศ.ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียน การสอน พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียนในสังกัดกทม. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และโรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่และโรคมือ-เท้า-ปากในโรงเรียน
นอกจากนี้ ได้ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคให้กับนักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนในชุมชนโดยรอบโรงเรียนให้ปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ตามมาตรการทางสาธารณสุข หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยและควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ-เท้า-ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้าน 1 สัปดาห์ หรือให้หายดี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กอื่น
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 2 ก.ค. 2567