กทม. จัดงาน “Showcase สินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร โครงการ พัฒนาสินค้าและบริการ Made in Bangkok” โชว์ 100 สินค้าและบริการ สะท้อนอัตลักษณ์ 50 เขต มุ่งสร้างความเข้มแข็งชุมชนฐานราก สอดรับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขึ้นแท่นของดีกรุงเทพฯ อวดสายตาชาวโลก เตรียมหาจุดวางขายในห้าง- สนามบิน เล็งต่อยอดทำ “มาสคอต” เมืองกรุงเทพฯด้วย สร้างภาพลักษณ์ส่งเสริมท่องเที่ยว
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาสินค้าและบริการ Made in Bangkok ที่ได้เปิดตัวไปในงาน “Showcase สินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร” เป็นหนึ่งใน 226 นโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติ ที่ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นสินค้าระดับเมือง อดีตกรุงเทพฯได้ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เรามี Bangkok Brand ซึ่งหลายผลิตภัณฑ์ดีมากๆ แต่ยังขาดเรื่องของดีไซน์ แพ็กเกจ การลดต้นทุน หรือการต่อยอด อย่างสร้างสรรค์ เป็นที่มาของการต่อยอด เป็นสินค้าและบริการ Made in Bangkok หรือ MIB ถือเป็นจุดเริ่มต้น ก้าวแรกที่ยังต้องพัฒนาต่อไป 100 สินค้าและบริการ ที่มาโชว์นี้ จะแบ่งให้ชัดเป็น 3 หมวด คือ 1.ผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกถึง อัตลักษณ์ย่าน ดึงความเป็นย่านที่แตกต่าง กันออกมา 2.อัตลักษณ์เมือง เป็นเรื่อง ที่บ่งบอกถึงเมืองในภาพรวมกรุงเทพฯ เช่น เสาชิงช้า ตุ๊กตุ๊ก และ 3.นวัตกรรมและความยั่งยืน เช่น เอาขยะมาต่อยอด เป็นสินค้าที่มีคุณค่า ซึ่งเราพยายามจะดันสินค้าของเมืองขึ้นมา
“MIB วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นก็อาจต้องดูการตอบรับจากประชาชนที่มองว่าน่าสนใจหรือยัง โดยจะสรุปผล โครงการรวบรวม MIB ลอตแรก ภายในปีงบประมาณนี้ เพื่อนำไปโชว์ ในเฟสต่อไปที่จะมีความร่วมมือห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ที่จะจัด Showcase ให้มีบูธ MIB ไปเปิดในห้าง ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยอะ ที่สนามบิน หรืออุโมงค์ใต้พระลาน โดยจะพิจารณาปีงบประมาณหน้า ทำทั้งทีก็ต้องให้ดี ต้องทำต่อเนื่องตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ชุมชน คัดมาเป็น Bangkok Brand ต่อยอด มาเป็น MIB และอนาคตก็จะทำมาสคอต ของเมืองด้วย เหมือนกับหลายๆ เมืองที่มีมาสคอตประจำเมือง ซึ่งจะต้องดูว่ากรุงเทพฯควรจะมีมาสคอตเป็นอะไร” นายศานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม ด้วยมรดกทางภูมิปัญญาประกอบกับความร่วมสมัย สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมีสินค้าและบริการ ที่น่าสนใจกระจายตัวอยู่ในชุมชนต่างๆ ใน 50 เขต มีศักยภาพพร้อมต่อยอดออกสู่ตลาดในวงกว้าง เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสริมความแข็งแกร่งจากชุมชนฐานราก นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน สินค้าและบริการ Made in Bangkok จะทำหน้าที่สื่อสารถึงอัตลักษณ์ของ กรุงเทพฯ เพื่อการลงทุนและการท่องเที่ยว ในฐานะที่กรุงเทพมหานคร เป็นเป้าหมาย อันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ด้านนายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคม ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ ทุนชุมชน ทุนสังคม ตลอดจนพัฒนาการ รวมตัว รวมกลุ่มต่างๆ ในชุมชน เพื่อให้ เกิดการต่อยอดการพัฒนาในทุกด้าน โครงการพัฒนาสินค้าและบริการกรุงเทพมหานคร Made in Bangkok ดำเนินการตามนโยบาย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของสินค้าและบริการในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็นที่สนใจ เกิดการตอบรับจากตลาด ในวงกว้าง สร้างความภาคภูมิใจให้คน ในชุมชน มุ่งเน้นรักษาคุณภาพและมาตรฐานต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอ ภาพลักษณ์ที่ดีของกรุงเทพฯ และการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่ง ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านมหานคร แห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ และเมืองแห่งโอกาสทางธุรกิจ และการลงทุน เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพผลผลิตและบริการ ยกระดับผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร ต่อยอดความเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการเรียนรู้
ปัจจุบันโครงการฯ มีสินค้าและบริการภายใต้ตราสัญลักษณ์ Made in Bangkok จำนวน 100 รายการ จาก 50 เขต สามารถเจาะตลาดได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ประกอบด้วย 5 ประเภทสินค้าและบริการ คือ 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2.เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 3.ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก 4.สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และ 5.บริการต่างๆ
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 2 ก.ค. 2567