นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง กลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ตามแผนปฏิบัติการพลังงานกทม. ปี 67-73 ว่า ได้แก่ กลยุทธ์ 3S Framework คือ 1.Scale Up Energy Efficiency สอดคล้องกับมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงาน ผ่านกิจกรรมสำคัญ คือ การปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การใช้หลอด LED การใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง การใช้เตาไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์และการใช้งานอุปกรณ์หรือเครื่องจักรประสิทธิภาพสูงในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ช่วงปี 67-73 วางเป้าหมายสำคัญการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานที่ก่อให้เกิดผลประหยัดประมาณ 10,100 ล้านหน่วย ปี แบ่งเป็น ภาคครัวเรือน 5,000 ล้านหน่วยปี ภาคธุรกิจการค้า 2,700 ล้านหน่วย/ปี และภาคอุตสาหกรรม 2,400 ล้านหน่วย/ปี
2.Shift to Renewables สอดคล้องกับมาตรการด้านพลังงานทดแทน มีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และ กิจกรรมอื่น ๆ อย่างการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ การส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพในภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมการใช้ฮีตปั๊มในอุตสาหกรรมไปจนถึงการใช้ไฮโดรเจนเขียวในอนาคต
ภายในระยะเวลาตามแผนตั้งเป้าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไว้ที่ 635 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภาคครัวเรือน 427 เมกะวัตต์ ภาคธุรกิจการค้า 84 เมกะวัตต์ และภาคอุตสาหกรรม 124 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,000 ล้านหน่วยต่อปี และ 3.Stimulate Sustainable Transport สอดคล้องกับมาตรการด้านการขนส่ง และจราจร ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญคือ การส่งเสริมให้เปลี่ยนไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการเดินทางโดย ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transportation) ตั้งเป้ากระตุ้นให้เกิดการขนส่งที่ยั่งยืน เพื่อลดการใช้น้ำมันประมาณ 1,600 ล้านลิตร
สำหรับ กทม.เริ่มดำเนินการภาย ในองค์กร เช่น การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของ กทม.จัดทำขึ้น เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดมาตรการ หรือดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบายคาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ก.ค. 2567 (กรอบบ่าย)