Flag
Search
Close this search box.
ส่องสวนทวีรักษ์ริมถนนอุทยาน ชมคัดแยกขยะโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ คุมเข้มฝุ่น PM2.5 อู่เคาะพ่นสีรถยนต์เจริญภัณฑ์ยนตรกิจ ตรวจพื้นที่รกร้างการลักลอบทิ้งขยะถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 เขตทวีวัฒนา

(1 ก.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทวีวัฒนา ประกอบด้วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนทวีรักษ์ ถนนอุทยาน ซึ่งเขตฯ ได้รับมอบพื้นที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 จากนั้นเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ โดยประสานสำนักการโยธาขุดบ่อแหล่งน้ำภายในสวน พร้อมทั้งปรับระดับพื้นดินให้มีความเหมาะสม สร้างศาลาที่พักภายในสวนแล้วเสร็จ 4 หลัง ได้แก่ ศาลาทวีรัก ศาลาทวีศรี ศาลาทวีโชค ศาลาทวีสุข จัดทำแปลงผักสวนครัว จัดทำทางเดินวิ่งภายในสวน ปูสนามหญ้า ลานจอดรถ ลานอเนกประสงค์ ภาพวาดขนาดใหญ่ 4 ภาพ ได้แก่ ภาพวาดวิถีชีวิตทวีวัฒนา ภาพวาดนาบัว ภาพวาดถนนอุทยาน ภาพวาดสวนกล้วยไม้ ทั้งนี้สวนทวีรักษ์ มีพื้นที่เชื่อมต่อกับศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์โคกหนองนา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน มีบ่อเลี้ยงปลา มีคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำในบ่อไปหล่อเลี้ยงแปลงนา มีแปลงข้าวโพด แปลงผักอินทรีย์ โรงเรือนเพาะเลี้ยงไก่ไข่และเป็ดไข่ โรงเรือนเพาะเลี้ยงเห็ด บ่อซีเมนต์สาธิตการเลี้ยงหอยขม กุ้งฝอย และปูนา พื้นที่ปลูกไม้เบญจพรรณ เช่น ยางนา ประดู่ พะยูง พะยอม มะฮอกกานี แคนา นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชในท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์พรรณพืช คือ ต้นจันอิน ซึ่งเป็นต้นไม้โบราณหายากที่ปัจจุบันใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นไม้ผลที่มีลักษณะเฉพาะ โดยต้นเดียวกันสามารถออกผลได้ 2 แบบ ผลลูกกลมป้อมขนาดใหญ่เรียกว่าลูกอิน ผลลูกแบนและแป้นขนาดเล็กเรียกว่าลูกจัน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 12 ไร่ 42 ตารางวา 2.สวนคลองบ้านไทร พื้นที่ 18 ไร่ 3.สวนบัวแดง พื้นที่ 12 ไร่ 4.สวนชานบ้าน พื้นที่ 12 ไร่ 5.สวนหย่อมหน้าศูนย์สันกฤตศึกษา พื้นที่ 3 งาน 42 ตารางวา 6.สวนร่มเกล้าชาวทาง พื้นที่ 11 ไร่ 7.สวนทวีรักษ์ พื้นที่ 5 ไร่ 99 ตารางวา 8.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 31 ไร่ 9.สวนหย่อมวัดอุดมธรรมวิมุตติ พื้นที่ 2 ไร่ 10.สวนชุมชนหลังสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ พื้นที่ 83.76 ตารางวา

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ถนนศาลาธรรมสพน์ พื้นที่ 4 ไร่ มีครูบุคลากรและนักเรียน 470 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เน้นการลดปริมาณขยะเศษอาหารจากต้นทาง รณรงค์ให้นักเรียนและบุคลากร รับประทานอาหารให้หมด ตักอาหารทานแต่พอดี เพื่อให้เศษอาหารเหลือทิ้งน้อยที่สุด เศษอาหารที่เหลือโรงเรียนจะคัดแยกและส่งให้เขตฯ จัดเก็บ เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิลให้กับนักเรียนและบุคลากร รวมถึงผู้ปกครองนักเรียน มีการจัดทำธนาคารขยะโดยให้นักเรียนนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยก มาขายผ่านธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียนทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี โรงเรียนจะนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกส่งขายให้กับบริษัทรีไซเคิลเอ็กซ์ ขยะรีไซเคิลบางส่วนนำมาสอนนักเรียนทำสิ่งประดิษฐ์ในชั้นเรียน 3.ขยะทั่วไป ขยะที่เหลือจากการคัดแยกประเภทต่างๆ โรงเรียนจะจัดเก็บรวบรวมในถังขยะทั่วไป เพื่อจัดส่งให้ทางเขตฯ นำไปกำจัด 4.ขยะอันตราย ส่งเสริมให้ครูบุคลากรและนักเรียน คัดแยกขยะอันตรายอย่างถูกต้อง เพื่อรวบรวมส่งให้ทางเขตฯ นำไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 80-90 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20-25 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 3-5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 50-60 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1-2 กิโลกรัม/เดือน

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท เจริญภัณฑ์ยนตรกิจ เซอร์วิส จำกัด ถนนบรมราชชนนี ประกอบกิจการประเภท อู่ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ ในเครือประกันภัยแบบซ่อมห้างและรับซ่อมรถยนต์ทั่วไป นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 14 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 1 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 9 แห่ง ประเภทสถานที่ถมดิน 2 แห่ง ประเภทอู่รถยนต์ ขสมก. บริษัทขนส่ง 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งเขตฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน โดยลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ประสานฝ่ายรายได้ สืบหาผู้ครอบครองหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์แปลงที่ดิน มีหนังสือแจ้งผู้ครอบครองหรือ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ขอให้ดูแลแก้ไข ปิดกั้นล้อมรั้ว ในเบื้องต้นเขตฯ ได้ติดประกาศ ห้ามทิ้งขยะ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยกวดขัน จากนั้นประชุมคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต หาแนวทางแก้ไกร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ปิดกั้นล้อมรั้วพื้นที่ทิ้งขยะ ปัจจุบันเจ้าของที่ดินเข้าพัฒนาปรับปรุงแนวรั้วใหม่ ทั้งนี้เขตฯ กำหนดเป็นจุดเฝ้าระวังลักลอบการทิ้งขยะ ตั้งจุดจับปรับผู้ทิ้งขยะและกวดขันอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ รองผู้ราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 69 ราย ได้แก่ บริเวณหน้าหมู่บ้านกรีนวิลล์ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ผู้ค้า 44 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และบริเวณหน้าวัดศาลาแดง ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. โดย ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาจัดหาพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ

ในการนี้มี นางกฤติมา นิ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทวีวัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200