กทม.ทำแผนที่โรค 50 เขต พบป่วยไข้เลือดออกสูงเขตกลางเมือง ให้อสส.ลงชุมชนช่วยกันดูแลกำจัดแหล่งเพาะยุงลาย
นางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันโรค ไข้เลือดออกของกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบัน กทม.กำหนดให้บรรจุ แผนที่โรคทั้ง 50 เขต ไว้ในศูนย์ข้อมูล เพื่อประเมินว่าพื้นที่ใดมีจำนวนโรคหรือความเสี่ยงสูง เช่น ขณะนี้พื้นที่กลางเมืองเขตพญาไท ราชเทวี พบอัตราป่วยสูง จึงต้อง จำแนกว่าป่วยเพราะอะไร เนื่องจาก เขตดังกล่าวอาจมีสถานพยาบาลหลายแห่ง จึงมีผู้ป่วยไปใช้บริการ จำนวนมากกว่าเขตอื่น ดังนั้น กทม.พยายามให้หน่วยงานสาธารณสุขลงตรวจสอบพื้นที่กำจัดลูกน้ำยุงลายให้มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ แก่อาสาสมัครใช้ลงพื้นที่กำจัด ลูกน้ำยุงลาย โดยมาตรการดังกล่าว จะนำไปใช้กับทุกบ้านเรือนในพื้นที่ ที่พบความเสี่ยง โดยมีอาสาสมัคร สาธารณสุข (อสส.) เป็นกำลังสำคัญ ในการนำทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายไปให้ประชาชนในชุมชน พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่ใช่เพียงน้ำขังหรือน้ำท่วมที่มองเห็นอย่างเดียวที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากยังมีน้ำขัง จุดเล็กๆ ที่มองไม่เห็น เช่น ในภาชนะ ที่ถูกนำไปทิ้ง ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดโรค
ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่อาจมีลักษณะ ชุมชนต่างกัน เช่น บางพื้นที่มีความ เร่งรีบสูง ผู้คนออกจากบ้านแต่เช้า และกลับบ้านในตอนค่ำ ทำให้ระหว่างวันแทบไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตนเอง จึงไม่มีใครดูแลเรื่องการ กำจัดลูกน้ำยุงลายมากนัก กทม.เอง ต้องเปลี่ยนแผนดำเนินการสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยกำชับให้หน่วยงาน สาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นพิเศษ พร้อมประสานกับสำนักงานเขตในพื้นที่ที่ประชาชนไม่มีเวลาอยู่ ในชุมชนตนเองมากนัก
อย่างไรก็ดี การดำเนินการ แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน เช่น เขตรอบนอกอาจมีพื้นที่สีเขียวมาก หรือมีแนวโน้มที่จะมีน้ำขัง กว่าเขตอื่น แต่จากข้อมูลกลับพบว่า ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออก เนื่องจากลักษณะวิถีชีวิตของประชาชนยังอยู่ติดพื้นที่ ประชาชนจึงมีส่วนร่วมกันดูแลพื้นที่ตนเอง เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อได้ ยิ่งคนอยู่ในพื้นที่มากขึ้น จำเป็นต้องดูแลความเรียบร้อยรอบๆ บ้านของตนเอง ซึ่งแตกต่าง กับประชาชนพื้นที่กลางเมือง มีวิถีชีวิตต้องออกไปทำงานแต่เช้า กลับค่ำ จึงไม่มีเวลาดูแลอย่างจริงจัง ประกอบกับเวลามีฝนตกน้ำขัง ไม่มีใครคอยสำรวจดูแล จึงทำให้อัตราป่วยสูงกว่าพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่ติดชุมชน
“การใส่ใจป้องกันลูกน้ำ ยุงลายเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานเขต สก.ในพื้นที่ และอาสาสมัครสาธารณสุข ในการร่วมกันลงพื้นที่ จะช่วยป้องกันโรคได้มากขึ้น ดังนั้น พื้นที่ขนาดใหญ่ มีป่าไม้และ ทุ่งนาจำนวนมาก ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่า จะมีอัตราโรคไข้เลือดออกสูง หากขึ้นอยู่กับลักษณะวิถีชีวิต ความใส่ใจร่วมมือกันของหน่วยงาน ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ในพื้นที่ช่วยกันดูแล” นางสาวทวิดา กล่าว
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2566