ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้างานก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณชุมชนวังหลัง ข้างวัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย ว่า บริเวณนี้ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาคือ ยังมีแนวป้องกันน้ำบางจุดเสียหาย (ฟันหลอ) ความยาวประมาณ 30 เมตร ทำให้น้ำทะลักเข้าชุมชน โดยเฉพาะ ช่วงน้ำขึ้น ไม่สามารถสูบออกได้ เพราะเมื่อสูบไปแล้วน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวนกลับเข้าจุดฟันหลอดังกล่าว และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนใกล้เคียง ปัจจุบันเจ้าของพื้นที่ (ร้านค้า) อนุญาตให้ กทม.เข้าไปปรับปรุงแล้ว โดยสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้รับงบประมาณปี 2567 จำนวน 10,990,000 บาท ว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงนิยม ระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน เริ่มต้นสัญญา 15 มิ.ย.67 สิ้นสุดสัญญา 11 ธ.ค.67 ความคืบหน้า 11% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนก.ย.นี้
นายวิศณุกล่าวต่อว่า ตามสัญญาจะแล้วเสร็จเดือนธ.ค.2567 แต่จำเป็นต้องเร่งให้เสร็จเดือนก.ย.นี้ เพื่อรับมือกับน้ำเหนือและน้ำหนุนในช่วงเดือนต.ค. (ฤดูน้ำหนุน) ส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น จากสถิติน้ำเคยท่วมสูงสุดประมาณ 2.43 เมตร สนน.จึงกำหนดการก่อสร้างตัวสันเขื่อนประมาณ +3 เมตร เพื่อป้องกันน้ำหนุน โดย กทม.ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพบ่อสูบน้ำบริเวณวัดระฆังโฆสิตาราม โรงพยาบาลศิริราช และชุมชนวังหลังเพิ่มเติม เพื่อการระบายน้ำคล่องตัวและรับมือปริมาณฝนในปีนี้ด้วย
สำหรับแนวทางป้องกันน้ำท่วมจุดอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครในระยะยาวนั้นจะแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การพยากรณ์ล่วงหน้า โดย กทม.อยู่ระหว่างเพิ่มเรดาร์พยากรณ์ฝน ปัจจุบันเรดาร์ของ กทม.ส่วนใหญ่วัดระยะกลุ่มฝนในแนวกว้าง ทำให้เห็นภาพรวมของกลุ่มเมฆระยะไกลเท่านั้น จึงต้องเพิ่มเรดาร์ ในแนวดิ่ง เพื่อให้เห็นกลุ่มฝนเฉพาะพื้นที่ด้วย เพื่อการพยากรณ์ที่แม่นยำขึ้น รวมถึงการใช้เอไอมาช่วยพยากรณ์อากาศนำภาพถ่ายความชื้นมาประกอบการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง
2.การจัดการหลังน้ำท่วม กทม.ได้รวบรวมจุดน้ำท่วมที่ได้รับการแจ้งจากประชาชนตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันมีทั้งหมด 737 จุด แบ่งเป็น บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีการรั่วซึม 120 จุด บริเวณพื้นผิวถนนจากน้ำฝน 617 จุด หลักการจัดการคือ ลำเลียงน้ำจากผิวถนนลงท่อระบายน้ำ ก่อนไปถึงบ่อสูบน้ำเพื่อสูบน้ำ ลงคลอง และระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด โดยแต่ละ ขั้นตอนต้องตรวจเช็กความคล่องตัวของระบบระบายน้ำ แต่ละช่วง เช่น จัดการขยะอุดตันฝาท่อ เพิ่มกำลังระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2567