(26 มิ.ย.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองสาน ประกอบด้วย
ตรวจการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณซอยเจริญนคร 53 ถึงทางเข้าอาคารตรีทศ ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน สำหรับพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนลาดหญ้าทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ โดยเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าว ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 454 ราย ดังนี้ 1.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง ผู้ค้า 91 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 3.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 4.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 1-5 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. 5.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 200 ถึงปากซอยท่าดินแดง 16 ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 6.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก บริเวณหน้าวัดเศวตฉัตร สะพานเจริญนคร 4 ถึงซอยเจริญนคร 29/1 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 7.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 53 ถึงทางเข้าอาคารตรีทศ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. 8.ถนนเจริญรัถ ฝั่งขาออก จากหัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-08.00 น. และถนนเจริญรัถ ฝั่งขาเข้า จากหัวถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 228 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 2-4 ผู้ค้า 1 ราย 2.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า บริเวณหน้าวัดสุวรรณ ซอยเจริญนคร 8-12 ผู้ค้า 2 ราย (ยกเลิกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567)
ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 153 ราย ดังนี้ 1.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 16 ราย 2.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกคลองสาน ถึงเจริญนครซอย 15 ผู้ค้า 15 ราย 3.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนเจริญนคร ถึงปากซอยเจริญรัถ 4 ผู้ค้า 13 ราย 4.บริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 5 ผู้ค้า 25 ราย 5.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3-4 ผู้ค้า 10 ราย 6.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29-53 ผู้ค้า 19 ราย 7.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญนคร 18-46 ผู้ค้า 29 ราย 8.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่อาคารไทยศรี ถึงคลองบางไส้ไก่ ผู้ค้า 8 ราย 9.บริเวณถนนเชียงใหม่ทั้ง 2 ฝั่งตลอดทั้งเส้น ผู้ค้า 14 ราย 10.บริเวณถนนลาดหญ้า (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยเจริญนคร 14 ผู้ค้า 28 ราย 2.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1-5 ผู้ค้า 10 ราย 3.บริเวณถนนท่าดินแดง (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่แยกท่าดินแดง ถึงแยกประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 7 ราย 4.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1-5 ผู้ค้า 3 ราย (ยกเลิกเมื่อเดือนมีนาคม 2567)
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท บางกอก คราฟท์ โปรดักชั่นส์ จำกัด ซอยเจริญนคร 14 พื้นที่ 2,016 ตารางเมตร มีพนักงาน 165 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ พนักงานจะคัดแยกเศษอาหารจากการรับประทานอาหาร โดยนำมาย่อยเป็นปุ๋ยในเครื่องย่อยเศษอาหารที่บริษัทจัดเตรียมไว้ และนำไปบำรุงต้นไม้ของบริษัท 2.ขยะรีไซเคิล มีจุดทิ้งขยะรีไซเคิล โดยคัดแยกขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ และกล่อง จำหน่ายให้ผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิล ส่วนกระป๋องอลูมิเนียม นำส่งเขตฯ เพื่อบริจาคในโครงการขาเทียมพระราชทาน ขยะกำพร้า นำส่งเขตฯ 3.ขยะทั่วไป ขยะที่ไม่สามารถคัดแยกได้ จะนำไปทิ้งตามจุดที่กำหนด เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของบริษัท จัดส่งให้บริษัทเบตเตอร์เวิร์ลกรีน นำไปกำจัดเดือนละ 1 ครั้ง ส่งเสริมการคัดแยกขยะโดยให้พนักงานนำขยะอันตรายมาทิ้งที่บริษัท สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,200 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 720 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 250 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการอาคารชุดริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค ถนนเจริญนคร ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 29 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ ประเภทการตรวจวัดควันดำ พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ติดตามงบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 7 ชั้น ขณะนี้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างชั้น 1 แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างก่อสร้างชั้น 2 และขึ้นโครงสร้างชั้น 3 พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดทำสวน 15 นาที ปัจจุบันเขตฯ มีสวนใหม่ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบริเวณท่าน้ำวัดทองธรรมชาติ ถนนเชียงใหม่ พื้นที่ 57 ตารางวา ดำเนินแล้วเสร็จ 2.สวนหย่อมริมคลองวัดทองนพคุณ พื้นที่ 40 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 3.สวนสานฟ้าใส ซอยเจริญนคร 19 พื้นที่ 59 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาจัดหาพื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที เพิ่มเติมอีก 7 สวน เพื่อให้ครบ 10 สวน ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในการนี้มี ว่าที่ร้อยตรีสรวุฒิ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการเขตคลองสาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เขตคลองสาน สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)