มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนตายด้วยอุบัติเหตุเป็นลำดับ 9 ของโลก และกรุงเทพมหานครก็จัดว่าเป็นเมืองที่บริหารจัดการความปลอดภัยในการใช้ถนนได้ยากมาก เพราะมีประชากรหนาแน่นมากที่สุด นอกจากประชากรของกรุงเทพฯ เองกว่า 10 ล้านคน แล้วยังมีประชากรที่ไม่ได้ลงทะเบียน ส่วนใหญ่จะเป็นประชากรจากจังหวัด ใกล้เคียงที่เดินทางเข้ามาทำงานอีกวันหนึ่งๆ จำนวนคนหลายล้านคน
นอกจากนี้ยังมียานยนต์ที่จดทะเบียนอยู่ถึง 13 ล้านคัน โดยประมาณ 4.3 ล้านคันเป็นรถจักรยานยนต์ (กรมการขนส่งทางบก, 2567) ในขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนน้อย คือประมาณร้อยละ 7 ของพื้นที่ และมี พื้นที่ทางเท้าแค่ร้อยละ 1.44 ของพื้นที่ทั้งหมด! กรุงเทพฯ มีคนเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ 800-900 คนต่อปี ก่อนปี 2563 ครองแชมป์จังหวัดที่มีอุบัติเหตุมากที่สุดถึง 6 ปีซ้อนแม้ในตอนต้น กทม. จะมี เป้าหมายเป็นมหานครแห่งความปลอดภัยแล้วก็ตาม
การวิเคราะห์ช่องว่างทางการบริหารจัดการที่เป็นอุปสรรคต่อการลดอุบัติเหตุใน กทม. พบว่า (1) หน่วยงานของรัฐทำงานแยกส่วน (2) ขาดการสะสมความเชี่ยวชาญภายใน กทม. (3) ขาดการสอบสวนสาเหตุ เชิงลึก และ (4) ขาดการประเมินผล เมื่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามารับไม้ต่อก็มีนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัย 2 ข้อคือ เดินทางดี และปลอดภัยดี เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ
โดยมุ่งที่จะลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทางถนนลงครึ่งหนึ่งเป็น 12 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2570 ใช้ Safe System Approach ที่ประกอบด้วยการดูแล 5 เสาหลักคือ (1) ผู้ใช้ถนน (2) ยานพาหนะ (3) ความเร็วที่ปลอดภัย (4) ถนนและข้างทางที่ปลอดภัย (5) การดูแลหลังการชนที่ปลอดภัย
การศึกษาของโครงการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ถึงแม้ จะยังมีการถ่ายโอนภารกิจด้านความปลอดภัยทางถนนมาให้ กทม. ไม่มากนัก แต่ กทม. ก็ได้สร้างกลไกภายในและภายนอก
สร้างศูนย์ความปลอดภัยทางถนนทั้งในระดับเขต (ศปภ. เขต) ที่มีผู้อำนวยการเขต เป็นประธาน มีเทศกิจซึ่งเปรียบเสมือนตำรวจท้องถิ่นเป็นเลขานุการฯ มีตัวแทนจากสถานีตำรวจในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก โดยมี ศปภ.เขตเป็นเจ้าภาพในระดับพื้นที่และระดับ กทม. ที่มีเวทีเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการในหน่วยราชการและภาคประชาชน ที่มีความเกี่ยวข้อง กับความปลอดภัยมาเป็นกรรมการใน คณะกรรมการร่วมภาคภาคีความปลอดภัยและภาคประชาชนในพื้นที่ ภาคีสามารถ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแยกไปทำงานให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน
กลยุทธ์หนึ่งของการแสวงหาวิธีการการลดอุบัติเหตุของ กทม. ตั้งแต่ปี 2565 ก็คือการหาจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและหาหนทางแก้ไข ทั้งนี้ ศปภ.เขต มีหน้าที่ สำรวจรวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนที่ จุดเสี่ยงสำหรับแต่ละเขต สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.) จากส่วนกลางเป็นโค้ชเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ให้แก่ทีมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เขต โดยกำหนดรูปแบบการเก็บข้อมูลเพื่อหาจุดเสี่ยง เพื่อที่จะสร้างแผนที่ความเสี่ยง (heat map)
เมื่อได้จุดเสี่ยงแล้วก็จัดประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกับภาคีที่มีความเชี่ยวชาญ เฉพาะในแต่ละเขต เพื่อมาหารือ วิเคราะห์จุดเสี่ยงแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันและหารือเรื่องวิธีการแก้ไข เมื่อได้มติที่ประชุมแล้วแต่ละภาคีก็นำมติไปแก้ปัญหาความเสี่ยงตามภารกิจของตน นับว่าสามารถบูรณาการ การทำงานได้ในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง
เนื่องจากแนวทางการบริหาร กทม. ปัจจุบันคือ “ใช้ข้อมูลขับเคลื่อนการทำงาน แบบบูรณาการ” และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วย “ทำน้อยแต่ได้มาก” จึงปรับวิธีหาจุดเสี่ยงโดยให้ สจส.เป็นผู้วิเคราะห์จุดเสี่ยงจากข้อมูลบิ๊กดาต้า (BMA open data) เมื่อวิเคราะห์แล้วก็เลือกจุดที่เสี่ยงมากมา 100 จุดแรกก่อนเพื่อแก้ไข แล้วนำข้อมูลนี้ไปมอบให้แต่ละเขตไปจัดการ
หากเขตไหนไม่มีจุดเสี่ยงก็ให้ขยายลำดับ 100 จุดเสี่ยงแรกไปจนกระทั่งทุกเขต มีจุดเสี่ยงที่ต้องไปดูแล หลังจากนั้นจะจัดประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกับภาคีต่าง ๆ ผนึกกำลังร่วมแก้ไขจุดเสี่ยงโดยมีความร่วมมือจากภาคประชาชน และจะมีทีมเข้าไปประเมินผล โดยให้ ศปถ. เขตร่วมกับสถานีตำรวจดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน
อีกความพยายามหนึ่งก็คือได้ ลดความเร็วไปแล้ว 40 เส้นทางใน กทม. งานลำดับถัดไปที่กำลังพัฒนาคือ ให้แต่ละเขตมีถนนติดดาว เขตละ 1 ถนน ถนนติดดาว ก็คือ ถนนที่มีมาตรฐานสากล (iRAP) จัดลำดับ ถนนติดดาว ตั้งแต่ 1 ดาวไปจนถึง 5 ดาว ซึ่งเป็นลำดับสูงสุด ถ้าได้ลำดับ 5 ดาวหมายความว่า การเดินทางทุกประเภทจะปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ โดยถนน 4 ดาว ขึ้นไปถือว่าได้มาตรฐานสากลแล้ว
กทม.นำแนวคิดนี้มาประเมินถนนที่สำคัญในเขตเมือง ตั้งตัวชี้วัดคือ 1 เขตมี ถนน 3 ดาว 1 ถนน สำหรับ กทม. ส่วนกลางมีเป้าหมายที่สูงกว่าคือทำ “ถนนรัชดาภิเษก” ซึ่งเป็นถนนวงแหวนมีความยาว 50.3 กิโลเมตรให้เป็นถนนติดดาวระดับสากล โดยเริ่มที่ 3 ดาว นอกจากนี้ยังสร้างเยาวชนชุมชนรักษาความปลอดภัย ห่วงใยลูกหลาน ต้านอุบัติเหตุ ขยายผลการทำงานระดับชุมชน จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนใน 6 ชุมชนนำร่อง และทำการประมวลผลการดำเนินงานจัดทำคู่มือฉบับเยาวชนและคู่มือชุมชน
อีกหนึ่งในนวัตกรรมที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ใช้ในการสร้างเมืองน่าอยู่คือ การใช้ ทราฟฟี ฟองดู (Traffy Fondue) แอปพลิเคชัน ที่ประชาชนใน กทม. สามารถเข้าไปร้องเรียน หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่ต้องการ ให้แก้ไขในชุมชน และปัญหาที่ต้องการให้ แก้ไขนี้จะถูกกระจายไปในแต่ละเขต โดยทันที ไม่ต้องผ่านขั้นตอนอนุมัติต่างๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาตรงจุดและตรงกับความต้องการของประชาชน และย่นเวลามากขึ้น
ตั้งแต่นำทราฟฟี ฟองดู มาใช้ ยังไม่ครบ 2 ปีมีผู้ร้องเรียนมาแล้วกว่า 5 แสนรายการ และได้จัดการแก้ไขไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด และ ความเร็วในการแก้ไขปัญหาก็เร็วกว่าเดิมถึง 11 เท่า หากได้รับการปรับปรุงทราฟฟี ฟองดูให้ประชาชนแจ้งจุดเสี่ยงหรือ จุดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งทราฟฟี ฟองดูน่าจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะ นำมาแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุใน กทม. ได้ด้วย
นับว่าชีวิตของคน กทม. เริ่มมีความปลอดภัยทางถนนมากขึ้นในระดับหนึ่ง!
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 มิ.ย. 2567