Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567
กทม. เข้มงวดเฝ้าระวังป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ – เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
 
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.)  กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้สูงอายุและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ว่า สพส. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดบริการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุบ้านผู้สูงอายุบางแคและศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดงได้ดำเนินการตามแนวทางมาตรการการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด รวมถึงกำชับเจ้าหน้าที่และผู้สูงอายุให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 โดยเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดการให้บริการ ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดโต๊ะ เก้าอี้ ราวจับ รวมถึงอุปกรณ์ที่ต้องมีการสัมผัสร่วมกัน สำหรับบ้านผู้สูงอายุบางแค 2 ที่เป็นการจัดบริการแบบพักค้าง เจ้าหน้าที่ได้ติดตามเฝ้าระวัง กรณีพบผู้สูงอายุมีไข้ เจ็บคอ ไอ จาม น้ำมูก โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อ หากพบว่า ผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด 19 จะประสานโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ผ่านช่องทางการรักษาโรคทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการเจ็บป่วย หากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาแบบ Home Isolation โดยจัดโซนการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ 
 
กรณีพบผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด 19 มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้ (1) แยกกักตัวที่ห้องกักตัว (2) แพทย์ประเมิน จ่ายยาตามอาการ และติดตามผลการตรวจร่างกายผ่านระบบโทรศัพท์และระบบ Telemedicine ทุกวัน (3) จัดทางเข้า – ออก และจำกัดการใช้พื้นที่โดยแยกส่วนการใช้งานกับพื้นที่ของผู้สูงอายุรายอื่นอย่างชัดเจน (4) จัดตั้งทีมดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกิจแยกจากทีมที่ดูแลผู้สูงอายุปกติ โดยดูแลการจัดยา การส่งอาหาร การบันทึกผลการตรวจร่างกายจนครบกักตัว 10 วัน (5) พี่เลี้ยงที่ดูแลผู้สูงอายุเฝ้าสังเกตอาการผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ โดยสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ตรวจวัดและบันทึกข้อมูลอุณหภูมิร่างกาย ความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือดของผู้สูงอายุทุกราย เพื่อส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นประจำทุกวัน (6) กรณีผู้สูงอายุมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีขึ้น หรืออาจเกิดอันตรายต่อชีวิต จะประสานส่งต่อโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ (7) หลังจากผู้สูงอายุกักตัวและรักษาครบกำหนด 10 วันจนครบทุกรายแล้ว จะทำความสะอาดพื้นที่ภายในบ้านผู้สูงอายุบางแค 2 โดยฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ส่วนกรณีผู้สูงอายุที่ตรวจไม่พบเชื้อ มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้ เฝ้าสังเกตอาการผู้สูงอายุที่ยังไม่ติดเชื้อภายใน 3 – 5 วัน หากมีอาการจะตรวจหาเชื้ออีกครั้ง หากพบว่า ติดเชื้อ จะแยกกักตัวและส่งตัวเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมให้มากขึ้น และเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด
 
     สำหรับในกลุ่มเด็กเล็ก สพส. ได้ประชุมทางไกลกับอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนโดยตรง เพื่อกำชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งแจ้งสำนักงานเขตเกี่ยวกับแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดจนประชาสัมพันธ์และกำชับให้อาสาสมัครสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวฯ ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ทั้ง 271 แห่ง ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อาทิ กำหนดจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย ให้เด็กล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สังเกตอาการป่วยของเด็ก หากพบเด็กป่วยด้วยอาการระบบทางเดินหายใจ ให้ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK และแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ โดยแจ้งผู้ปกครองมารับและพาไปพบแพทย์ ปฏิบัติตามมาตรการหลัก (DMHT) ได้แก่ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดห้องเรียน พื้นผิวสัมผัส หรือพื้นที่ใช้งานร่วมกัน จัดสถานที่ให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีพบเด็กป่วยเป็นกลุ่มก้อน (Cluster ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป) จะประสานพยาบาลอนามัยโรงเรียนในศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคและเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในวงกว้าง
 
กทม. เร่งจัดเก็บวัชพืช ผักตบชวา-เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เขตบางนา
 
นางประภัสสร จำนงบุตร  ผู้อำนวยการเขตบางนา กทม. กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียน พบผักตบชวาจำนวนมากในคลองระหว่างซอยบางนา-ตราด 12 กับซอยบางนา-ตราด 12/1 ซึ่งอาจกีดขวางทางระบายน้ำว่า สำนักงานเขตบางนาร่วมกับสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้ตรวจสอบและรักษาสภาพคลองหลอด กม.2 ซึ่งมีความยาวรวมประมาณ 3,051 เมตร โดยทำความสะอาดจัดเก็บขยะ วัชพืช และผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงระหว่างถนนเทพรัตนถึงสะพานข้ามคลองซอยบางนา-ตราด 12 ความยาวประมาณ 300 เมตร พบว่า มีปัญหาอุปสรรคเครื่องจักรไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ เนื่องจากติดกับพื้นที่เอกชน จึงได้ประสานเอกชนเจ้าของพื้นที่ขอความอนุเคราะห์เข้าใช้พื้นที่จัดเก็บวัชพืช ผักตบชวา ช่วงระหว่างวันที่ 20-28 มิ.ย. 67 และจะขอจัดสรรงบประมาณในการจ้างเหมาขุดลอกคลองหลอด กม.2 เพื่อช่วยระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ต่อไป
 
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้แก้ไขและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรักษาสภาพเปิดทางน้ำไหล พร้อมทั้งจ้างเหมาเอกชนขุดลอก คู คลอง และลำราง ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ ตลอดจนปรับปรุงผิวจราจรและท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จัดเตรียมกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม และจัดเจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดจัดเก็บขยะที่อุดตันหน้าตะแกรงช่องรับน้ำ เพื่อช่วยให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจออกอำนวยความสะดวกการจราจรและจัดรถรับ-ส่งคอยช่วยเหลือประชาชนในการเดินทาง พร้อมประสาน สนน. เร่งพร่องน้ำในคลองบางนา ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่ใช้ระบายน้ำของพื้นที่
 
      นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวว่า สนน. ได้แก้ไขปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมขัง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจุดเสี่ยงน้ำท่วมต่าง ๆ ในพื้นที่เขตบางนา ซึ่งในส่วนของ สนน. ได้ก่อสร้างเขื่อนคลองบางนา ช่วงจากมูลนิธิสายใจไทย ขยายคลองพร้อมขุดลอกคลอง ก่อสร้างเขื่อนดาดท้องคลองที่คลองเคล็ดช่วงจากซอยเปรมฤทัย 20 ถึงคลองตาช้าง ขุดลอกคลองตาสาด ขุดลอกคลองใต้สะพานข้ามคลองตาช้าง จัดเก็บวัชพืชคลองเคล็ด เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งก่อสร้างทำนบ พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองหลอด 2 คลองหลอด 3 และคลองบางนางจีน นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณบึงรับน้ำหนองบอนลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้าง ถนนอุดมสุข สุขุมวิท 101/1 คลองบางอ้อ โดยมีสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อสูบน้ำจากพื้นที่เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตารางกิโลเมตร ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่บริษัทไม้อัดไทย ซึ่งอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.00 เมตร ยาวประมาณ 9.40 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 
 
สำหรับในช่วงฤดูฝนนี้ สนน. ได้ปฏิบัติตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในแต่ละวันจะเร่งเดินเครื่องสูบน้ำตามบ่อสูบน้ำและสถานีสูบน้ำต่าง ๆ เพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่ให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน (WRF) การพยากรณ์ฝนระยะปัจจุบัน (Nowcasting) 60 นาทีล่วงหน้า ระบบ AI Nowcast พยากรณ์ฝนล่วงหน้า 3 ชั่วโมง การติดตามกลุ่มฝนจากเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. และระบบโทรมาตรตรวจสอบวัดระดับน้ำท่วมถนน ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ระบบตรวจวัดระดับน้ำในคลอง ระบบสถานีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคสนามให้ทราบสถานการณ์ฝนจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่หน่วย BEST เฝ้าระวังตามจุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
 
เขตจตุจักรแจงการขุดย้ายต้นไม้ใหญ่หน้าคอนโดฯ หน้า ม.เกษตร

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการขุดย้ายต้นไม้ใหญ่ 2 ต้น บดบังหน้าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า กรณีดังกล่าว บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือขออนุญาตขุดย้ายต้นไม้ เนื่องจากกีดขวาง ทางก่อสร้าง พร้อมขออนุญาตเปิดทางเท้าแบบไม่ลดระดับทำทางเชื่อมกับทางหลวง ซึ่งต้นไม้ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตฯ และจากการตรวจสอบแล้วพบว่า ต้นไม้กีดขวางทางก่อสร้างทางเท้าแบบไม่ลดระดับจริง จึงพิจารณาอนุญาต โดยคณะกรรมการได้ประเมินค่าเสียหายต้นไม้ทั้ง 2 ต้น คิดเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 40,000 บาท ตามคำสั่ง กทม. ที่ 1024/2526 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2526 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาปลูกและคิดค่าเสียหายต้นไม้ในเขต กทม. โดยบริษัทฯ ได้มาชำระค่าเสียหายที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะเรียบร้อยแล้ว จากนั้นได้ติดป้ายประกาศแจ้งเตือน 7 วันทำการ ตามระเบียบการขุดล้อมย้ายต้นไม้ฯ ทั้งนี้ ต้นไม้ดังกล่าวได้นำไปอนุบาลไว้ที่บริเวณลานใช้ประโยชน์จากกิ่งไม้ใต้สะพานรัชวิภา
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200