Search
Close this search box.
ยกเลิกแผงค้าซอยราษฎร์บูรณะ 16 ปั้นสวนสุขิโตวัดแจงร้อน เชื่อมสะพานทางเดินสู่ธรรม (มะ) ชาติ ชมคัดแยกขยะชุมชนหมู่ 7 ราษฎร์บูรณะ คุมเข้มฝุ่นจิ๋วหม้อไอน้ำ (Boiler) โรงงานผลิตลูกกวาดสุขสวัสดิ์ 20

 

(24 มิ.ย.67) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ประกอบด้วย

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 16 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 16 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุขสวัสดิ์ 26 ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. 2.หน้าโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 16 ผู้ค้า 4 ราย (ยกเลิกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker center จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 22 พื้นที่ 30 ตารางวา สามารถรองรับผู้ค้าได้ 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. รอบบ่าย 15.00-21.00 น. มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 24 ราย 2.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 วัดแจงร้อน รองรับผู้ค้าได้ 4 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 4 ราย 3.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 สุขสวัสดิ์ 26 รองรับผู้ค้าได้ 9 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 4 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

พัฒนาสวน 15 นาที สวนสุขิโต บริเวณวัดแจงร้อน ซอยราษฎร์บูรณะ 37 ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสวนไผ่ และพื้นที่ด้านหน้าวัดที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาทำความสะอาดจัดทำเป็นสวนสุขภาพและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งนำดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล มาประดับตกแต่งภายในสวน ต่อมาได้ปรับปรุงสวนเพิ่มเติมโดยจัดทำสะพานไม้ สำหรับให้ประชาชนและผู้ที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดเดินชมสวนธรรมชาติ จัดทำรั้วรอบสวนหย่อมโดยใช้ไม้ไผ่จากสวนไม้ไผ่ภายในวัด ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุขเวชชวนารมย์ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 2 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา 2.สวนวัดแจงร้อน พื้นที่ 4 ไร่ 1 งาน 119 ตารางวา 3.สวนซอยราษฎร์บูรณะ 1 พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา 4.สวนหน้าคอนโดแชปเตอร์วัน ซอยราษฎร์บูรณะ 33 พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 34.20 ตารางวา และ 5.สวนสุขิโต บริเวณวัดแจงร้อน ซอยราษฎร์บูรณะ 37 พื้นที่ 1 ไร่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหมู่ 7 ราษฎร์บูรณะ พื้นที่ 30 ไร่ มีประชากร 1,600 คน บ้านเรือน 321 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะนำไปทำน้ำหมักชีวภาพแจกจ่ายลูกบ้าน แต่ละครัวเรือนนำไปหมักเป็นปุ๋ยหมักโดยใช้ถังหมักขยะ นอกจากนี้จะมีเกษตรกรมารับเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล แต่ละบ้านจะคัดแยก นำไปจำหน่ายเป็นรายได้ของครัวเรือน 3.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 4.ขยะอันตราย มีถังแยกประเภทสำหรับทิ้งขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บทุกเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 35 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 30 ตัน/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 2 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 0.3 ตัน/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 4.5 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 0.5 ตัน/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.1 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจนวุฒิศิษฎ์ ซอยสุขสวัสดิ์ 20 ซึ่งประกอบกิจการผลิตลูกอม ลูกกวาด มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) โดยใช้น้ำมันเตา (เกรดเอ) เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทการต่อ ประกอบ เคาะ ปะผุ พ่นสี หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ 5 แห่ง ประเภทสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 9 แห่ง ประเภทหลอมหรือหล่อโลหะ 4 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในการนี้มี นายดลจิตร์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราษฎร์บูรณะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200