Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567

สถานพยาบาล กทม. ให้บริการด้านจิตเวช พัฒนาระบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง 
 
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัด กทม. ว่า สนพ. ได้หารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้บริการ Teleconsult กับจิตแพทย์ในสถานพยาบาลอื่น ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสังกัดอื่น โดยนักจิตวิทยาและจิตวิทยาคลินิกที่มีอยู่จะเป็นผู้พูดคุยและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ก่อนการพบจิตแพทย์ ขณะเดียวกันจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Sati (สติ) และ DMIND ซึ่งจะรวมถึงกลุ่มอาการซึมเศร้าและโรคเครียด ปัจจุบันมีผู้รับบริการกว่า 1.8 แสนคน ผู้ป่วยบางคนสามารถรับการบำบัดเบื้องต้นได้ หากพบว่า ผู้ป่วยมีอาการในระดับเหลือง หรือแดง จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. จะขยายการให้บริการ ถึงแม้จะไม่สามารถขยาย Ward ได้โดยเร็ว แต่จะกั้นเป็นสัดส่วน เพื่อรองรับผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น รวมถึงการรับผู้ป่วยยาเสพติดด้วย อีกทั้งจะจ้างแพทย์ห้วงเวลา เพื่อประจำในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ที่มีบริการคลินิกจิตเวช มีจำนวน 9 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนคราภิบาล (โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร) โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน มีจิตแพทย์ 12 คน นักจิตวิทยา 15 คน ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล รวมถึงเมื่อพบผู้มีอาการทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน หรือผู้เสพยาเสพติดแล้วไม่สามารถส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัด กทม. อาจทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม กทม. ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของประชาชน จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น โดยจัดบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตแก่ประชาชนที่โรงพยาบาลของสำนักการแพทย์ กทม. และที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. สำนักอนามัย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่พร้อมจะเผชิญปัญหาในการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเจ็บป่วยทั้งทางกายและจิตใจ และไม่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีรุนแรง สำหรับบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตที่ กทม. จัดให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย (1) บริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง (2) เปิดให้บริการคลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง 


ส่วนการให้บริการด้านจิตเวชของสำนักอนามัย กทม. ได้ตรวจประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ในวันและเวลาราชการ กรณีประเมินแล้วพบอาการรุนแรง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จะนัดหมายเข้าคลินิกจิตเวชให้บริการตรวจรักษาจ่ายยาและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจิตแพทย์ หรือส่งต่อโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชต่อไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเชิงป้องกัน สำนักอนามัย โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเฝ้าระวังประชาชนที่มีอาการซึมเศร้า โดยแจ้งผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อประเมินสุขภาพจิตและให้การช่วยเหลือ และพัฒนาระบบการประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองผ่าน QR code ซึ่งประชาชนจะทราบผลการประเมินและสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ พร้อมทั้งออกให้บริการหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อดูแลสุขภาพเชิงรุกในชุมชนและสถานประกอบการที่แจ้งเข้ามา รวมถึงให้ความรู้การประเมินโรคซึมเศร้า ให้คำปรึกษา ติดตามดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง และส่งต่อหากอาการไม่ดีขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าในอัตราที่พอเหมาะ พักผ่อนให้พอเพียง เลี่ยงพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่ทำงานให้สะอาดน่าอยู่ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางใจและทางกาย เป็นต้น

 

 

กทม. กำหนดระยะถอยร่นอาคารในซอยอำนวยผล พร้อมรับฟังความคิดเห็น
 
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวกรณีผู้พักอาศัยในซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 แยกอำนวยผล 1-8 (คลองล่าง) แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย ร้องเรียนเกรงจะได้รับผลกระทบจากโครงการขยายถนนว่า สวพ. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งตามแผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง กำหนดให้มีถนนสายรอง ได้แก่ ถนนสาย ก ขนาดเขตทาง 12 เมตร โดยบริเวณชุมชนอำนวยผล เขตบางกอกน้อย จะมีถนนโครงการที่เกี่ยวข้อง คือ ถนนสาย ก19 (จากถนนบางขุนนนท์ 29 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 แยก 6) และถนนสาย ก21 (จากถนนแก้วเงินทอง ตามซอยอำนวยผล 8 จนบรรจบซอยอำนวยผล 1) 

        ทั้งนี้ การกำหนดถนนโครงการดังกล่าวได้พิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่มีต่อประชาชนในชุมชน เปรียบเทียบกับความเป็นไปได้และผลกระทบที่มีต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวสายทางของถนน โดยใช้วิธีการกำหนดระยะถอยร่นของอาคาร (set back) สำหรับอาคารที่จะมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ซอยดังกล่าวมีความสะดวกต่อการสัญจรและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ลดสภาพความแออัดโดยการมีพื้นที่โล่งในแนวเส้นทางสัญจรที่เพิ่มขึ้นต่อไป ไม่ได้มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้เกิดอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นรายเขตในเขตบางกอกน้อยเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 67 ณ สำนักงานเขตบางกอกน้อย ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดแนวถนนดังกล่าว เนื่องจากมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่ง สวพ. จะรับข้อคิดเห็นของประชาชนเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณายกเลิกแนวถนนดังกล่าวออกจากร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ต่อไป

 

 

เขตทวีวัฒนาประสานวัดย่านพุทธมณฑล สาย 3 – สน. พื้นที่เฝ้าระวังการใช้เสียงจากการจัดงาน

นางกฤติมา นิ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา กทม. กล่าวกรณีประชาชนที่พักอาศัยใกล้วัดย่านพุทธมณฑล สาย 3 ร้องเรียนมีผู้มาจัดงานบวช ยิงปืนขึ้นฟ้าและเปิดเพลงเสียงดังว่า จากการประสานกับวัดได้รับแจ้งว่า ส่วนใหญ่วัดจะมีการจัดงานบวชนาคในวันอาทิตย์ ช่วงเวลาประมาณ 08.00 น. โดยการแห่นาครอบพระอุโบสถจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เฉลี่ยอัตราการบวช สัปดาห์ละครั้ง หรือ 4 ครั้ง/เดือน ไม่เกินเดือนละ 5 – 6 ครั้ง โดยทางวัดได้ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าภาพงดเสียง หรือการใช้เสียงให้เบาลง ส่วนกรณีที่มีเสียงดังตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ เป็นเสียงจากการจุดพลุที่เจ้าภาพจัดมา ซึ่งทางวัดได้ประชาสัมพันธ์ห้ามจุดพลุและประทัดที่อาจก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อยู่อาศัยในบริเวณข้างเคียง โดยจะจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้จัดงานทราบ รวมทั้งได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ควบคุมการใช้เสียงดังกล่าว

ส่วนการดำเนินการของสำนักงานเขตฯ เมื่อได้รับแจ้งเหตุเดือดร้อนรำคาญ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ทุกครั้งที่มีการร้องเรียน โดยได้สอบถามประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงประมาณ 10 หลังคาเรือน ซึ่งระบุไม่ได้รับความเดือดร้อน ยกเว้นบ้านผู้ร้อง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณหลังที่สองและแจ้งว่า มีเด็กเล็ก อีกทั้งได้ขอให้เจ้าอาวาสกำชับประชาชนที่มาขอใช้สถานที่ให้มีมาตรการป้องกันเสียงตลอดพิธีการและประสานสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ เพื่อป้องปรามด้วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ การขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียงตามพระราชบัญญัติควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 การดำเนินการทางพระพุทธศาสนาได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งหากได้รับแจ้งว่า วัดจะมีงาน สำนักงานเขตฯ จะประสานวัดและสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

 

 

เขตบางเขนเข้มตรวจสอบสถานบันเทิงถนนลาดปลาเค้าประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต

นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองเข้าตรวจสอบสถานบันเทิงแอบแฝงและผิดกฎหมายว่า สำนักงานเขตบางเขน โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารเลขที่ 68/2 ถนนลาดปลาเค้า ซึ่งเปิดเป็นร้านคาราโอเกะ ขณะตรวจสอบไม่พบผู้ใดพักอาศัยอยู่ในร้าน จึงได้สอบถามบุคคลที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับแจ้งว่า เมื่อคืนวันที่ 13 มิ.ย. 67 ได้มีเจ้าหน้าที่บุกเข้าจับการค้าประเวณีและเจ้าของร้านถูกควบคุมตัวไปสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางเขนแล้ว ซึ่งร้านดังกล่าวประกอบกิจการประเภทการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารและคาราโอเกะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ 2535

ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบอะพาร์ตเมนต์ที่ห่างเข้าไปภายในซอยลาดปลาเค้า 75 ประมาณ 50 เมตร ซึ่งขณะตรวจสอบไม่พบผู้ดูแลและพบว่า อะพาร์ตเมนต์ดังกล่าวประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งกำชับให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้มงวดลงพื้นที่กวดขันตรวจสอบผู้ประกอบการสถานบันเทิงในพื้นที่ ทั้งอาคารสถานที่ตั้งมีการใช้งานผิดประเภท หรือต่อเติมดัดแปลงอาคารเปิดเป็นสถานบันเทิงโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายและเหตุเดือดร้อนรำคาญที่อาจเกิดขึ้นกับผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง

 


เขตคันนายาวกวดขันการตั้งวางสิ่งของบนผิวจราจรหน้าอาคารริมถนนสวนสยาม

นายนพ ชูสอน ผู้อำนวยการเขตคันนายาว กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนบ้านพักอาศัยริมถนนสวนสยามตั้งวางสิ่งของกีดขวางบนผิวจราจรว่า สำนักงานเขตคันนายาว ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจสอบกรณีดังกล่าว พบว่า เจ้าของอาคารและผู้ประกอบการค้าบริเวณถนนสวนสยามบางจุดได้ตั้งวางสิ่งของ เก้าอี้ และรถจักรยาน เพื่อกันพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์บริเวณผิวจราจรหน้าอาคารตนเอง จึงได้จัดเจ้าหน้าที่กวดขันและประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าและเจ้าของอาคารริมถนนสวนสยามไม่ให้นำสิ่งของ เก้าอี้ ตั้งวางบนผิวจราจร หรือจอดรถจักรยานหน้าอาคาร รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของถนนสวนสยามไม่ได้มีการตีเส้นเครื่องหมายจราจรห้ามจอด ประชาชนผู้สัญจรทั่วไปจึงสามารถนำรถยนต์มาจอดได้ แต่ต้องอยู่ในลักษณะที่ไม่กีดขวางทางสัญจร ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือประสานขอความร่วมมือสถานีตำรวจนครบาลบางชันพิจารณากวดขันพื้นที่บริเวณดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200