1 ก.ย.นี้ กทม.ปักธงเปิดให้บริการ ‘รถโดยสารบีอาร์ที’ สาทร-ราชพฤกษ์

“กทม.” จับมือ “บีทีเอสซี” ลงนามสัญญา หลังคว้าประมูลเดินรถ “รถโดยสารบีอาร์ที” เส้นทางสาทร-ราชพฤกษ์วงเงิน 478 ล้านบาท สัญญา 5 ปีเล็งเปิดให้บริการ 1 ก.ย.นี้พร้อมเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

กรุงเทพมหานครว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการจ้างเอกชนเดินรถ “รถโดยสารด่วนพิเศษ” (Bus Rapid Transit) หรือ บีอาร์ที ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนรองทางถนนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบหลักได้สะดวกมากขึ้น แต่ปัจจุบันได้สิ้นสุดสัญญาแล้ว ทำให้มีการเปิดประมูลจ้างเดินรถใหม่อีกครั้ง

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) เส้นทางสาทรราชพฤกษ์ นั้น หลังจากกทม.เปิดประมูลพบว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี ในกลุ่มบริษัทบีทีเอสชนะการประมูลเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยมีการลงนามสัญญาแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเอกชนจัดหารถโดยสาร ทั้งนี้ตามแผนจะเริ่มทดลองเดินรถบีอาร์ทีไฟฟ้าได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้และเปิดให้บริการเดินรถภายใน วันที่ 1 กันยายน 67 พร้อมเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 15 บาทตลอดสาย โดยแนวเส้นทางการเดินรถในครั้งนี้จะเพิ่มเส้นทางถนนสาธรถนนพระราม 4

“กทม.มีแนวคิดจะขยายการให้บริการเดินรถบริเวณถนนสาทรด้วย เนื่องจากเป็นย่านที่มีรถให้บริการสำนักงานต่างๆ ค่อนข้างมาก เบื้องต้นกทม.ได้ประสานร่วมกับกรมขนส่งทางบก (ขบ.), ตำรวจจราจร เพื่อดำเนินการ ทั้งนี้พบว่าบริเวณถนนสาทรมีรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการ จำนวน 12 สาย โดยกำหนดให้ช่องจราจรด้านซ้ายจะให้บริการเฉพาะรถโดยสารสาธารณะเท่านั้น นอกจากนี้จะเพิ่มพื้นที่การจราจรด้านซ้ายให้แก่มอเตอร์ไซด์ด้วย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้”

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากทม. ได้ประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 478,932,000 บาท พบว่าในวันดังกล่าวมีผู้เสนอราคา 2 ราย ได้แก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี ในกลุ่มบริษัทบีทีเอส และ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ปรากฏว่า บีทีเอสซี เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 465 ล้านบาทขณะที่บริษัท ไทย สมายล์ เสนอราคาวงเงิน 488 ล้านบาท

ทั้งนี้การจัดหารถใหม่ของบีทีเอสซีนั้นต้องเป็นรถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (อีวี) แบบมีประตู 2 ด้าน เพื่อให้สามารถเปิดรับส่งผู้โดยสารฝั่งทางเท้าได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 23 คัน โดยสัญญามีอายุ 5 ปี ระหว่างปี 2567-2572

สำหรับเส้นทางเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) มีระยะทางประมาณ 20 กม. เริ่มต้นเส้นทางจากสถานีช่องนนทรี บริเวณแยกสาทร-นราธิวาส ไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงแยกนราธิวาส-พระราม 3 เลี้ยวขวาไปตามถนนพระรามที่ 3 ข้ามสะพานพระรามที่ 3 ลงมาถนนรัชดาภิเษก-บุคคโล

ส่วนจุดสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีราชพฤกษ์ บริเวณถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนรัชดาภิเษก โดยมีสถานีโดยสารทั้งหมด 14 สถานี แบ่งเป็น 12 สถานีเดิม และก่อสร้าง 2 ป้ายรถโดยสารใหม่ ได้แก่ สถานีแยกจันทน์-นราธิวาสราชนครินทร์ และ สถานีแยกนราธิวาสราชนครินทร์-รัชดาภิเษก

ขณะที่เส้นทางที่ 2 ตั้งแต่แยกทางด่วนสาธุประดิษฐ์ ถึงแยกนราธิวาสราชนครินทร์รัชดาภิเษก ถึงสถานีสาทร เลี้ยวขวาไปตามถนนสาทร ถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี และเพิ่มเส้นทางไปสถานีพระราม 3 ในชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งเส้นทางส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี ไปตามถนนวิทยุถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สุขุมวิท) สถานีเพลินจิต โดยช่วงสถานีสาทร ถึงสถานีราชพฤกษ์ จะรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานี โดยใช้ประตูรถทางด้านขวา ส่วนช่วงถนนสาทรเป็นต้นไปจะหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่หยุดรถประจำทางตลอดแนวเส้นทาง โดยใช้ประตูรถทางด้านซ้าย

นอกจากนี้การให้บริการรถโดยสารบีอาร์ทีนั้นจะให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. ความถี่ในการให้บริการไม่เกินกว่า 15 นาทีต่อคัน โดยช่วงเวลาเร่งด่วนไม่เกินกว่า 10 นาทีต่อคัน ช่วงนอกเวลาเร่งด่วนไม่เกินกว่า 15 นาทีต่อคัน โดยต้องเชื่อมต่อระบบ GPS แสดงตำแหน่งผ่านแอปพลิเคชันที่กรุงเทพมหานครกำหนด

 



ที่มา:  นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 16 – 19 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200