เหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดศรีสมรัตน์ ตลาดขายสัตว์หลากหลายชนิดภายในพื้นที่ของตลาดนัดจตุจักรที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายให้กับร้านค้าขายสัตว์ 118 คูหา และอีกประมาณ 15 คูหาใกล้เคียง พื้นที่รวม 1,400 ตารางเมตร คาดว่ามีสัตว์ตายหลายพันตัว เบื้องต้นสันนิษฐานสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร
สัตว์เลี้ยงที่ตายในกองเพลิง นอกจากสุนัข แมว ยังมีปลาสวยงาม งูพันธุ์สวยงาม และสัตว์แปลกนำเข้าจากต่างประเทศชนิดต่างๆ ทั้งกระรอก เม่น เต่า กิ้งก่า แรคคูน จากสัตว์เลี้ยงน่ารักชวนให้หลงใหล กลายเป็นภาพซากสัตว์เกลื่อนสุดสะเทือนใจ ชวนเวทนาในชะตากรรมของสัตว์ในกรงที่หมดหนทางเอาชีวิตรอด
ในกรุงเทพฯ ยังมีแหล่งซื้อสัตว์เลี้ยงคู่ใจอีกมากมาย ทั้งตลาดนัดสนามหลวง 2 และตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี ที่ กทม.ดูแล รวมถึงสถานที่ซื้อสัตว์เลี้ยงของเอกชน เพราะเทรนด์เลี้ยงสัตว์เหมือนคนในครอบครัว เลี้ยงสัตว์แทนลูกมาแรงไม่มีตก ควันไฟจางเกิดประเด็นร้อนเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์และการจัดการตลาดค้าสัตว์เถื่อนที่เปิดกลางกรุง อีกทั้งมาตรฐานความปลอดภัย สุขอนามัยภายในตลาดที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมคนเมือง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการตลาดศรีสมรัตน์ โซนจำหน่ายปลากัดและสัตว์เลี้ยง เขตจตุจักร เป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งแยกกับตลาดนัดจตุจักรที่ กทม.เป็นผู้ดูแล ตลาดศรีสมรัตน์มีการค้าขายสัตว์มา 20 ปีแล้ว ต่อสัญญาใหม่ 4 ปีก่อน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แบบ อภ.2) ขอกับ กทม. พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ (ใบอนุญาตให้ทำการค้าหรือซากสัตว์ แบบ ร.10) ขอกับกรมปศุสัตว์ และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่ร้านค้าสัตว์ เพราะขาดความชัดเจนในข้อกฎหมาย นำมาสู่การทำหนังสือถามไปยังกรมอนามัยเรื่องกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อเดือน ธ.ค.ปี 66 ได้รับคำตอบกลับมาวันที่ 21 พ.ค.67 ว่ากิจการค้าสัตว์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชัดเจนว่าทั้งประเภทฟาร์ม ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ประเภทคาเฟ่สัตว์เลี้ยง และประเภทกิจการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับฝากสัตว์เลี้ยงชั่วคราว ต้องขออนุญาตทั้งหมด จึงสั่งการให้สำนักงานเขตลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินกิจการที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายตรวจประเมินเสร็จสิ้น 15 ก.ค.67 แต่มีเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์วันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมาก่อน
“ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักรในอนาคต ไม่ดีจริง ไม่ให้เปิดแล้ว ถ้าเปิดต้องเกิดประโยชน์ต่อคนและสัตว์ ให้ทุกชีวิตที่เสียไปสร้างการเปลี่ยนแปลง กทม.จะสำรวจกิจการในสนามหลวง 2 และตลาดจตุจักร 2 ดำเนินการให้ชัดเจน เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้จะต้องมีข้อกำหนดที่เข้มข้นกว่าโกดังเก็บของทั่วไป เพราะตลาดนัดสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งมีชีวิต กทม.จะเยียวยาตามเพดานที่ตั้งไว้จากเหตุอัคคีภัย โดยที่การรถไฟฯ ต้องรับรองเป็นผู้ค้าในตลาดจริง ตนเห็นว่าเจ้าของร้านต้องจัดทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองทรัพย์สิน จะบอกว่าวัวหายล้อมคอกก็ยอม แต่การตายครั้งนี้ต้องไม่เสียเปล่า จากนี้ทุกร้านขายสัตว์ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควบคู่จัดทำแผนที่ร้านค้าสัตว์ มี จนท.ตรวจตรา ประชาชนช่วยสอดส่อง รวมถึงใช้ทราฟฟี่ฟองดูแจ้งเรื่องร้องเรียนหากพบตลาดไม่ถูกสุขลักษณะ” ชัชชาติกล่าว
โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวว่า สมาคมได้เข้าไปสำรวจในพื้นที่ไฟไหม้จตุจักรร่วมกับภาครัฐ เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายสาธารณสุข, กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าเกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เกี่ยวกับการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุไฟไหม้ที่ตลาดนัดจตุจักร เหตุไฟฟ้าลัดวงจรที่สวนสัตว์พาต้า แต่ไม่มีสัตว์ตาย นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความหละหลวมของการบังคับใช้กฎหมาย อยากให้เหตุการณ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย ฝากผู้ว่าฯ ชัชชาติ แก้ปัญหาโซนสัตว์เลี้ยงในจตุจักร ตลาดนัดสัตว์เลี้ยงควรมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ กทม.เข้าไปตรวจสภาพร้านค้าสัตว์เลี้ยง เฝ้าระวัง รวมถึงต้องดูระบบไฟฟ้าที่ทุกร้านต้องติดตั้งให้ได้มาตรฐาน ระบบป้องกันภัยของร้านจากเหตุรอบด้าน เช่น กรณีเกิดเพลิงไหม้ควรติดตั้งอุปกรณ์ใดบ้าง ระยะเร่งด่วนเสนอให้ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ดับไฟ
“จากเหตุการณ์ไม่ใช่ดูแค่ซากปรักหักพัง แต่พบสัตว์ที่อยู่ในร้านอย่างถูกต้องตามสุขลักษณะและอนามัย ทั้งตลาดขายสัตว์เลี้ยง PET CAFE สปาสัตว์เลี้ยง ไม่มีใครสนใจสวัสดิภาพสัตว์และการค้าสัตว์ ภาครัฐเพิกเฉยกับกฎหมายที่ออกมาแล้ว อยากให้นึกถึงสภาพก่อนสัตว์จะตาย ความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทุรนทุรายแค่ไหน ถ้าไม่ตัดสินใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้จุดเสี่ยงต่างๆ เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้จะไม่เกิดประโยชน์” โรเจอร์กล่าว
เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยเชื่อว่าผู้ค้าจตุจักรไม่เจตนาให้เกิดเหตุการณ์นี้ อดีตอาจจะคัดค้านการจัดการตลาดให้ได้มาตรฐาน แต่วันนี้เห็นแล้วการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามกฎหมายมีผลต่อสวัสดิภาพสัตว์ และมีผลกระทบต่อผู้ค้าที่สูญเสียสัตว์มีค่าที่ตายคากรง มูลค่ามหาศาล สำหรับสัตว์ EXOTIC ที่พบจำนวนมาก กรมอุทยานฯ ต้องตรวจสอบมีใบอนุญาตนำเข้าและเพาะเลี้ยงของกรมอุทยานฯ หรือไม่
จุดอ่อนของตลาดนัดสัตว์เลี้ยงในกรุงที่มีมากมาย ฎายิน เพชรรัตน์ มูลนิธิ SOS Animal Thailand ย้ำว่า ถึงเวลาที่ต้องจัดการด้านข้อมูลด้านการค้าสัตว์อย่างจริงจัง สำรวจใหม่ ทำโซนนิง และหาแนวทางดำเนินการร่วมกัน ไม่เฉพาะการค้าขายสัตว์เลี้ยงในพื้นที่จตุจักร แต่รวมตลาดนัดต่างๆ ต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้สัตว์มีสวัสดิภาพดีขึ้น ยังไม่พูดถึงตลาดออนไลน์ขายสัตว์เลี้ยงที่มีจำนวนมาก ฝากถึงกรมปศุสัตว์ ต้องทำความเข้าใจและตรวจสอบร้านค้าขออนุญาต และติดตามตรวจสอบเสมอ เหตุการณ์จตุจักรล่าสุดสะท้อนถึงรัฐไม่มีข้อมูลพื้นฐานของตลาด
ด้าน บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในการปรับปรุงกิจการให้มีความถูกต้อง และแจ้งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานที่และการดำเนินการต่างๆ ก่อนที่จะมีการอนุญาตประเภท ร.10 ส่วนการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ได้มีการจัดทำคู่มือสวัสดิภาพสัตว์แจกให้กับผู้ประกอบการในตลาดที่เกิดเหตุ และตลาดที่มีการขายสัตว์เลี้ยง การดำเนินการต่อไปจะร่วมกับทาง กทม. สำรวจผู้ประสงค์จะเข้าไปทำการค้าสัตว์ เพื่อที่จะเข้าไปตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาตประเภท ร.10 ให้
นอกจากเร่งล้อมคอกมาตรฐานตลาดขายสัตว์เลี้ยงแล้ว มีรายงานจาก กทม.ถึงผลการสำรวจกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) ใน กทม. พบจำนวน 233 แห่ง โดยมีการขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพียง 6 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 227 แห่ง ส่วนการขออนุญาตประเภท ร.10 มีใบอนุญาต 30 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 36 แห่ง ถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสะสางจัดการกิจการเหล่านี้ให้ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 2567