FB:ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
งบจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเป็นขนมหวานของคนโกงทั่วประเทศมานานนับสิบปี บทความนี้จะชี้ให้เห็นกลโกงในขั้นตอนต่างๆ ที่รู้กันดีในหมู่พ่อค้า ข้าราชการ รวมทั้งหน่วยตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. แต่ก็จับใครเข้าคุกได้ยาก เพราะคนในหน่วยงานนั้นเองร่วมวางแผน
วางสเปกให้แพงสุดกู่ เพื่อใต้โต๊ะก้อนโต..
วิธีที่ทำกันมากคือ กำหนดความต้องการใช้สินค้า ยี่ห้อและรุ่นที่แพงมาก เพราะการอ้างว่าสินค้ายี่ห้อดัง สเปกสูง รุ่นพิเศษ เทคโนโลยีใหม่ ใช้ชื่อรุ่นไม่ซ้ำของที่วางขายทั่วไป ทำให้ตั้งราคาแพงๆ ได้ง่าย เนื่องจากไม่มีราคาเก่าที่หน่วยงานรัฐเคยซื้อ กำหนดราคากลางที่เหมาะสมและหาคู่เปรียบเทียบทำได้ยาก
ที่ผ่านมามักกำหนดราคากลางโดยอ้างอิงราคาที่เคยซื้อในครั้งก่อนแล้วบวกราคาเพิ่มขึ้นไปอีก โดยอ้างว่าสินค้าขึ้นราคาหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงิน วิธีนี้ทำได้ตามกฎหมาย แต่เป็นวิธีมักง่ายของคนทำโครงการ และไม่สอดคล้องวิถีของธุรกิจและเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันรุนแรงตลอดเวลา
ผลลัพธ์ที่ประชาชนต้องทนเห็นคือ ศูนย์บริการสุขภาพของ กทม. เปิดบริการวันละ 8 ชั่วโมง แต่ซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงกว่าฟิตเนสเอกชนที่เปิดบริการ 12-24 ชั่วโมงซื้อใช้ 7-12 เท่า แพงกว่าของที่คนทั่วไปซื้อใช้ตามบ้านมากกว่า 10-20 เท่า แม้แต่ประชาชนที่ไปใช้บริการยังพูดว่า ของที่ซื้อมานั้นแพงเหลือเชื่อ ไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป
ฮั้วไหม : ตอบเลยว่ามาก..
มีหลายพฤติกรรมที่ส่อว่าฮั้วประมูลตามเงื่อนไขที่ ป.ป.ท.ได้รวบรวมและเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เช่น มีผู้แข่งขันราคาน้อยกว่า 3 ราย สลับกันเป็นผู้ชนะประมูลด้วยราคาขายเท่ากับหรือใกล้เคียงราคากลางมาก ราคาคู่เทียบต่างกันเพียงนิดเดียว เขียนสเปกสินค้าให้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากเพื่อปิดทางให้มีคู่แข่งขันให้เหลือน้อยที่สุด
เช่น หน้าจอแสดงผลของเครื่องต้องเป็นทั้งจอได้ทีวีด้วย ระบบเสียง ฟังก์ชันและระบบเซ็นเซอร์สำหรับผู้ใช้เครื่องเล่น ทั้งที่หลายอย่างอาจไม่จำเป็นเลย
มีการเปิดเผยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้บริหารของบริษัท 1 ใน 2 รายที่ขายให้ กทม. มีนามสกุลเดียวกับข้าราชการระดับสูงในสำนักงบประมาณ กทม.
ตั้งชื่อโครงการให้สับสนเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับ..
ระบบ ACT Ai พบว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ กทม.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 7 โครงการ มูลค่ารวม 77 ล้านบาท อุปสรรคที่ทำให้ตรวจสอบได้ยากคือ การตั้งชื่อเรียกโครงการจัดซื้อแตกต่างกัน เช่น “เครื่องเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย” “เครื่องออกกำลังกาย” “ครุภัณฑ์เครื่องบริหารร่างกาย” “เครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง” เป็นต้น
แปรงบฯ-โยกงบประมาณ กับการจัดซื้อนอกแผนงาน..สิ่งที่พบในการจัดซื้อครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นเสมอทั้งระดับชาติและท้องถิ่นคือ เป็นการจัดซื้อนอกแผนงานปกติ โดยแปรงบฯ หรือโยกงบประมาณตามนโยบายผู้บริหาร หรือข้อเสนอของสมาชิกสภา กทม. ทำให้เวลากระชั้นชิดต้องเร่งรีบดำเนินการโดยไม่มีรายละเอียดและการศึกษาดีพอ
เหตุการณ์เช่นนี้บางกรณีเป็นเรื่องเหมาะสม แต่ส่วนมากเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนวางแผนคอร์รัปชัน
ใครบ้างต้องรับผิดชอบ..
1.ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดซื้อ เช่น ผู้อนุมัติการจัดซื้อ คณะกรรมการจัดซื้อ และ คกก.อื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) คนกลุ่มนี้มักถูกดำเนินคดีหากพบการทุจริตหรือเกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน
2.ผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน ผู้บริหาร กทม. ทั้งที่เป็นข้าราชการระดับสูงและนัก การเมือง
3.สภา กทม. ผู้พิจารณาอนุมัติงบประ มาณ
บทสรุป..
มีคำพูดที่สะท้อนทัศนคติ (Mindset) เจ้าขุนมูลนายแบบข้าราชการยุคเก่า โดยผู้อำนวยการท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์หลังจบการแถลงข่าวของผู้ว่าฯ กทม. ทำนองว่า “หากเอกชนรายใดสามารถทำตามเงื่อน ไขหลังการขายของ กทม.ได้ ก็ให้มาเสนอราคา”
ซึ่งใครๆ ก็รู้ดีว่า ในการซื้อของฟิตเนสเอกชนก็กำหนดเงื่อนไขเหล่านี้เช่นกัน แม้ไม่มากเท่า แต่สำหรับราชการแล้วอาจอะลุ่มอล่วยหรือจุกจิกเข้มงวดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้มีอำนาจ และขึ้นอยู่กับว่าเอกชนผู้ได้งานนั้นเป็นใคร
คำพูดของผู้อำนวยการท่านนี้จึงไม่ต่างกับข้อแก้ตัวหรือ “การข่มขู่” คนนอกวงมากกว่า
ยุคนี้การจัดซื้อให้คุ้มค่าต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้สอย หากต้องการสินค้าและราคาที่เหมาะสม กทม.ต้องทบทวนเงื่อนไขทั้งปวงให้ชัดเจน โปร่งใส ได้มาตรฐานที่ปฏิบัติกันในท้องตลาด เพื่อดึงดูดเอกชนให้เข้ามาร่วมแข่งขันเสนอราคา
สำหรับการป้องกันคอร์รัปชันสิ่งสำคัญคือ ข้อมูลต้องถูกเปิดเผยให้สาธารณชนตรวจสอบเอาผิดย้อนหลังได้ทุกเมื่อ.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 มิ.ย. 2567