(12 มิ.ย.67) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมพัฒนาโจทย์การสร้างเมืองแห่งสร้างการเรียนรู้ เขตพระนคร โดยมีนายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผู้นำชุมชนย่านพระนคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานการต่างประเทศ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร
การประชุมวันนี้เป็นการหารือเพื่อพิจารณาการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจสังคมในระดับพื้นที่ ด้วยการใช้พื้นที่เขตพระนครเป็นต้นแบบในการพัฒนาย่าน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นด้วยความรู้และนวัตกรรม
ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยจะกำหนดรูปแบบและแนวทางพัฒนาพื้นที่เขตพระนครด้วยการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้เขตพระนคร โดยใช้ระยะเวลาดำเนินชุดโครงการวิจัย 1 ปี ตั้งเป้าหมายที่ให้ความสำคัญ ประกอบด้วย 1. เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่สามารถยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย (Thailand Learning City) ตามบริบทของพื้นที่ที่นำไปสู่เมืองที่น่าอยู่และชาญฉลาด และสอดคล้องกับแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของ ยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities -GNLC) 2. เกิดระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเมืองสำหรับคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนในเมือง 3. เกิดโครงการหรือกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมที่ตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งทำให้กลุ่มคนสามารถเข้าถึงโอกาสของการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ (Accessible and Affordable) โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ประกอบการ รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ที่ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโต 4. เกิดนักจัดการการเรียนรู้ในเมือง (City Learning Administrator) ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเมือง เช่น การยกระดับการทำงานอย่างยั่งยืนในรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
#สังคมดี #เศรษฐกิจดี
————–