Flag
Search
Close this search box.
กทม. เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียน ชวน “ผจญภัยในห้วงอวกาศ” ในเทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อยปี 67 

 

 

(11 มิ.ย. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัว “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2567” ภายใต้หัวข้อ “การผจญภัยในห้วงอวกาศ” ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 5 เดอะ สตรีท รัชดา เขตดินแดง

 

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า นโยบายสำคัญของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มี 2 เรื่องใหญ่ คือ การศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งการศึกษามีความสำคัญ เนื่องจากเมืองจะดีได้ คนที่อยู่ในเมืองต้องดีด้วย หัวใจของการทำการศึกษาที่ดีเพื่อพัฒนาเมือง คือ ต้องทำให้ลูกดีกว่าพ่อแม่ให้ได้ อาทิ การศึกษา การประกอบอาชีพ สภาพแวดล้อม

 

สิ่งที่ กทม. จะทำคือทำให้โรงเรียนสังกัด กทม. เป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียนให้ได้ เพื่อให้เด็กหลุดจากเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้เด็กอยู่ในสังคมที่ดีได้ โดย กทม. ได้ขยายช่วงอายุของการรับเด็กเข้าเรียนเร็วขึ้น จากอายุ 4 ปี เป็น 3 ปี ส่วนศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เดิมรับเด็กตั้งแต่ 2 ปี เป็น 1.5 ปี เพื่อให้เด็กเข้าสู่หลักสูตรการศึกษาให้เร็วที่สุด นอกจากนี้จะขยายเวลาการสอนของโรงเรียนให้มากขึ้นในตอนเย็น ด้วย After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน และโรงเรียนวันเสาร์ Saturday School ทั้งนี้ กทม. ต้องดูแลเด็กปฐมวัยอายุก่อน 7 ปี เป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงสำคัญของพัฒนาการเด็ก ด้วยหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะทั้ง 5 ด้าน 

 

โครงการ “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ที่กรุงเทพมหานครพร้อมสนับสนุน ที่ผ่านมามีโรงเรียนจากหลายสังกัดเข้าร่วมโครงการนี้ รวมถึงโรงเรียนในสังกัดของ กทม. เองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและเข้าร่วมโครงการนี้มามากกว่า 10 ปี ทั้งยังมีการขยายผลที่ดีภายในโรงเรียนอีกด้วย 

 

ในฐานะตัวแทนกรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดีและดีใจแทนเด็ก ๆ ที่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มาผนึกกำลังร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สนุกสนานให้กับเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัยที่เปรียบเสมือนเป็นวัยที่กําลังเจริญเติบโต สร้างโอกาสในการเกิดการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเพียงการเรียนรู้ตามหลักสูตรของโรงเรียน และทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นอกห้องเรียน ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นฐานรากให้เด็กเกิดกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผล ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีนำไปสู่การเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการเรียนในห้องเรียนได้ต่อไปในอนาคต โอกาสนี้ ขอเชิญชวนเด็ก ๆ ร่วมผจญภัยในห้วงอวกาศ ในเทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อยปี 67 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 67

 

 

ทั้งนี้ “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” ประเทศไทย ดำเนินการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักถึงปัญหาของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กไทยที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ทำการศึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศเยอรมนี จากมูลนิธิ “Haus der Kleinen Forscher” ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดําริให้คณะกรรมการพิจารณาริเริ่มการนําโครงการดังกล่าวมานำร่องเป็นต้นแบบในประเทศไทย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ปัจจุบันดำเนินโครงการเป็นปีที่ 13 โดยได้ขยายผลกว่า 39,835 โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ผ่านผู้นําเครือข่ายท้องถิ่น 456 แห่ง โดยมีกิจกรรมอบรมครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และทำกิจกรรมสู่กลุ่มครอบครัว 

 

“เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย” ปีนี้จัดขึ้นทั้งหมด 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางและภาคใต้ ในหัวข้อ “การผจญภัยในห้วงอวกาศ” โดยภาคกลางจัดขึ้นที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ เดอะ สตรีท รัชดา และภาคใต้จัดที่จังหวัดสงขลา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา โดยปีนี้ได้พัฒนาคู่มือ “การผจญภัยในห้วงอวกาศ” เพื่อสร้างทักษะการสังเกต การจําแนกกลุ่มดาวบนท้องฟ้า การประดิษฐ์แผนที่ดาวแบบง่าย ตลอดจนปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนท้องฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานกิจกรรม ประกอบด้วย ฐานที่ 1 ค้นหากลุ่มดาวบนท้องฟ้า : ต่อยอดจินตนาการด้วยการประดิษฐ์แผนที่ดาวด้วยตัวเอง ฐานที่ 2 สร้างระบบสุริยะด้วยมือเรา : ชวนเปรียบเทียบดาวเคราะห์กับโลกในระบบสุริยะของเรา ฐานที่ 3 เมื่อฉันไปเยือนดาวอังคาร : เรียนรู้เกี่ยวกับดาวอังคารและจินตนาการถึงสิ่งที่มีอยู่บนดาวดวงนั้น และฐานที่ 4 ส่งสารไปต่างดาว : ชวนเด็ก ๆ บอกเล่าความพิเศษส่งออกไปในอวกาศ โดยคณะโรงเรียนและครูที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดคู่มือเพี่อทำกิจกรรมพิเศษของ “วันนักวิทยาศาสตร์น้อย” ได้ที่ เว็บไซต์ www.littlescientistshouse.com และร่วมกิจกรรมในงานได้ถึง 31 ส.ค. 67 

 

การแถลงข่าวเปิดตัวโครงการในวันนี้ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นายทรงศร กัลยา ณ สุนทร รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.สุพรรณี ชาญประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผศ.ดร.สุวรรณ พลายพิชิต ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศและกิจการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะกรรมการโครงการฯ ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียนจากโรงเรียนในโครงการ ผู้สนับสนุนโครงการ ร่วมงาน

 

#เรียนดี

 


———————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200