ชาวหมอชิตเก่าลุยค้าน ต่อเวนคืนทำทางยกระดับ

พรฎ.หมดอายุ22ส.ค. ‘สุริยะ’ยันไม่สร้างแน่

ชาวบ้านชุมชนหมอชิตเก่า บุกศาลา กทม.-กรมธนารักษ์ ยื่นหนังสือถึง “ชัชชาติ-รมว.คลัง-กรมธนารักษ์” ค้านการต่ออายุ พ.ร.ฎ.กำหนดแนวเวนคืนที่ดินสร้างทางยกระดับเชื่อมถนนพหลฯ-วิภาฯ หลังใกล้หมดอายุ 22 ส.ค.นี้ ชี้ไม่เกิดประโยชน์หนำซ้ำเอื้อเอกชน ขณะที่ ชัชชาติ-ธนา รักษ์ ขอเวลาตรวจสอบ ยันให้ความเป็นธรรม ด้าน เผ่าภูมิ ลงพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้อง ชี้ต้องดูความเหมาะสม-คุ้มค่า เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาทาง ออก “สุริยะ” ระบุชัดไม่ย้าย “หมอชิต 2” กลับที่เดิม ปัดไม่เกี่ยวปมธนารักษ์เวนคืนพื้นที่ จ่อร่วมวงเจรจากับ ก.คลัง ให้ชาวบ้านคลายกังวล

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า เขตพระนคร น.ส.วินินท์อร ปรีชาพินิจกุล พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านที่อยู่ในแนวเขตเวนคืนที่ดินและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาศัยใน ซอยวิภาวดี 5, ซอยพหลโยธิน 18 และซอยพหลโยธิน 18/1 แขวงจอมพล เขตจตุจักร รวมตัวมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. เรื่อง คัดค้านการต่ออายุกฤษฎีกากำหนดแนวเวนคืนที่ดินชุมชนหลังหมอชิตเก่า โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางมารับหนังสือด้วยตนเองพร้อมสอบถามความเดือดร้อนของชาวบ้านหากมีการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว

น.ส.วินินท์อร กล่าวว่า ทางตัวแทนชาวชุมชนหมอชิตเก่า และผู้ที่ได้รับผลกระทบยืนยันไม่ประสงค์เวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพ มหานคร พ.ศ 2563 ฉบับลงวันที่ 20 ส.ค. 2563 โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ให้มีผลใช้บังคับได้ มีกำหนด 4 ปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ทางอธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้นยืนยันต่อชาวบ้านว่าจะไม่มีการเวนคืนที่ดินตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าว เพื่อสร้างทางยกระดับเชื่อมทางเข้าออกไปยังถนนวิภาวดีรังสิตแน่นอน รวมทั้งมีผลการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะให้ยกเลิกการออกพ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินบริเวณพื้นที่โดยรอบเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

นับตั้งแต่วันที่พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถขาย หรือให้เช่าบ้านและที่ดินของตนเองได้ ซึ่งพ.ร.ฎ.ดังกล่าวจะครบกำหนดมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 ส.ค.นี้ และทราบว่ามีความพยายามต่ออายุออกไปเพื่อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ประสงค์สร้างทางยกระดับ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินตามพ.ร.ฎ.อีกต่อไป อย่างไรก็ตามการที่มีความพยายามขอต่ออายุออกไปอีกนั้น อาจจะเป็นการหาช่องทาง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวยืดเยื้อมากว่า 30 ปี จึงเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกพ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว และไม่ให้มีการต่ออายุออกไปเมื่อครบกำหนด

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าการเวนคืนถนนจะไปเชื่อมต่อกับสถานีหมอชิตใหม่ที่จะย้ายขนส่งมา จากนี้ขอดูแนวคิดของทางกระทรวงคมนาคมก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ได้ทำแล้วส่วนนี้ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร อย่างไรก็ตามคงต้องไปดูว่าสุดท้ายแล้วกระทรวงคมนาคม มองอย่างไรบริเวณต้นทาง ทั้งนี้รูปแบบการเดินทางก็เปลี่ยนไปคงต้องมาดูกันอีกครั้งว่า รูปแบบที่เคยคิดไว้เดิมยังคงเป็นประโยชน์กับปัจจุบันหรือไม่ที่จะเอารถบขส. ต่อเข้ามาตรงจุดนี้ เพราะสถานีก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป สถานีรถไฟความเร็วสูงก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป ดังนั้นจุดนี้จึงอาจจะไม่เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งมวลชนอื่น ถ้าตามมุมมองแล้วสถานีบขส.ควรจะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูง ถึงจะดีเพราะมาจากต่างจังหวัดก็จะเชื่อมต่อได้ จากนี้จะรับไปดูให้และให้ความยุติธรรมกับทุกคน เพราะขณะนี้ในส่วนของกทม.ก็ยังไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม และทางกรมธนารักษ์ก็ยังไม่ได้ติดต่อมาหารือข้อมูลใดเพิ่มเติม

ต่อมาน.ส.วินินท์อร และชาวบ้าน ได้ไปยื่นหนังสือถึง รมว.คลัง และอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อขอคัดค้านกรณีดังกล่าว โดยเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ พิจารณายกเลิกการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวทั้งหมด อีกทั้งขอให้พิจารณายกเลิกการสร้างทางยกระดับเชื่อมโครงการหมอชิต คอมเพล็กซ์ เพราะมองว่าการเอางบประมาณกว่า 2 พันล้านบาทมาสร้างทางยกระดับ เชื่อมเข้ากับโครงการหมอชิต คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นโครงการของเอกชนไม่มีความเหมาะสม และไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พร้อมยืนยันไม่ได้คัดค้านความเจริญ รวมถึงโครงการดังกล่าว แต่อยากให้พิจารณาดำเนินโครงการด้วยความเป็นธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน

ด้านนางวิสากร สุขช่วย ผอ.กองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องของชุมชนไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากหมอชิตคอมเพล็กซ์ และการเวนคืนที่ดินเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงต้องรับฟังเหตุผลให้รอบด้าน รวมถึงนำความเดือดร้อนของประชาชนเข้ามาพูดคุยด้วย

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้ลงพื้นที่ที่เป็นปัญหา พร้อมฟังปัญหาประชาชน โดยยอมรับว่า การพัฒนาโครงการในพื้นที่หมอชิตเก่า ที่เคยศึกษาไว้เมื่อ 30 ปีก่อน ถึงวันนี้อาจจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม จึงต้องมีการดูทุกมิติอย่างรอบคอบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความคุ้มค่า ปัญหาจราจร ตลอดจนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนจะยกเลิกการเวนคืนที่ดินไปเลยหรือไม่นั้นไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะต้องรอพิจารณาร่วมกันหลายฝ่ายให้ครบถ้วนก่อน

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวว่า จะไม่มีการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 กลับไปยังที่เดิม เนื่องจากได้พัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้วเสร็จ โดยมีแผนพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสาธารณะของอาเซียน เชื่อมต่อระบบรางกับขนส่งระบบอื่น ๆ อีกทั้งมีแผนจะย้ายหมอชิต 2 และสถานีขนส่งผู้โดยสารภาคตะวันออกกรุงเทพฯ (เอกมัย) มารวมกันที่นี่ สร้างเป็นตึกสูงแบ่งโซนภาคให้ชัดเจน ในส่วนการคัดค้านเวนคืนของชาวบ้าน ยังไม่ได้รับหนังสือร้องเรียน ซึ่งที่ดินดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ส่วนกรมธนารักษ์จะเวนคืนนำที่ดินไปทำอะไรนั้น ก็คงต้องหารือกัน เพราะชาวบ้านมีความกังวล โดยตนจะไปหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย.

 

บรรยายใต้ภาพ

คัดค้าน…ชาวบ้านที่อาศัยใน ซ.วิภาวดี 5 ซ.พหลโยธิน 18 และซ.พหลโยธิน 18/1 เขตจตุจักร ยื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คัดค้านการต่ออายุกฤษฎีกากำหนดแนวเวนคืนที่ดินชุมชนหลังหมอชิตเก่า

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200