ข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งได้รวบรวมข้อมูล งานวิจัย รวมถึงบทสัมภาษณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจในประเด็นเกี่ยวกับ ‘พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ระบุว่า
กทม. แบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง, สวนชุมชน, สวนถนน, สวนระดับเมือง, สวนระดับย่าน, สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก แต่ความหมายของคำว่าสวน หรือ ‘สวนสาธารณะ’ ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าไปใช้งานพื้นที่ได้ จะอยู่ในบางประเภทเท่านั้น เช่น สวนชุมชน, สวนหมู่บ้าน, สวนระดับย่าน และสวนระดับเขต
การแบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภทของ กทม. นั้นก็เพื่อจะนำมานับคำนวณ “พื้นที่สีเขียว” ทั้งหมดของ กทม. โดยรวมเอา “ทุกพื้นที่ที่มีสีเขียว” มาจัดประเภทให้เป็นสวนประเภทต่างๆ เช่น สวนถนนอาจหมายถึงเกาะกลางหรือริมถนนที่ปลูกต้นไม้ หรือการปลูกไม้ประดับไม้เลื้อยเป็นสวนแนวตั้งบนกำแพงรั้ว สวนหย่อมขนาดเล็กอาจหมายถึงสวนหน้าบ้านของใครสักคน สวนเฉพาะทางก็อาจหมายถึงพื้นที่สวนบนโรงแรมหรือคอนโดฯ หรือแม้กระทั่งสวนหมู่บ้านก็อาจหมายถึงสนามฟุตบอลในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง
ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกนำมานับรวมจนได้พื้นที่ สีเขียวในอัตราส่วน 7.49 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นตัวเลข ล่าสุดที่กำลังจะเข้าใกล้ 9 ตร.ม./คน ตามเกณฑ์แนะนำของ WHO
แต่ถึงอย่างนั้นในรายละเอียดของการรวบรวม “พื้นที่ที่มีสีเขียว” โดยแบ่งเป็นสวน 7 ประเภทของ กทม. ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจทั้งการนับรวมแบบเหมาพื้นที่ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่สีเขียว เช่น โรงเรียนบางแห่งที่นับรวมพื้นที่ทั้งโรงเรียนว่าเป็น ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ นั้นสูงกว่าความเป็นจริง เช่นเดียวกันกับการนับรวมพื้นที่เอกชนซึ่งเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ที่ทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากที่จริงๆ แล้วอาจจะต้องกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลงานของผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมด
มากไปกว่านั้นคือการนำเอาตัวเลขจำนวนรวมของสวนตามที่ กทม. นำเสนอ มาใช้รายงาน โดยไม่ได้พิจารณาถึงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงส่วนอื่นประกอบ ซึ่งอาจจะทำให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องได้ เช่น เมื่อกล่าวถึงเขตที่มีจำนวนสวนมากที่สุด
หากยึดตามข้อมูลของ กทม. ก็คือเขตพระโขนง แต่ในความเป็นจริงแล้วพระโขนงไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่เลยแม้แต่สวนเดียว โดยสวนในเขตพระโขนงที่ถูกนับจำนวนโดยสำนักงานสวนสาธารณะ กทม. จนทำให้เขตพระโขนงเป็นเขตที่มี “จำนวนสวน” มากที่สุดนั่นก็คือสวนหย่อมหน้าบ้าน
จำนวนสวนที่สำนักการสวนสาธารณะรายงานจึงเป็นเพียงการแบ่งประเภทพื้นที่ที่จะนำมารวมกันเป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจารณาว่าสวนหรือพื้นที่สีเขียวในแต่ละจุดที่ถูกนำมานับนั้นเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่แบบสวนสาธารณะหรือไม่ .
ที่มา: นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 10 มิ.ย. 2567