‘ชัชชาติ’นำทีมแจงซื้อลู่วิ่งกทม. ชี้ไม่โปร่งใสอื้อ-หนุนปชช.สอบ

‘ชัชชาติ’นำทีม กทม.เคลียร์ปมจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพง แจงตาข่ายป้องกันการทุจริต หนุนภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ เชื่อยังมีไม่โปร่งใสอีกมาก ‘ศานนท์’หวังใช้เอไอช่วยเช็ก รองปลัด กทม.ยันทำตามขั้นตอน กม.

‘ชัชชาติ’นำแจงจัดซื้อลู่วิ่งกทม.

กรณี เพจเฟซบุ๊ก ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า กทม.จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย เครื่องละ 4 แสน เครือข่าย STRONG ต้านทุจริตประเทศไทยพบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายส่อแพงจริงภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัด กทม. และ นายต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมพัฒนาเว็บไซต์ actai.co ร่วมแถลงข่าวชี้แจงงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีราคาสูงเกินจากราคาตลาด

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในองค์การต้องทำ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.ฝ่ายบริหารคือ ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ เลขา และรองเลขา 2.ฝ่ายราชการประจำ ลูกจ้างอีก 8 หมื่นคน และ 3.ฝ่ายสภา กทม. คอยตรวจสอบการทำงาน ทั้งสามฝ่ายนี้ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน ขบวนการหรือตาข่ายป้องกันการทุจริต ให้ทำเป็น “4+1” ขั้นตอน คือเริ่มจาก 1.เรื่องงบประมาณการทำโครงการต่างๆ ทำเป็นร่างข้อบัญญัติ เป็นนโยบายทำข้อมูลโครงการ ต้องเริ่มดูให้รอบคอบ

ตรวจสอบโครงการในเว็บได้

นายชัชชาติกล่าวว่า 2.เป็นการตรวจสอบของฝ่ายสภา กทม. ต้องให้โปร่งใส 3.การทำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.งบประมาณ ให้อยู่ตามกรอบ 4.การตรวจรับงานให้เข้มข้นขึ้น และอีกหนึ่งคือ การเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชน สามารถเข้าตรวจสอบโครงการของ กทม.ได้ในเว็บ actai.co ได้

“ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำงานอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายบริหารต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพิ่มความละเอียดต่อโครงการให้มากขึ้น ต้องชี้แจงตามขั้นตอน ตามกฎ ระเบียบ พ.ร.บ.” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง อย่างที่บอกว่า เราต้องยอมรับว่าความไม่โปร่งใสเป็นเรื่องใหญ่ของทุกองค์กร ตนจึงต้องเข้ามาดูแลและรับผิดชอบอยู่แล้ว และขยายผลว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ไม่ได้แค่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่สามฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน จุดที่ต้องปรับปรุงแน่นอนคือการเสนอโครงการ ต้องใช้ความรอบคอบเพิ่มขึ้น การตรวจสอบของฝ่ายสภาต้องเข้มข้นขึ้น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคตต้องปรับปรุงเพิ่มเติม

ยังมีความไม่โปร่งใสอีกมาก

“ผิด ก็ยืนยันว่าผิด ขบวนการในการตรวจสอบราคากลาง คงต้องให้เข้มงวดขึ้น สามารถให้สังคมตรวจสอบได้ ขบวนการต่างๆ ต้องตามกฎหมายอย่างชัดเจน ของฝ่ายบริหารเองก็ไม่มีนโยบายไปก้าวก่ายฝ่ายอื่น หรือคณะกรรมการราคากลางอยู่แล้ว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบและให้ประโยชน์ต่อประชาชนกับราชการ ของเราเองก็มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ก็จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า คือการปรับราคา อาจจะเอาราคาเก่า ก่อนตนจะเข้ามาทำงาน เอามาเป็นฐาน แต่ต่อไปจะปรับปรุงทั้งระบบ เชื่อว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่เรื่องนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกรอการแก้ไข

“พูดตรงๆ ผมคิดว่ายังมีความไม่โปร่งใสอีกมาก แต่จะปรับปรุงให้ได้แน่นอน เชื่อว่าประชาชนคือพลัง ยินดีเปิดเผยให้ตรวจสอบแก้ผ้าทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเก่าๆ หรือผู้ว่าฯคนก่อนหน้านี้ อันนี้เป็นโครงการใหม่เพิ่มเข้าไป เพื่อเติมเต็มงบประมาณให้เห็นว่ามีประโยชน์” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า ปัญหามีมานานมากแล้ว เหมือนช้างในห้อง ที่ฝังรากลึก แต่ราคาต้องเป็นไปตามคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ตามกฎหมายกำหนด และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบตั้งแต่ 2 เดือนก่อน เราเอาจริงเอาจัง ไม่ยอมรับต่อกับการทำผิด ข้อมูลออกมาประชาชนรับไม่ได้ เพราะราคาเกินไป อธิบายไม่ได้ ต้องมีผู้รับผิดชอบ

‘ศานนท์’หวังใช้เอไอตรวจ

นายศานนท์กล่าวว่า การมีตาอยู่ไม่กี่ตา อาจทำให้การตรวจสอบไม่ละเอียดถี่ถ้วนเท่ากับการเพิ่มของประชาชนช่วยตรวจสอบ เรามี นโยบาย Open Bangkok ทำงานกับภาคประชาสังคม ในมิติเรื่อง Open Contracting ทำอย่างไรให้ทุกสัญญาที่มี เมื่อเข้าสภาแล้ว เราเปิดเผยข้อบัญญัติงบประมาณ เป็นส่วนแรกที่ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้ในเว็บไซต์ กทม. ว่ามีโครงการอะไรบ้าง สำนักไหนบ้าง ปี 2568 อยู่ในช่วงการจัดทำร่างข้อบัญญัติ ถ้าเสร็จแล้วจะเปิดเผยให้คนเข้ามาตรวจสอบได้ พอผ่านตัวร่างข้อบัญญัติเข้าสู่ขั้นตอน 3, 4 เอาทุกโครงการเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) กรมบัญชีกลาง ให้กรอกทุกโครงการ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ ให้ทุกโครงการสามารถตรวจสอบได้ มีการใช้ AI ตรวจว่าถ้าราคาผู้เสนอราคาอยู่ใกล้ราคากลางเกินไป ก็จะมีธงขึ้น ปกติ 3-4 เจ้า หรือราคาต่ำไป 40% เพื่อเอางานก่อน ก็จะมีธงแจ้งเตือน

“ทั้งหมดผมคิดว่าสิ่งที่เป็นหัวใจคือ การตรวจสอบของภาคประชาชน แล้วทำให้คนมีเจตนาไม่ดียากขึ้น” นายศานนท์กล่าว และว่า กทม.มีกระบวนการสอบเทียบราคา มีกระบวนการจัดทำ ร่างรายละเอียดขอบเขตของงานทั้งโครงการ (TOR) และประมูล สิ่งที่น่าสนใจใน Actai ถ้ากดเข้าไปในบริษัทที่ชนะ จะเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้สัญญามีตั้งแต่ปี 2565 เป็นปีที่เริ่มมาก่อนจะเข้ามากำหนดราคากลาง เสนอมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นราคาสูงพอสมควร ประมาณกว่า 6 แสนบาท ปี 2566 มีการจัดซื้อ และปี 2567 ได้ออกข่าวออกไป

‘ต่อภัสสร์’ให้ปชช.เข้าถึงข้อมูล

นายต่อภัสสร์กล่าวว่า ตนนั้นมาในฐานะภาคประชาชน ช่วยติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ กทม. ว่าการติดตามการทำงานของภาครัฐทำได้อย่างไร ประชาชาชนต้องทำอย่างไร

“สิ่งที่สำคัญคือประชาชนต้องมีข้อมูล ถ้าประชาชนมีข้อมูล เราจะรู้ว่าโครงการ ราคาแพงเกินไปหรือไม่ สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตหรือไม่ เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น กทม. ป.ป.ช. ปปท. และ สตง. สามารถทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายต่อภัสสร์กล่าว

นายต่อภัสสร์กล่าวว่า เว็บไซต์ actai สามารถหาข้อมูลได้เลย ข้อมูลเป็นทางการ เพราะเอามาจากระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) กรมบัญชีกลาง ดึงมาเชื่อมกับข้อมูลนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมดูผู้เสนอราคา ผู้ถือหุ้น หรือคณะบริษัท ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2558-2567 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 36 ล้านโครงการ โครงการที่ผ่านกรมบัญชีกลาง ระบบ e-GP งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท ทั้งหมดประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถส่งเรื่องไป กทม. ไปหน่วยงานร้องเรียน เพื่อตรวจสอบต่อได้

“ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือให้ประชาชน มีสิทธิสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะการแก้ไขปัญหาและป้องกันคอร์รัปชั่นที่ดีที่สุดคือประชาชน” ผศ.ดร.ต่อภัสสร์กล่าว

รองปลัดยันทำตามขั้นตอนกม.

นายสมบูรณ์กล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ได้ทำตามขั้นตอน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐครบถ้วน เป็นการจัดซื้อจัดจ้างวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว การกำหนดราคากลาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาเอง แต่ทำตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการกำหนดราคา ไปสืบราคาในท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย ต้องเป็นผู้ประกอบการในกิจการนั้นๆ คณะกรรมการได้สืบกับบริษัทที่มีกิจการขายเครื่องออกกำลังกาย เมื่อสืบราคาแล้วก็จะกำหนดราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง แล้วให้ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ เข้าสู่กระบวนการ e-bidding ต่อไป กรมบัญชีกลางเป็นผู้ประกาศ

“ผู้ประกอบการต้องเข้าสู่ระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง แต่ละหน่วยงานไม่มีสิทธิรู้ว่ามีใครจะประมูลบ้าง เราจะทราบได้เมื่อมีผู้ชนะการประมูลแล้วว่ามีกี่เจ้ากี่ราย ราคาประมูลเท่าไหร่ ต่อมาคณะกรรมการจะประกาศผู้รับจ้างให้เป็นไปตามกระบวนการ ถ้าไม่เกินราคากลางก็จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป” นายสมบูรณ์กล่าว

ยันผู้บังคับบัญชาสั่งไม่ได้

“ขอเชิญชวนให้เข้ามาประมูลกันเยอะๆ เลย กทม.ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปซื้อที่ราคาสามสี่แสน ถ้าซื้อสามหมื่นได้ก็ดี ซื้อแสนสองแสนได้ก็ยิ่งดี ถ้าเขายอมรับความเสี่ยงและเงื่อนไขตามสเปก โดยเครื่องออกกำลังกายของ สวท. 1 วัน ใช้งาน 8 ชั่วโมงต่อเนื่อง เมื่อเกิดการชำรุด ผู้รับจ้างต้องมาเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที ถ้าเปลี่ยนแล้วยังใช้ไม่ได้ ผู้รับจ้างต้องยกเครื่องเก่าออก ตามเงื่อนไขตามสัญญา แล้วนำเครื่องใหม่มาแทน เพราะ กทม.เปิดให้บริการประชาชนทุกวันไม่มีวันหยุด เครื่องออก กำลังกายทุกชิ้นยังอยู่ ให้บริการปกติ” นายสมบูรณ์กล่าว

เมื่อถามว่าคณะกรรมการมีการสืบราคาอย่างไร นายสมบูรณ์กล่าวว่า มีการสืบราคาจากบริษัทที่มีความมั่นคง มีมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการทิ้งงาน มีบริการหลังการขาย เชื่อมั่นได้ว่าสินค้าต้องมีคุณภาพ

เมื่อถามว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางมีใครบ้าง นายสมบูรณ์กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางจะมีการตั้งตามโครงการแต่ละชุด โครงการตามที่เป็นข่าวอำนาจผู้สั่งซื้อสั่งจ้าง อยู่ในระดับผู้อำนวยการกอง ตามวงเงินที่ผู้ว่าฯกทม.ให้อำนาจอนุมัติไว้ คณะกรรมการจะเป็นข้าราชการภายใน หรือหน่วยงานภายนอกเพื่อพิจารณา ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถสั่งให้ซื้อของบริษัทที่ถูกกำหนดไว้ ยกเว้นว่าเห็นควรปรับปรุงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อราชการ โดยเจตนาของกฎหมายไม่อยากให้บุคคลภายนอก ผู้บังคับบัญชา มาบงการ มาสั่งได้

“หากคณะกรรมการกำหนดราคากลางทำผิดขั้นตอน หรือมีการทุจริต ต้องมีการลงโทษอยู่แล้ว ตอนนี้ทาง สวท.ได้ชี้แจงกับ สตง. 1 โครงการแล้ว ส่วนโครงการที่เหลือจะมีการชี้แจงในเร็วๆ นี้ โดยนายชัชชาติก็ให้ทาง ศปท.กทม.ตรวจสอบอีกด้านหนึ่งด้วย” นายสมบูรณ์กล่าว

 

บรรยายใต้ภาพ

แจงซื้อแพง – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวชี้แจงงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีราคาสูงเกินจากราคาตลาด โดยระบุสั่งซื้อก่อนเข้ามาบริหาร ถ้าผิดก็ว่าไปตามผิด ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 7 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200